วันนี้ถือว่าเป็นเวลาครบรอบ 1 ปี นับจาก 18 มี.ค.63 ที่ประเทศมาเลเซียได้เริ่มประกาศปิดประเทศ ปิดด่านชายแดนทุกด่าน สั่งห้ามพลเมืองของตนเดินทางไปต่างประเทศ และห้ามชาวต่างประเทศเดินทางเข้าไป
ขณะที่ฝั่งไทยในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ก็มีคำสั่งปิดช่องทางเข้าเมือง 5 ด่าน จาก จ.สตูล ถึงนราธิวาส เพื่อเสริมมาตรการป้องกันโควิดไม่ให้แพร่ข้ามแดน
จากนั้นทางการมาเลเซียก็บังคับใช้กฎหมายควบคุมการเคลื่อนย้ายภายในประเทศ หรือ RMCO ซึ่งต่ออายุมาหลายครั้ง จนครั้งล่าสุดได้กำหนดขยายเวลาปิดประเทศจนถึง 31 มี.ค.64 เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงอยู่
ตลอดเวลาที่ผ่านมา มาตรการปิดประเทศส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของผู้คนที่ใช้ชีวิตและทำมาหากินอยู่บริเวณริมตะเข็บชายแดน โดยเฉพาะที่ชายแดนสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้เลย เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเข้ามาเที่ยว
แตกต่างจากในอดีตที่เมืองสุไหงโก-ลก จะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่เดินทางผ่านเข้า-ออกตลอดทั้งวัน มีทั้งที่เดินทางเข้ามาเที่ยวใช้จ่ายตามสถานที่ต่างๆ หรือแม้กระทั่งข้าราชการมาเลเซียที่ใช้เวลาในช่วงพักเที่ยงข้ามด่านชายแดนเข้ามาทานอาหารในเมืองสุไหงโก-ลก และก่อนกลับก็ไม่ลืมที่จะซื้อข้าวของและผลไม้จากไทยติดมือกลับไปฝั่งมาเลย์
แม้การเดินทางของผู้คนจะถูกจำกัดจากการประกาศปิดประเทศ ปิดด่านพรมแดนทั้งจากฝั่งมาเลเซียและไทย่ แต่การขนส่งสินค้าต่างๆ ก็ยังคงสามารถส่งเข้า-ออกได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องทำตามกติกาและข้อกำหนดของทั้งสองประเทศ เกี่ยวกับการจัดระเบียบ จัดสถานที่ และตรวจคัดกรอง เพื่อเป็นควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาด
นายฮัสรูลดิน เบ็นโอสมัน วัย 29 ปี ชาวมาเลเซียจากบ้านกาลังกูโบ เจ้าของรถสิบล้อ บอกว่า ตนเองอยู่กับอาชีพนี้มาตั้งแต่เด็กๆ เริ่มจากตามพ่อมาทำงาน จนตอนนี้มีครอบครัวก็มาทำงานเอง ขับรถวิ่งรับส่งของแทนพ่อมาสิบกว่าปี งานตอนนี้ก็พออยู่ได้ ดีกว่าไม่ทำเลย
อย่างวันนี้ได้นำของออกมาจากมาเลเซีย ตั้งแต่เช้าประมาณ 05.00 น.เวลาไทย เข้ามาส่งยังฝั่งไทย และในตอนขากลับก็ได้บรรทุกผลไม้ เป็นส้มจีนจำนวนพันกว่าตะกร้า และมะม่วงอีก 300 เข่ง เต็มทั้งคันรถสิบล้อ เพื่อนำไปส่งให้กับลูกค้าที่อยู่เมืองกวนตัน รัฐปาฮัง (ปาหัง)
เจ้าของสิบล้อชาวมาเลเซีย แจกแจงว่า ค่าจ้างในการวิ่งรถขนส่ง จะได้รับค่าจ้างคิดเป็นเงินไทย 10,000 บาทต่อ 1 คัน ในจำนวนนี้รวมค่าน้ำมันรถ ค่าคนขับ 2 คน และจ่ายให้สรรพากรที่ด่าน 500-1,000 บาทต่อครั้ง เหลือเป็นเงินที่ได้จริงอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทาง 1 วัน 1 คืน และต้องทยอยส่งของให้แต่ละร้านค้า โดยใน 1 สัปดาห์จะมีงานส่งของแค่ 2 วันเท่านั้น ไม่ได้มีงานทุกวัน
ในทุกๆ 2 สัปดาห์ คนขับรถสิบล้อส่งของแบบฮัสรูลดิน ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 กับทางเจ้าหน้าที่ไทยด้วย ซึ่งการเข้า-ออกประเทศไทย จะต้องมีสายรัดข้อมือที่เป็นสัญลักษณยืนยันว่า ได้ผ่านการตรวจโควิดมาแล้ว
