"ราชภัฏโพลล์" เผยผลสำรวจคนชายแดนใต้ร้อยละ 50.4 ต้องการฉีดวัคซีนโควิดแน่นอน แต่ยังมีร้อยละ 36.69 ที่ไม่แน่ใจ กังวลผลข้างเคียง หนุนกลุ่มที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และผู้สูงอายุได้ฉีดก่อน ด้าน สสจ.ยะลา ระบุไม่พบโควิดมา 300 วัน เดินหน้าคัดกรองกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่อง ด้าน ครม.เทงบกลาง 6.3 พันล้าน จัดหาวัคซีนเพิ่ม
"ชายแดนใต้โพล by YRU" ร่วมกับราชภัฏโพลล์ โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหัวข้อ "การฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19" โดยเก็บข้อมูลประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,251 คน ระหว่าง 13-14 ก.พ.64
ผลสำรวจพบว่า ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากให้คน 3 กลุ่มควรได้รับวัคซีนก่อนเป็นลำดับแรก คือ ผู้มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่ออันตรายร้ายแรงถึงชีวิตจากการติดเชื้อ ร้อยละ 48.60 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ร้อยละ 45.56 และผู้สูงอายุ ร้อยละ 43.01
ประชาชนกลุ่มรองลงมาที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน คือ ประชาชนในจังหวัดชายแดน ร้อยละ 29.90 ประชาชนที่มีอาชีพที่ต้องต้อนรับนักท่องเที่ยว หรือที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก เพราะมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ร้อยละ 29.74
เมื่อถามถึงความต้องการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 พบว่า ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 50.44 ต้องการฉีดวัคซีนอย่างแน่นอน ส่วนกลุ่มที่ไม่ฉีดแน่นอน มีร้อยละ 12.87 และกลุ่มทึ่ไม่แน่ใจ ร้อยละ 36.69
สำหรับข้อกังวลหรือเหตุผลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน พบว่า ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กังวลเรื่องผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นภายหลังการฉีดมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 25.52 รองลงมาคือกังวลเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนไม่ดีพอ คิดเป็นร้อยละ 20.20 กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการฉีด ร้อยละ 14.46 เสียสละให้กลุ่มเสี่ยงได้ฉีดก่อนเพราะตนเองมีความเสี่ยงต่ำ ร้อยละ 12.83 และยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ ร้อยละ 10.59
@@ สสจ.ยะลา เผยไม่พบโควิด-19 มา 300 วัน เดินหน้าคัดกรองกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่อง
ด้านนายเเพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายเเพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันของจังหวัดยะลา ยังไม่พบผู้ติดเชื้อระลอกใหม่มาเป็น 300 วัน ซึ่งเป็นผลที่ยืนยันได้ว่าพี่น้องชาวจังหวัดยะลาได้ร่วมมือกัน เป็นผลของการที่เรามีการวางโครงข่าย ตั้งแต่ภาคประชาชนที่ช่วยให้ความร่วมมือใส่หน้ากากอนามัยและช่วยเป็นหูเป็นตา เวลามีอะไรที่ผิดปกติเขาก็จะแจ้งสายด่วนของจังหวัดยะลาเข้ามา ส่วนสถานประกอบการทั้งหมดก็ให้ความร่วมมือทั้งการคัดกรองอุณหภูมิและการบริการเจลล้างมือ
ส่วนการเฝ้าระวังนั้นทางสาธารณสุขจังหวัดยะลาร่วมกับทุกอำเภอมีการสุ่มการตรวจในกลุ่มเสี่ยงเป็นระยะๆ ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.63 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับพระราชทานรถตรวจชีวะนิรภัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาสุ่มตรวจซึ่งตรวจไปเเล้ว 1,000 กว่าคนยังไม่พบเชื้อ และในช่วงของรอบต่อไปมีอีกประมาณเกือบ 3,000 คน ประกอบด้วยกลุ่มของพ่อค้า แม่ค้า กลุ่มที่จะทำหน้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว กลุ่มโรงแรม กลุ่มรถโดยสาร กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่จะมีการพบปะกับพี่น้องประชาชน
