28 ก.พ. ไม่ใช่เป็นแค่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น แต่หากย้อนกลับไปในวันเดียวกันนี้เมื่อ 8 ปีก่อน วันที่ 28 ก.พ.2556 คือหมุดหมายสำคัญของการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดสถานการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2547
เพราะในวันนั้น พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พร้อมคณะ ประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม (ทั้งหมดเป็นตำแหน่งในขณะนั้น) ได้เดินทางไปร่วมพบปะและลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย และเป็นการนับหนึ่งของกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เป็นการพูดคุยกัน "บนโต๊ะ-เปิดเผย" เป็นครั้งแรก ไม่ใช่การพูดคุยในทางลับเหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมาในอดีต
ฉะนั้นหากจะนับว่าวันที่ 28 ก.พ.2556 คือวันเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คงไม่ผิดนัก และวันนี้เส้นทางของการพูดคุยก็เดินมาครบ 8 ปีเต็มแล้ว
แม้เส้นทางสายนี้จะลุ่มๆ ดอนๆ มีเหว มีหน้าผา มีทางขาด มีดินสไลด์ มีโคลนถล่ม ทำให้ขบวนรถที่ชื่อ "สันติภาพ-สันติสุข" ยังไปไม่ถึงจุดหมายเสียที แต่หลายคนก็ย้ำเตือนว่า ยังดีที่ยังมีเส้นทางสายนี้อยู่ เพราะการมีอยู่ก็เท่ากับยังมีความหวัง
จริงๆ แล้ววาระครบรอบกระบวนการพูดคุยสันติภาพ 28 ก.พ. เงียบหายไปหลายปี หลังจากโต๊ะพูดคุยที่สานต่อมาไม่มีความต่อเนื่อง ทั้งสะดุดหยุดลงและล้มเหลวมาหลายครั้ง หนำซ้ำล่าสุดยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชะงักงัน
ทว่าปีนี้กลับแตกต่างจากปีก่อนๆ เนื่องจากมีแอปพลิเคชั่นสำหรับการสื่อสารแนวใหม่ที่เรียกว่า Clubhouse ซึ่งกำลังบูมมากในประเทศไทย และประเด็นปัญหาภาคใต้ก็กำลังได้รับความนิยมตั้งเป็นหัวข้อแล้วเปิดห้องถกกัน หลังจากอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร จุดกระแสขึ้นจากการตอบคำถามว่า "จำไม่ได้" กับเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมขนาดใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตมากมายในยุคที่เขาเป็นรัฐบาล
และประเด็น 8 ปีกระบวนการสันติภาพก็ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันใน Clubhouse โดยเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโต๊ะพูดคุยในครั้งนั้นมาร่วมสนทนาแลกเปลี่ยน
ฉายภาพเบื้องหน้า : นับหนึ่งพูดคุย 28 ก.พ.
"ทีมข่าวอิศรา" ย้อนฉายภาพเบื้องหลังกระบวนการพูดคุยครั้งประวัติศาสตร์ ที่แม้หลายฝ่ายจะให้การสนับสนุนในแง่ที่ว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของการพูดคุยบนโต๊ะ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคงจำนวนมากที่มองว่าเป็นการตัดสินใจทางนโยบายที่ผิดพลาด และทำให้ไทยเสียเปรียบ
กระบวนการหน้าฉากก่อนการแถลงข่าวใหญ่ของผู้นำมาเลเซียกับผู้นำไทย คล้ายตัดริบบิ้นเปิดโต๊ะพููดคุยสันติภาพ คือ พล.ท.ภราดร และคณะ ซึ่งประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่หลายคนเรียกติดปากว่า "สามทหารเสือ" เดินทางถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ตั้งแต่บ่ายวันพุธที่ 27 ก.พ.2556 ด้านหนึ่งเพื่อเตรียมการก่อนการเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมประชุมประจำปีของทั้งสองประเทศ (Annual Consultation) ครั้งที่ 5 ในวันพฤหัสบดีที่ 28 ก.พ.โดยมีกำหนดการเข้าพบหารือกับ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ปุตราจายาด้วย
