ขบวนการขนยางพาราเถื่อนข้ามชาติ เพื่อนำมาสวมเป็นผลผลิตขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล เบียดบังเกษตรกรตัวจริงที่สุจริตและยากลำบากจากปัญหาราคายางตกต่ำ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และมีปฏิบัติการกวาดล้างจับกุมในแบบ "จับจริง-เจ็บจริง-ยิงจริง"
เสียงปืนที่รัวดังริมฝั่งแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าขบวนการลักลอบขนยางพาราเถื่อนมีอยู่จริง แม้เหตุการณ์ในวันนั้นจะนำมาซึ่งความสูญเสีย มีคนไทยเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งยังไม่ชัดว่า เกิดจากปฏิบัติการที่ผิดพลาด กระทำการเกินกว่าเหตุหรือไม่ก็ตาม แต่ถัดจากนั้นอีกไม่กี่วัน คือวันที่ 19 มีนาคม เจ้าหน้าที่ก็สามารถตรวจยึดยางพาราเถื่อนได้ 2 ตัน
จุดเกิดเหตุเป็นท่าเรือสินค้าช่องทางธรรมชาติ เจ้าหน้าที่ตรวจพบรถกระบะยี่ห้อโตโยต้า สีดำ หมายเลขทะเบียน บฉ 1925 ระนอง จอดอยู่ มีคนกำลังขนยางพาราแผ่นจากเรือหางยาวขึ้นท้ายกระบะ เมื่อคนบนเรือหางยาวเห็นเจ้าหน้าที่กำลังเข้าตรวจสอบ คนขับเรือจึงติดเครื่องแล้วขับหลบหนี เหลือเพียงชายชาว อ.กระบุรี ที่เป็นคนขับรถ จึงควบคุมตัวเอาไว้
สอบถามได้ความว่ามารอรับยางพาราแผ่นจากปรเทศเมียนมาตั้งแต่เช้ามืด เพื่อเริ่มสว่างก็มีเรือหางยาวจากจังหวัดเกาะสอง ประเทศเมียนมา บรรทุกยางมาส่งตามที่ตกลงกัน แต่ยังไม่มีการจ่ายเงิน เพราะต้องนำไปขายก่อนจึงจะนำเงินมาจ่าย
การจำหน่ายยางพาราเถื่อน มีทั้งขายตรงให้กับผู้รับซื้อ และนำไปสวมสิทธิ์รับเงินช่วยจากภาครัฐ เพราะราคายางพาราในเมียนมาถูกกว่าไทยถึง 1 เท่าตัว ทำให้มีการหากินกับส่วนต่างราคา
เจ้าหน้าที่ที่เสี่ยงตายรับผิดชอบภารกิจนี้ คือ หน่วยปฏิบัติการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ ซึ่ง "ทีมข่าวอิศรา" ได้เกาะติดไปร่วมสังเกตการณ์ในปฏิบัติการครึ่งหนึ่ง ซึ่งทหารเรือ ต.232 และ ศร.ชล. ภาค 3 สนธิกำลังจับกุมขบวนการลักลอบขนยางพาราเถื่อน ยึดของกลางได้กว่า 2 ตัน มูลค่า 140,000 บาท
ช่องทางธรรมชาติระหว่างจังหวัดเกาะสอง ประเทศเมียนมา กับจังหวัดระนอง ประเทศไทย ระยะทางกว่า 160 กิโลเมตร โดยเฉพาะบริเวณริมตลิ่งบ้านหลุมพอยี ตำบลมาราง กิ่งอำเภอ เขม่าจี จังหวัดเกาะสอง ประเทศเมียนมา เขตติดต่อกับ ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ถูกใช้เป็นเส้นทางลักลอบขนยางพาราเถื่อนผิดกฎหมาย ที่กลุ่มขบวนการลักลอบนำข้ามมาขายในราคาถูก และถูกนำมาสวมสิทธิ์ประกันราคายางเพื่อรับเงินช่วยเหลือในฝั่งไทย
เจ้าหน้าที่กองทัพเรือจึงออกลาดตระเวนตรวจสอบพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำกระบุรี โดยแบ่งกำลังออกลาดตระเวนทั้งกลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จนพบจุดที่มีการเตรียมขนย้ายยางพาราจากฝั่งจังหวัดเกาะสอง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าติดตามรอให้กลุ่มขบวนการขนข้ามมายังฝั่งไทย ก่อนแสดงตัวเข้าจับกุม และสามารถควบคุมตัวเจ้าของยางพาราพร้อมคนขนยางรวม 4 คน ตรวจยึดยางพาราแปรรูปได้กว่า 2 ตัน มูลค่าหลักแสนบาท พร้อมรถกระบะที่ใช้ขนยางพาราแผ่น 1 คัน
