พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เขียนบทความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชำแหละองค์กร กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
จังหวะเวลาการโพสต์ของ พ.ต.อ.ทวี ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการศูนยอำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นช่วงที่ กอ.รมน.กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากบริษัทแม่ของ Facebook สั่งลบ 185 บัญชีและกลุ่มที่ตรวจจับได้ว่าสมัครเข้ามาเพื่อปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ ไอโอ เชื่อมโยงกับ กอ.รมน. และประเด็นที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
พ.ต.อ.ทวี ตั้งข้อสังเกตผ่านข้อเขียนเอาไว้น่าสนใจหลายประเด็น ดังนี้
1. กอ.รมน.มี "นายกรัฐมนตรี" ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเป็น "ผู้อำนวยการ" หรือ "ผอ.รมน." เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ใน กอ.รมน. และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของ กอ.รมน. มีผู้บัญชาการทหารบก หรือ ผบ.ทบ. เป็น "รอง ผอ.รมน." และเสนาธิการทหารบกเป็น "เลขาธิการ กอ.รมน." มีหน้าที่รับผิดชอบงานอำนวยการและธุรการ ของ กอ.รมน.
2. กระบวนการพิจารณาและลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กฎหมาย กอ.รมน. น่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย เพราะการลงมติในวาระ 2 และ 3 ไม่ครบองค์ประชุม
การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ อยู่ในช่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. หลังการรัฐประหารปี 2549 และเป็นช่วงปลายวาระของ สนช. ช่วงต้นปี 2551 ซึ่งรัฐบาลได้จัดการเลือกตั้งไปแล้ว อยู่ระหว่างรอการเปิดสภาผู้แทนราษฎรเพื่อมาทำหน้าที่แทน สนช.
โดย สนช.ในขณะนั้นมีอยู่ทั้งหมด 242 คน กึ่งหนึ่ง หรือ "องค์ประชุม" คือต้องมีสมาชิกเข้าประชุมเกิน 121 คน แต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร วาระ 2 มีผู้ลงคะแนนเพียง 100 คน และวาระ 3 มีผู้ลงคะแนนรวม 115 คน ซึ่งต่ำกว่าจำนวนเสียงกึ่งหนึ่งซึ่งเป็น "องค์ประชุม"
พ.ต.อ.ทวี ยังได้ยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ประเด็นเกี่ยวกับองค์ประชุมมาอ้างอิงหลายคำวินิจฉัย เช่น
คำวินิจฉัยที่ 2/2551 ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ....สรุปว่า ในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ แม้จะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาลงชื่อประชุมจำนวน 212 คน ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งก็ตาม แต่องค์ประชุมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมิได้หมายความเพียงการลงชื่อเท่านั้น แต่มุ่งหมายให้จะต้องมีสมาชิกมาประชุมจริง เมื่อปรากฏว่าในขณะประชุมเพื่อลงมติ มีสมาชิกเข้าประชุมเพียง 86 คน ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ย่อมทำให้การประชุมดังกล่าวไม่ครบองค์ประชุม อันมีผลให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวตกไป
เช่นเดียวกับ คำวินิจฉัยที่ 3/2551 ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คำวินิจฉัยที่ 16/2551 ร่าง พ.ณ.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. .... สรุปปัญหาคล้ายคลึงกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน แม้บางฉบับจะมีการเสนอเข้ามาถึง 3 ร่างด้วยกัน
แต่สำหรับ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ได้ประกาศใช้ก่อนมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีช่องทางหยิบยกกระบวนการตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้อีก
พ.ต.อ.ทวี สรุปว่า กฎหมาย กอ.รมน.จึงมีสภาพเป็น "อภิสิทธิ์ของกฎหมาย" คือเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่ยังใช้บังคับอยู่ได้
3. กอ.รมน.มีการตั้งงบในหมวดของ "งบรายจ่ายอื่น" สูงมาก ผิดแผกแตกต่างจากงบของส่วนราชการทั่วๆ ไป
โดย กอ.รมน.เริ่มตั้งงบประมาณครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2552 และตั้งแต่ปี 2560 งบประมาณเพิ่มมากขึ้น รวมเฉลี่ยประมาณปีละเกือบ 1 หมื่นล้านบาท การจัดงบประมาณถือว่า "ประหลาดมาก" เพราะปกติหน่วยรับงบประมาณทั่วไปจะมี "งบบุคลากร" ประมาณ 65-70% และเป็น "งบรายจ่ายอื่น" ประมาณ 1-2%