สำหรับคนที่ได้รับสายรัดข้อมือเส้นนี้ จะมีกฎอยู่ว่า เมื่อออกมาจากด่านศุลกากร ต้องตรงไปยังจุดที่จะลงสินค้าตามที่แจ้งเจ้าหน้าที่เอาไว้เท่านั้น ห้ามออกนอกเส้นทางเด็ดขาด และสามารถอยู่ในประเทศไทยได้แค่ 7 ชั่วโมง ถ้าเกินเวลาที่กำหนดจะต้องกักตัวในไทย 14 วัน และต้องกลับไปกักตัวที่มาเลเซียต่ออีก 14 วัน ก็คือราวๆ 1 เดือนที่จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทำให้ทุกคนต้องทำตามกติกา พยายามทำให้ทันในเวลาที่จำกัดนี้ให้ได้
"ทุกวันนี้ขึ้นของลงของใช้เวลาเฉียดๆ ทุกวัน ถ้ามีเวลาน้อยก็ต้องเร่งให้ทัน" เจ้าของสิบล้อชาวมาเลย์ บอก
ด้านแม่ค้าชาวตากใบที่ส่งของไปยังฝั่งมาเลเซีย เล่าว่า แม้ว่าตอนนี้กำลังประสบกับสถานการณ์โควิดก็จริง แต่สินค้าก็ยังส่งได้ตามปกติ ถือว่าไม่ได้กระทบมาก แต่อาจจะไม่สะดวกเหมือนช่วงปกติ ก็ถือว่ายังดี
"อย่างช่วงนี้บ้านเรามีมะม่วง ส้มจีน สั่งซื้อจากตลาดไทราคาถูก เราก็สามารถส่งของได้จำนวนมากข้ามไปมาเลเซีย เขาต้องการของมาก เพราะราคาถูกมากปีนี้ ก็ถือว่ายังอยู่ตรงนี้ได้ ไม่กระทบมาก"
ด้านแรงงานรับจ้างยกของขึ้นลงจากรถขนส่ง บอกว่า ได้ค่าจ้างจากการยก วันละ 400-500 บาท ก็ถือว่ายังปกติ แต่ก็ไม่ได้มีทุกวัน ราคาจ้างเท่าเดิมก็จริง แต่งานที่ทำมีน้อยลง คนที่มารับจ้างก็ต้องน้อยลงตามไปด้วย อย่างวันนี้ ตั้งแต่เช้ามีขึ้นของแค่ 2 คันรถสิบล้อ มะม่วงกับส้ม ได้ค่าจ้าง 500 บาท แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อน มีรถเข้า-ออกมาก งานเราก็มีมาก แถมไม่ต้องเร่งเหมือนทุกวันนี้ แต่ก็ถือว่ายังดีกว่าไม่มีอะไรให้ทำ ก็ต้องสู้ทำงานต่อไป จนกว่าด่านจะเปิดและทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม
ขณะที่แม่ค้าแผงขายผลไม้จากนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งแผงอยู่ที่สุไหงโก-ลก เล่าว่า ทุกวันนี้ขายของไม่ค่อยได้เลย เป็นเพราะสถานการณ์โควิด ทำให้มาเลเซียปิดประเทศ คนมาเลย์เข้ามาเที่ยวมาจับจ่ายซื้อของไม่ได้ ตอนนี้ก็ขายให้คนไทยอย่างเดียว ยอดขายแต่ละวันน้อยมาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร ขายให้พอกินไปวันๆ ก็พอแล้ว
น.ส.อัสบะ นักท่องเที่ยวชาวไทย กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งใจมาซื้อของที่ฝั่งไทย แค่มาทำธุระ ไม่คิดว่าบรรยากาศจะเงียบมากขนาดนี้ เห็นแล้วสงสารคนที่ขายของ จะไปทำอย่างอื่นก็ไม่รู้จะไปทำอะไร คนตกงานก็เยอะ งานที่มีก็ใช่ว่าจะดี แต่ทุกคนก็ต้องสู้กันไป
ทั้งหมดนี้คือเสียงจากคนชายแดนที่บอกเล่าถึงบรรยากาศความเงียบเหงา รวมถึงการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพในยุคโควิด-19 ที่ต้องแตกต่างไปจากเดิม แม้บางมิติจะเป็น "วิถีใหม่" หรือ New Normal แต่บางเรื่องกลับเป็นผลกระทบล้วนๆ และสร้างความเดือดร้อนไม่น้อยเลย...
นับเป็นช่วงเวลา 1 ปีที่นานแสนนานสำหรับคนชายแดนที่เฝ้าแต่หวังว่า เมื่อไหร่ด่านพรมแดนจะเปิด และพวกเขาได้ค้าขายกันอย่างปกติ...เสียที