จากนั้นเจ้าหน้าที่คุมตัวหนึ่งในผู้ต้องหาลงเรือเพื่อลาดตระเวนค้นหายางพาราเถื่อนที่อาจซุกซ่อนอยู่ริมตลิ่งเพิ่มเติม แต่พบว่ายางพาราที่เหลือถูกทยอยขนลงเรือหมดแล้ว และพบว่ามียางพารารอการขนย้ายอยู่ที่ฝั่งเกาะสองอีกจำนวนมาก
นายทนงค์ ปรีทอง อายุ 44 ปี ผู้ติดต่อขอซื้อยางพาราเถื่อนจนถูกจับกุม เล่าว่า ได้ติดต่อซื้อขายยางพารากับคนไทยที่ฝั่งเมียนมา ในราคากิโลกรัมละ 50 บาท เมื่อมีการโอนเงินกันเรียบร้อยแล้ว จึงว่าจ้างคนขนยางให้เข้ามาขนบริเวณจุดนัดหมาย เมื่อทางสะดวก ไร้การลาดตะเวนของเจ้าหน้าที่ ก็จะทำการขนทันที ซึ่งยาง 2 ตัน ล็อตนี้ใช้เวลาขนเพียง 20 นาทีเท่านั้น
สาเหตุที่ต้องขนยางยางพาราเถื่อนเข้ามาขายในไทย เป็นเพราะช่วงนี้ฝั่งไทยมีแต่ขี้ยางพารา เป็นฤดูที่ไม่มีผลผลิต จึงไม่มียางพาราแผ่นส่งขายให้กับนายทุน จึงจำเป็นต้องขนยางเถื่อนมาขายให้กับลูกค้าแทน
สอดคล้องกับข้อมูลจาก ว่าที่เรือเอกวงศกร กือเย็น ผู้ควบคุมเรือ ต.232 ที่บอกว่า กองยางพาราที่ผลิตและแปรรูปจากฝั่งเมียนมาจะถูกนำข้ามมาขายยังฝั่งไทยแบบผิดกฎหมาย ซึ่งกลุ่มขบวนการจะนำยางมาวางกองไว้ตามช่องทางธรรมชาติ ริมพรมแดนติดต่อของสองประเทศ เมื่อทางสะดวก กลุ่มขบวนการก็จะนำลงเรือแล้วข้ามมายังฝั่งไทย โดยเฉพาะเวลาน้ำขึ้นสูงสุด ส่วนในเขตแดนไทยก็มักจะปรับพื้นที่ริมตลิ่งให้ง่ายต่อการขนย้าย ด้วยการนำเรือหางยาวมาเกยตื้น เพื่อให้สามารถเทียบใกล้รถกระบะ สามารถขนขึ้นได้ทันที
ข้อมูลเชิงลึกยังพบว่า เส้นทางการลักลอบขนยางพารา กลุ่มขบวนการมักใช้เรือหางยาวขนส่งตามท่าเรือช่องทางธรรมชาติโดยไม่ได้นัดหมายตายตัว แต่มีเส้นทางที่มักนิยมใช้กันอยู่ 14 จุด ในเขตพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.กระบุรี และ อ.ละอุ่น
ส่วนพฤติการณ์ในการลักลอบขนยางพาราเถื่อนส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านในพื้นที่ผันตัวมาเป็นพ่อค้าคนกลาง เริ่มลักลอบขนยางจากคราวละไม่กี่กิโลกรัม แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น จนกลายเป็นหลักพันกิโล ซึ่งพ่อค้าคนกลางจะประสานซื้อขายระหว่างผู้รับซื้อกับเจ้าของสวนยางในเมียนมา เป็นการนำเอายางพาราเถื่อนด้อยคุณภาพมาสวมสิทธิ์การประกันราคายางพาราที่รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การกวาดล้างขบวนการขนยางพาราเถื่อนทำได้อย่างยากลำบาก นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง บอกว่าเนื่องจากตลาดมีความต้องการยางราคาถูก กลุ่มขบวนการที่เรียกกันว่า "คนสองน้ำ" หรือคนที่อาศัยอยู่และได้บัตรประชาชนทั้งเมียนมาและไทย จึงทำทุกวิถีทางเพื่อลักลอบลำเลียงยางพาราจากริมฝั่งไทยออกมาขายตามแหล่งที่ต้องการยาง ทั้งการว่าจ้างคนขนในราคากิโลกรัมละ 50 สตางค์ ค่าผ่านทางให้กับชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ริมตลิ่งในราคากิโลกรัมละ 1 บาท จึงปฏิเสธไม่ได้ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่จะรู้เห็นเป็นใจกับขบวนการนี้ จนกลายเป็นวิถีชุมชนในการลักลอบขนยางเถื่อน
พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ให้ข้อมูลเสริมว่า ต้นทุนการปลูกและผลิตยางพาราในเมียนมาต่ำกว่าของไทยกว่า 1 เท่าตัว ทั้งที่ดิน ค่าแรง ค่าปุ๋ย รวมถึงอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ ประกอบกับการขนส่งยางพาราไปขายยังต่างประเทศไม่สะดวกเหมือนในประเทศไทย ทั้งข้อจำกัดเรื่องเส้นทางจากจังหวัดเกาะสองไปยังประเทศจีน เรื่องเส้นทางการขนส่ง โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมา จึงทำให้ไทยกลายเป็นตลาดค้ายางเถื่อนแหล่งใหญ่ ซึ่งการลักลอบขนยางแต่ละครั้ง นายทุนจะได้ส่วนต่างต่ำสุดกิโลกรัมละ 5 บาท และสูงสุดถึง 20 บาท จึงทำให้มีการลักลอบอย่างต่อเนื่อง
ผลของการลักลอบขนยางพาราเถื่อน ไม่เพียงแต่ความผิดตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังทำให้ไทยเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของโรคพืชบางชนิด
นายวุฒิ เร่งประดุงทอง นายด่านศุลกากรระนอง แสดงความกังวลว่า ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากโรคพืช หรือเชื้อโรคในทางการเกษตรที่อาจปะปนมากับยางพาราเหล่านี้ กรมวิชาการเกษตรจึงไม่อนุญาตให้นำเข้าอย่างถูกกฎหมาย เพราะเกรงว่าจะทำให้เชื้อโรคข้ามถิ่นเข้ามาในไทย ส่งผลต่อพืชพันธุ์ต่างๆ ในบ้านเรา
การลักลอบขนยางพาราเถื่อนยังกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค เพราะชาวสวนยางไทยต้องเผชิญกับปัญหาราคายางพาราตกต่ำเฉลี่ย 3 กิโล 100 บาท (สามโลร้อย) ทำให้รัฐบาลต้องมีนโยบายประกันราคา และจ่ายเงินอุดหนุนชาวสวนยางเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยใช้เงินงบประมาณจากภาษีของคนไทยทั้งประเทศ แต่สุดท้ายกลับมีขบวนการขนยางพาราเถื่อนมาสวมสิทธิ์แย่งเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ถือได้ว่าเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของสวนยางพาราไทยอย่างแท้จริง
@@ เปิดตัวเลขประกันรายได้ 4.2 หมื่นล้านช่วยชาวสวนยาง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่อง จาก "ดีมานด์" หรือความต้องการซื้อที่ลดลง เพราะสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเคยเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ หันมาปลูกยางเอง และเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาด ขณะที่ประเทศไทยก็ขยายพื้นที่เพาะปลูกจากใต้สู่อีสาน ส่งผลให้ราคายางดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง จากกิโลกรัมละร้อยกว่าบาท ลดลงเหลือ 2 โลร้อย, 3 โลร้อย และหนักสุดคือ 5 โลร้อย