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง คณะของ พล.ท.ภราดร ได้เตรียมเปิดการพูดคุยกับแกนนำขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน จากการประสานงานและอำนวยความสะดวกของทางการมาเลเซีย ตามที่ได้ตกลงกันไว้ช่วงการเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างไม่เป็นทางการของ พล.ท.ภราดร และคณะเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า โดยให้ฝ่ายความมั่นคงมาเลเซียมีบทบาทเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" (facilitator) ให้เกิดการพูดคุย ขณะที่ พล.ท.ภราดร ในฐานะเลขาธิการ สมช. จะเป็นผู้แทนฝ่ายไทยในกระบวนการพูดคุยกับแกนนำขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหรือกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ
สำหรับผู้นำขบวนการกลุ่มแรกที่เข้าพบปะพูดคุยกับคณะของเลขาธิการ สมช. นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น
ต่อมาในวันหยุดสุดสัปดาห์ก่อนถึงวันที่ 28 ก.พ. มีการโหมโรงชิมลางให้สังคมไทยได้รับรู้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยรายการข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่งได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ นายกัสตูรี มาห์โกตา ที่อ้างตัวว่าเป็นประธานองค์กรพูโล โดยนายกัสตูรีบอกว่าเขาและพูโลพร้อมเจรจากับรัฐไทย และแม้เขาจะมีเป้าหมายคือเอกราชรัฐปัตตานี แต่ก็พร้อมรับฟังข้อเสนออื่นๆ ของไทย
กระทั่งวันที่ 28 ก.พ.ช่วงเช้า พล.ท.ภราดร ได้เข้าพิธีลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างว่าเป็นแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต โดยมีสื่อมวลชนมาเลเซียรายงานข่าวอย่างคึกคัก จากนั้นตอนบ่าย มีการแถลงข่าวร่วมกันของ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ปุตราจายา ภายหลังการประชุมประจำปีของผู้นำทั้งสองประเทศ (Annual Consultation) ครั้งที่ 5
นับเป็นการริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ในแบบ "บนโต๊ะ-เปิดเผย" โดยนายนาจิบ ราซัก ใช้คำว่า เป็นการหาความเห็นร่วมกัน (consensus) เพื่อนำไปสู่การพูดคุยสันติภาพ นับเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพที่จะนำไปสู่การยุติความรุนแรงและสันติภาพที่แท้จริงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ทั้งหมดนี้คือกระบวนการหน้าฉาก แต่กระบวนการหลังฉากมีการทำงานกันอย่างหนักตลอดหลายเดือนก่อนหน้านั้น
เบื้องหลังการถ่ายทำ : นับหนึ่งพูดคุย 28 ก.พ.
"จริงๆ วันที่ 28 ก.พ.เป็นแค่พิธีการ แต่การทำงานเราเริ่่มมาก่อนหน้านั้นหลายเดือน" พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งปัจจุบันเป็น ส.ส.และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เล่าย้อนอดีตให้ฟัง
"การทำงานมี 2-3 ส่วนหลักๆ คือ เตรียมความพร้อมในบ้านเราเอง ทำความเข้าใจกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และประสานกับทางมาเลเซีย" พ.ต.อ.ทวี แจกแจง
"บุคคลที่ไปร่วมกันทำงานก่อนวันที่ 28 ก.พ. ที่ไปประสานงานและทำงานหนักมีทุกหน่วย ทั้ง สมช. ก็คือ พล.ท.ภราดร, กระทรวงกลาโหม คือ พล.อ.นิพัทธ์, กองทัพบก คือ พล.ท.สุรวัช บุตรวงษ์ รองเสนาธิการทหารบก, ตำรวจ คือ พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และในพื้นที่เป็นผม และยังมีสภาที่ปรึกษา ศอ.บต., ผู้ว่าราชการจังหวัด, อาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี (คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี) ด้วย"
แต่งานหนักที่สุดในความเห็นของอดีตเลขาธิการ ศอ.บต. คือการทำความเข้าใจกับฝ่ายเราเอง
"กว่าจะทำความเข้าใจได้...ยากมาก" พ.ต.อ.ทวี กล่าวกลั้วหัวเราะ "ท่านที่มีบทบาทมากคือ ท่านจิราพร บุนนาค (อดีตรองเลขาธิการสมช. ; เสียชีวิตแล้ว) ท่านเดินสายประชุมเยอะมาก และพยายามทำความเข้าใจ เตรียมพร้อมทุกด้าน"
ประเด็นหนึ่งที่เห็นแตกต่างกันก็คือ การใช้กระบวนการพูดคุยเป็นธงนำในการแก้ไขปัญหา
