ชาวสวนยางชายแดนใต้ประสบปัญหาโรคระบาด "ใบยางร่วง" อย่างรุนแรง ทำปริมาณน้ำยางลดลงในช่วงที่ราคายางพาราแพงขึ้น วอนรัฐช่วยเหลือด่วน ด้านเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ ศอ.บต.รับทราบปัญหาแล้ว กำลังเร่งหาแนวทางแก้ไข
จากราคายางพาราที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นเรื่องดีสำหรับชาวสวนอย่าง แต่ชาวสวนยางชายแดนใต้กลับมีปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงในยางพาราอย่างรุนแรง ทำให้ปริมาณผลิตน้ำยางพาราลดลงลงครึ่งหนึ่งจากปกติ ส่งผลกระทบกับชาวสวนยางในพื้นที่อย่างมาก
นางสือนะ อาแด อายุ 42 ปี ชาวสวนยาง อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า จริงอยู่ตอนนี้ราคายางสูงขึ้นกว่าเดือนก่อนประมาณ 7 บาท วันนี้ขายขี้ยางหรือเศษยางอยู่ที่กิโลฯละ 24-25 บาท ก่อนหน้านี้ 15-18 บาทเท่านั้น ถือว่าพอจะหายใจได้คล่องบ้าง แต่กลับต้องมาเจอปัญหายางเป็นโรค ทำให้ผลผลิตน้อย ซึ่งจริงๆ โรคนี้ระบาดมาตั้งแต่ก่อนยางแพง ช่วงยางถูกชาวสวนยิ่งลำบาก
การระบาดของ "โรคใบยาง" จะมีลักษณะใบยางร่วงตลอดทั้งปี ใบยางจะร่วงแล้วแตกใบอ่อน พอใบยางแก่ก็จะร่วงอีก เหลือแต่กิ่ง น้ำยางก็ไม่ออก เป็นปัญหาที่ชาวสวนแก้เองไม่ได้ เป็นแบบนี้มาตลอดสิบกว่าปีแล้ว เพราะต้นยางถ้าช่วงที่ใบอ่อน ยางไม่ออกเลย แถมราคาก็ถูกอีก
"สถานการณ์ตอนนี้มันหนักมาก ไม่มีคำพูด มีแต่ร้องไห้เพราะไม่มีเงิน ปกติเราเป็นลูกจ้างเขา ช่วงนี้ราคาขึ้น กรีดยางได้วันละ 150 บาท กรีดยาง 5 วัน ทำขี้ยางได้ 750 บาท แบ่ง 2 (แบ่งครึ่ง) กับเจ้าของสวนยาง ได้คนละ 375 บาท จะกินยังไม่พอ รายได้เท่านี้คือราคากำลังขึ้นนะ ถ้าช่วงที่ราคาถูก ก็น้อยกว่านี้อีก" สือนะ บอก พร้อมเล่าถึงความลำบากของครอบครัว
"พอยางราคาถูก ลูกชายคนโตก็ต้องเสียสละออกจากโรงเรียน เพื่อให้น้องๆ ได้เรียนหนังสือ ที่ผ่านมาชาวสวนยางกระทบหนักมาก แต่ก็ถือว่ายังโชคดีที่มีเงินประชารัฐ พอมาช่วยค่ากับข้าวได้บ้าง ส่วนเงินที่ได้จากการรับจ้างกรีดยาง ก็ใช้จ่ายให้ลูกเรียน อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยชาวบ้านโดยด่วน ทำอย่างไรงก็ได้ เชื่อว่ารัฐมีความรู้ มาช่วยพวกเราได้"
นายดานิง ตีมุง ชาวสวนยางอีกราย เล่าถึงความลำบากไม่ต่างกันว่า เรื่องยางเป็นโรค จะมีทุกปี ตนพยายามทำยาจากสมุนไพรเพื่อนำมาพ่น บางทีก็ทำปุ๋ย เรียกว่าหาทางแก้เองมาตลอด แต่สุดท้ายใบยางก็ร่วง แล้วก็แตกใบอ่อน แล้วก็ร่วง มันเป็นแบบนี้มาตลอด เดือดร้อนแค่ไหนก็ไม่อยากพูดแล้ว แต่เชื่อว่าถ้ารัฐเข้ามาจัดการก็จะดี
"ได้ยินว่าหลายหน่วยงานพยายามแก้ปัญหานี้อยู่ ก็ขอภาวนาให้แก้ปัญหานี้ได้สำเร็จเร็วๆ เพราะชาวบ้านจะดีใจมาก" ชาวสวนยางวัย 32 ปี กล่าว
ด้าน นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า หน่วยงานในพื้นที่เข้าใจถึงความเดือนร้อนของชาวสวนยางเป็นอย่างดี จึงได้เร่งหารือเพื่อวางแนวทางป้องกัน และมาตรการการฟื้นฟูเยียวยาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ปัญหานี้กินวงกว้างถึง 6 จังหวัดภาคใต้ และมีแนวโน้มขยายพื้นที่และความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
เบื้องต้นได้พูดคุยกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีประเด็นเรื่องปุ๋ยที่สามารถแก้โรคและฟื้นฟูต้นยางพาราได้ รวมถึงการปลูกพืชอื่นๆ ในสวนยางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และการเยียวยาเกษตรกร การสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ทำเกษตรพอเพียง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการขับเคลื่อนบูรณาการกับทุกส่วนราชการในพื้นที่
ขณะที่ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคใบยาง ทุกส่วนราชการมีความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ จ.นราธิวาส มีพื้นที่ได้รับผลกระทบกว่า 8 แสนไร่ จึงได้บูรณาการกันเพื่อเร่งให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด ซึ่ง ศอ.บต.เป็นหน่วยงานที่หนุนเสริม เชื่อมโยง เต็มเติมในการผลักดันให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว
เพราะยางพาราคือสายเลือด เส้นเลือด และกระดูกสันหลังของชาวใต้!