โดยเฉพาะพี่น้องชาวสวนยางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นิยมขาย "ยางก้นถ้วย" หรือ "ยางก้อนถ้วย" ซึ่งมีคุณภาพต่ำกว่าน้ำยางดิบทั่วไป เนื่องจากมีสถานการณ์ความไม่สงบ ทำให้ราคายางดิ่งหนัก บางช่วงเหลือเพียงกิโลกรัมละสิบกว่าบาท ส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อสภาพเศรษฐกิจในพื้้นที่ สะเทือนกันไปทุกภาคส่วน
ที่ผ่านมารัฐบาลหลายชุดจึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เช่นกัน โดยพรรคการเมืองที่ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ส.ส.ภาคใต้จำนวนมาก ทำให้มีการใช้นโยบาย "ประกันรายได้" ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนโยบายหลักในการอุดหนุนราคายางพารา และดูแลชีวิตเกษตรกร
โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง เป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลที่เน้นช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยการประกันความเสี่ยงเรื่องรายได้ ซึ่งราคาประกันที่โครงการกำหนดไว้ คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสดราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม
แต่เกษตรกรชาวสวนยางที่มีสิทธิ์เข้าโครงการประกันรายได้ ต้องขึ้นทะเบียนกับ "การยางแห่งประเทศไทย" หรือ กยท. ก่อนวันที่ 15 พ.ค.2563 มีสวนยางเปิดกรีดแล้ว อายุยาง 7 ปีขึ้นไป รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยจะได้รับเงินประกันรายได้นอกเหนือจากการขายยาง ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 63 ถึงเดือน มีนาคม ปี 64 ซึ่งก็คือเดือนนี้ และเป็นการประกันรายได้ระยะ 2
นโยบายประกันรายได้ เป็น 1 ใน 5 มาตรการใหญ่ที่เป็น "แพคเกจช่วยยางพาราทั้งระบบ" ซึ่งใช้เม็ดเงินมากถึง 50,000 ล้านบาท โดยโครงการประกันรายได้ระยะ 2 ใช้งบมากที่สุด อยู่ที่ 42,000 ล้านบาท นอกจากนั้นเป็นโครงการพัฒนาความร่วมมือการผลิตและการตลาดภาคอุตสาหกรรมยางพารา งบประมาณ 11.3 ล้านบาท, โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิต "ผลิตภัณฑ์ยาง", โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยาง จำพวก "ยางแห้ง" และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์
จะเห็นได้ว่าโครงการประกันรายได้ ใช้งบประมาณสูงมากถึงกว่า 4 หมื่นล้านบาท และมีเงื่อนไขตรวจสอบคุณสมบัติชาวสวนยางเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างตรงเป้า ตรงกับกลุ่มผู้เดือดร้อนตัวจริง แต่ปรากฏว่ากลับมีมิจฉาชีพบางกลุุ่มจับมือกับข้าราชการและชาวสวนยางบางคน ลักลอบนำเข้ายางพารา ซึ่งราคาในประเทศเพื่อนบ้านต่ำกว่าไทยถึง 1 เท่าตัว เพื่อนำมาสวมสิทธิ์เกษตรกร เบียดบังเงินภาษีอากรไปเช้ากระเป๋าตัวเอง และอาจส่งผลให้เกษตรกรตัวจริงไม่ได้รับความช่วยเหลือ จึงถือว่าเป็นขบวนการปล้นชาติปล้นประชาชนอย่างแท้จริง
---------------------
เรื่อง/ภาพ : ชลธิชา รอดกันภัย