"ก็มีบางคนใจร้อน อยากจะพูดคุยเร็วๆ แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่ยั่งยืน สถานการณ์จะยิ่งแรง ผมเสนอให้ใช้ความยุติธรรมนำหน้า ใช้การเยียวยาเพื่อสมานแผลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงก่อน"
จากข้อเสนอที่ภายหลังทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ทำให้เกิดการเยียวยาครั้งใหญ่ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย โดยเฉพาะเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ และเหตุการณ์ร้ายอื่นๆ ที่ก่อความสูญเสียในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่กระบวนการเรื่องความเป็นธรรมก็ได้รับการสานต่อในหลายๆ มิติ ทำให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่ช่วงนั้นเอื้อต่อการพูดคุย จึงเกิดกระบวนการหน้าฉากขึ้นในเวลาต่อมา
"หลักการสำคัญคือต้องฟังทุกคนทุกฝ่าย รัฐต้องไม่เข้าไปครอบงำ ต้องให้คนในพื้นที่ ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ พูดคุยหาข้อสรุปกันเอง" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
ความสำเร็จ vs ล้มเหลว : มุมมองที่แตกต่าง
จากการรวบรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากคนที่ร่วมอยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อ 8 ปีก่อน ทำให้ทราบว่าผู้นำฝ่ายบีอาร์เอ็นที่จะเข้าสู่โต๊ะพูดคุย จริงๆ แล้ว คือ สะแปอิง บาซอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคนชายแดนใต้และบรรดากลุ่มคนที่ต่อสู้กับรัฐ
แต่คนที่คัดค้านโมเดลการพูดคุยนี้ คือคนจากฝ่ายความมั่นคงที่ปัจจุบันยังอยู่ในอำนาจ ด้วยเหตุผลที่ว่า "จะกลายเป็นการยอมรับและยกระดับฝ่ายตรงข้าม" ทำให้ตัวเลือกถัดมาที่เข้าสู่กระบวนการพูดคุยคือ อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ (ฮาซัน ตอยิบ)
ยังมีอีกหลายเรื่องที่คนในกระบวนการพูดคุยฯหนนั้นมองว่า "ยังเดินไปไม่สุด" ทำให้สุดท้ายกระบวนการพูดคุยต้องหยุดชะงัก โดยคนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็คือคนจากฝ่ายความมั่นคงที่ปัจจุบันยังอยู่ในอำนาจ...คนเดิม
อย่างไรก็ดี ข้อมูลนี้เป็นคำบอกเล่าจากฝ่ายที่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพ 28 ก.พ.2556 เพราะหากสอบถามคนในอีกขั้วความคิดหนึ่งก็จะบอกว่า โต๊ะพูดคุยในครั้งนั้นทำให้ไทยเสียเปรียบและตกเป็นฝ่ายตามหลังบีอาร์เอ็นเรื่อยมา โดยเฉพาะการใช้ YouTube สื่อสารกับคนสามจังหวัดและประชาคมโลกอย่างเสรี รวมถึงการเสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้ออันแข็งกร้าว และพร้อมดึงนานาชาติเข้ามาร่วมในกระบวนการ เพราะฝ่ายไทยเองให้การยอมรับเสมือน Stamp ว่าขบวนการที่ชื่อ "บีอาร์เอ็น" มีอยู่จริง
และแล้วด้วยความไม่มีเอกภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปัญหาการเมืองภายในจากการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม กปปส. ทำให้กระบวนการพูดคุยหยุดชะงักลง และล้มเลิกไปในที่สุด
แม้โต๊ะพูดคุยและกระบวนการสันติภาพ 28 ก.พ.2556 จะกลายเป็นอดีตที่ไม่มีวันหวนคืนอีกแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ กระบวนการนี้กำลังเดินหน้าไปเรื่อยๆ ไม่ถอยหลัง แม้จะเปลี่ยนสมาชิกบนโต๊ะพูดคุยจากบีอาร์เอ็นภายใต้การนำของ อุสตาซฮาซัน ตอยิบ เป็นกลุ่ม "มารา ปาตานี" เมื่อปี 2558 และกลับมาเป็น "บีอาร์เอ็น" ภายใต้การนำของ อุสตาซหีพนี มะเร๊ะ อีกครั้งในปี 2563 ก็ตาม
เพราะเมล็ดพันธุ์ของกระบวนการสันติภาพที่ผ่านการรดน้ำพรวนดินเอาไว้ ได้เติบใหญ่เป็นกระบวนการที่ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติอื่นๆ ไปแล้ว จึงเหลือเพียงความท้าทายว่ารัฐไทยจะใช้ประโยชน์จากกระบวนการนี้ได้มากน้อยแค่ไหน...เท่านั้นเอง