เช่น ในปีงบประมาณ 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งงบบุคลากร 66.46% งบรายจ่ายอื่นประมาณ 1.88% แต่สำหรับ กอ.รมน. ปรากฏว่าเป็นงบบุคลากรเพียงประมาณ 0.91% และงบรายจ่ายอื่นถึง 95%
เมื่อตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 เป็นต้นมา พบว่า กอ.รมน.ตั้ง "งบรายจ่ายอื่น" ประมาณ 95%ถึง 98% (ดูตารางประกอบ)
สำหรับงบรายจ่าย แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ งบบุคลากร (เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน) งบดำเนินงาน (งบบริหารงานประจำ เช่น ค่าวัสดุ ค่าสาธารณูปโภค) งบลงทุน (เช่น ค่าครุภัณฑ์ ค่าที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง) งบเงินอุดหนุน (ค่าบำรุง เงินช่วยเหลือสนับสนุน) และงบรายจ่ายอื่น
สำหรับ "งบรายจ่ายอื่น" หมายถึง รายจ่ายที่ไม่เข้าลักษณะประเภทงบรายจ่ายใดงบรายจ่ายหนึ่ง หรือรายจ่ายที่สำนักงบประมาณกำหนดให้ใช้จ่ายในงบรายจ่ายนี้ เช่น (1) เงินราชการลับ (2) เงินค่าปรับที่จ่ายคืนให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง (3) ค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษา วิจัย ประเมินผล หรือพัฒนาระบบต่างๆ ซึ่งมิใช่เพื่อการจัดหา หรือปรับปรุงครุภัณฑ์ ที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้าง (4) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว (5) ค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ (ส่วนราชการ) (7) ค่าใช้จ่ายสำหรับกองทุน หรือเงินทุนหมุนเวียน (6) รายจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้
พ.ต.อ.ทวี ระบุต่อว่า "งบรายจ่ายอื่น" เป็นเรื่องนามธรรม ตรวจสอบยากมากถึงมากที่สุด ขณะที่ในปัจจุบัน กอ.รมน มีข้าราชการพลเรือนประจำ กอ.รมน.เพียงประมาณ 120 คน มีรายจ่ายบุคลากรเงินเดือนประมาณ 80 ล้านบาทเท่านั้น
การใช้เงิน "งบรายจ่ายอื่น" เลขาธิการ กอ.รมน.ได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า นำไปใช้เป็นค่าตอบแทนข้าราชการที่ส่วนใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มา "ช่วยราชการ" บรรจุเป็นกำลังพล กอ.รมน ซึ่งมีทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ทั้งที่ข้าราชการดังกล่าวได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทนและสวัสดิการทุกชนิดอยู่แล้ว มีประมาณ 5 หมื่นกว่าคนที่บรรจุอยู่ใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้เอาไว้ 3 ข้อ
1. การตั้ง "งบรายจ่ายอื่น" ที่ไม่สามารถระบุกิจกรรม เป้าหมาย วัตถุประสงค์ และจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายจริงในกิจกรรมนั้นๆ ได้ ตั้งเป็นยอดเงินล่ำซำ/ก้อนกลมๆ อยากได้เท่าไรก็ใส่จำนวนเงินไปก่อน (หากระบุได้ต้องอยู่ในงบรายจ่ายหมวดที่ 1-4 ) จึงเอื้อให้ส่วนราชการโอนหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณนำไปใช้ในรายการอื่นๆ โดยใช้อำนาจหัวหน้าส่วนราชการในการเปลี่ยนแปลงรายการ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ
2. หากจ่ายเป็น "งบการข่าว" หรือโอนเลี่ยนแปลงเป็น "งบราชการลับ" แม้จะมีระเบียบว่าด้วยงบการข่าว และการใช้งบประมาณราชการลับ ก็ไม่มีช่องทางให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอื่นเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณได้เลย
3. งานของ กอ.รมน.ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบภารกิจนั้นๆ อยู่แล้ว กอ.รมน.จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวผิดพลาดที่เกิดขึ้น มีการใช้งบประมาณขาดหลักธรรมาภิบาล และยังไปเบียดเบียนครอบงำงบของหน่วยรับงบประมาณที่เป็นองค์กรวิชาชีพอย่างเบี่ยงเบนและคลุมเครือ เช่น กอ.รมน ใช้งบกองทุนพลังงานไปทำโซลาร์เซลล์ที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่เป็นข่าวใหญ่โต และ ป.ป.ช.ไปตรวจสอบโครงการต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้การไม่ได้ เป็นต้น
ล่าสุดปรากฏการณ์ "ไอโอ" ที่ถูกเปิดเผยขึ้น (ใช้บัญชีเฟซบุ๊กทำไอโอ) มีการเชื่อมโยงถึง กอ.รมน. ตั้งข้อสังเกตสงสัยว่าอาจสนับสนุนงบประมาณให้กับ "กลุ่มไอโอ" ที่ทำการด้อยค่าและโจมตีบุคคล ซึ่งเป็นการกระทำเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังอาจสอดคล้องกับข้อสังเกตการจัดงบประมาณในหมวด "งบรายจ่ายอื่น" เพื่อทำภารกิจนี้
จึงควรที่สำนักงบประมาณต้องทบทวนเพราะเอื้อที่จะนำไปใช้โดยไม่ชอบ ยากต่อการตรวจสอบ
ขณะที่ตัวกฎหมายที่มีกระบวนการพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็สมควรปฏิรูปหรือยกเลิกหรือปรับปรุงโดยสภาผู้แทนราษฎร