กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู เผยสถานการณ์แรงงานไทย หลังมาเลเซียประสบปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 และปัญหาค่าเงินริงกิตตกต่ำ ทำแรงงานเดินทางกลับประเทศแล้ว 19,000 ราย เหลืออีกกว่า 30,000 ราย ที่ยังคงทำงาน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรงในประเทศมาเลเซีย มีการพบผู้ติดเชื้ออยู่ที่ตัวเลขหลักพันต่อวัน จนทำให้ประเทศมาเลเซียต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน ทำให้ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซีย
นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู กล่าวถึงสถานการณ์ของแรงงานไทยที่อยู่ในประเทศมาเลเซียว่า ที่ผ่านมามีตัวเลขของแรงงานไทยที่เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว มีจำนวน 19,000 คนและยังมีที่อยู่ในมาเลเซียอีกประมาณ 30,000 คน
จากเดิมประเทศไทยมีแรงงานถูกกฎหมายที่ทำงานในประเทศมาเลเซีย จำนวน 38,487 คน มีการส่งเงินกลับประเทศไทย จำนวน 160 ล้านบาทต่อเดือนและมี แรงงานที่ผิดกฎหมาย ประมาณ 30,000 คน มีการส่งเงินกลับประเทศไทย จำนวน 400 ล้านบาทต่อเดือน โดยประมาณเฉลี่ยแล้วคนละ 4,000 บาทต่อเดือน
ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลมาเลเซียที่เอื้อต่อการจ้างแรงงานไทย โดยรัฐบาลมาเลเซียกำหนดให้นายจ้างทำประกันสังคมให้แรงงานต่างชาติ และมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ 1,100 ริงกิตต่อเดือน และปรับเพิ่มเป็น 1,200 ริงกิตในท้องที่เมืองหลัก 57 เมือง ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 1 ม.ค.63 ยกเว้นตำแหน่งผู้ช่วยแม่บ้าน
นอกจานี้ทางรัฐบาลมาเลเซียยังได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมการจ้างงานแรงงานต่างชาติหรือ Levy ใบอนุญาตปีที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.62 เป็นต้นไป อย่างในภาคบริการ ก่อสร้าง การผลิต การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน จากเดิม 10,000 ริงกิต ลดลงเป็น 6,000 ริงกิต และในภาคการเพาะปลูกและภาคการเกษตร จากเดิม 3,500 ริงกิต ลงลงเป็น 2,000 ริงกิต และมีการเพิ่มตำแหน่งพนักงานร้านอาหาร (Crew Restaurant) โดยมีสัดส่วนแรงงานท้องถิ่น : แรงงานต่างชาติเป็น 1:3
กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู กล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานแรงงานไทย เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจของมาเลเซียมีการชะลอตัวลง เนื่องจากรัฐบาลอยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาหนี้สินของประเทศ ส่งผลให้ตลาดแรงงานซบเซาประกอบกับผลกระทบจากการปิดประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 รวมถึงเรื่องค่าเงินริงกิตตกต่ำ เป็นเหตุให้แรงงานไทยบางส่วนไม่ต่อสัญญาจ้างกับนายจ้าง รวมถึงการขอยกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกำหนด
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของข้อกำหนดที่ของทางการมาเลเซียให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมการจ้างงานแรงงานต่างชาติ (levy) และการกำหนดอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างชาติได้เฉพาะ 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ ก่อสร้าง เพาะปลูกและเกษตร โดยไม่มีผลกระทบต่อโควต้าที่ได้รับอนุมัติแล้ว สำหรับการจ้างแรงงานวิชาชีพต่างชาติ จะไม่มีการจัดสรรโควต้าแรงงานต่างชาติเพิ่มเติม
จากข้อมูลด้านแรงงานของประเทศมาเลเซีย พบว่า มีประชากร จำนวน 32.6 ล้านคน เป็นชาย 16.8 ล้านคน เป็นหญิง 15.7 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 14.89 ล้านคน ว่างงาน 826,100 คน อัตราการว่างงานเฉลี่ย 5.3 เปอรเซ็นต์
ส่วนสถิติการจ้างงานชาวต่างชาติในประเทศมาเลเซีย พบว่า เป็นชาวเมียนมา จำนวน 125,795 คน ชาวอินเดีย จำนวน 117,733 คน ชาวบังคลาเทศ จำนวน 568,929 คน ชาวเนปาล จำนวน 316,102 คน ชาวอินโดนีเซีย จำนวน 704,175 คน ชาวไทย จำนวน 38,487 คน และแรงงานสัญชาติอื่นๆ อีกจำนวน 118,779 คน
โดยในส่วนของแรงงานชาวไทย จำนวน 38,487 คน แยกเป็นแรงงานตามภาคประกอบการ คือ แรงงานประมง จำนวน 20,088 คน แรงงานเชียวชาญ จำนวน 3,471 คน และแรงงานทั่วไป จำนวน 14,928 คน
สำหรับภาคประกอบการที่ได้รับอนุมัติให้จ้างแรงงานต่างชาติ ประกอบด้วย
1.ภาคการเพาะปลูก (Plantation) ได้แก่ การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยาง น้ำมันปาล์ม และโกโก้
2. ภาคการเกษตร (Agriculture) ได้แก่ การปลูกพืชไม้ดอก การเลี้ยงสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
3. ภาคอุตสาหกรรม (Factory) ได้แก่ อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และอุตสาหกรรมภายในประเทศ ตามประเภทอุตสาหกรรมที่กำหนด
4. ภาคการก่อสร้าง (Construction)
5. ภาคบริการ (Service) ประกอบด้วย ตำแหน่งผู้ประกอบอาหาร พนักงานทำความสะอาดและพนักงานบ้านพักตากอากาศหรือรีสอร์ทเท่านั้น โดยพนักงานนวดต้องดำเนินการผ่านกระทรวงการท่องเที่ยวมาเลเซีย
6. ผู้ช่วยแม่บ้าน