@@เทงบกลาง 6.3 พันล้าน จัดหาวัคซีนเพิ่ม
สำหรับไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีน และการเดินทางของวัคซีนเข้ามาในประเทศไทย มีดังนี้
ก.พ.2564
- วัคซีน 200,000 โดสแรก ของ "ซิโนแวค" จากจีน เดินทางถึงประเทศไทย
- วัคซีน 117,600 โดส ของ "แอสตร้าเซนเนก้า" เดินทางถึงประเทศไทย
มี.ค.2564 วัคซีน "ซิโนแวค" จากจีนอีก 800,000 โดส จะเดินทางถึงประเทศไทย
เม.ย.2564 วัคซีน "ซิโนแวค" เจ้าเดิมอีก 1,000,000 โดส จะเดินทางถึงประเทศไทย ครบจำนวนทั้งหมด 2,000,000 โดสที่มีการสั่งซื้อ
มิ.ย.2564 วัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" จำนวน 26 ล้านโดส ที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อ และผลิตเองจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของแอสตร้าเซนเนก้า จะเริ่มแจกจ่ายและฉีดให้กับประชาชนคนไทย
นี่คือไทม์ไลน์ทั้งหมดในการเดินทางมาของวัคซีน ส่วนไทม์ไลน์การฉีดวัคซีน เริ่มแล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเป็นวัคซีน "ซิโนแวค" จากจีน และทยอยฉีดมาเรื่อยๆ ในหมู่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์ กระจายใน 18 จังหวัดที่ยังเป็นพื้นที่ควบคุม เพราะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2
ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะเน้นฉีดให้กับผู้ที่อายุเกิน 60 ปี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี จะนำร่องประเดิมฉีดเป็นกลุ่มแรกภายในวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม 2564
แต่การจัดหาวัคซีนไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ เพราะล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับบริการประชาชนเพิ่มเติม โดยเป็นวัคซีนแอสตราเซนเนก้า จำนวน 35 ล้านโดส กรอบวงเงิน 6,387,285,900 บาท จากงบกลางของปีงบประมาณ 2564 ตามแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการเพื่อให้ คนไทยทุกคนเข้าถึงวัคซีน
โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีน 5,673.67 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการวัคซีน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่เพื่อรองรับการฉีดวัคซีน จำนวน 713.61 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายน - ธันวาคม 2564
หลังจากจัดซื้อล็อตใหญ่แล้ว จะทำให้ประเทศไทยสามารถจัดซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชากรครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2564 โดยเป็นประชากรกลุ่มเป้าหมายตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จำนวน 17.5 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ลดอัตราป่วย การเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 รวมทั้งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว
สำหรับวัคซีนแอสตราเซนเนก้า ล็อตแรก จำนวน 117,600 โดส เข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และวัคซีนแอสตราเซนเนก้า ล็อต 2 จำนวน 26 ล้านโดส จะเข้ามาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เมื่อรวมกับวัคซีนชิโนแวคอีกจำนวน 2 ล้านโดส และจะจัดซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส จะส่งผลให้ในปีนี้ไทยมีวัคซีนทั้งหมด จำนวน 63 ล้านโดส ครอบคลุมร้อยละ 60 ของประชากร
นอกจากนั้น รัฐบาลมีนโยบายให้กระทรวงการต่างประเทศเตรียมพิจารณาออก "วัคซีน พาสปอร์ต" เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศสามารถเดินทางได้ โดยใช้พาสปอร์ตชนิดนี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมโลกและประเทศไทย โดยในส่วนของไทยมีแนวคิดให้ลดวันกักตัวของผู้ที่ถือ "วัคซีน พาสปอร์ต" เหลือเพียง 7 วัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว