"อยากให้ถอนคำพูด แบบนี้มันยิ่งมาตอกย้ำความรู้สึก ความเจ็บปวดอีก ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้มันก็จะดีอยู่แล้ว มาย้ำให้เจ็บอีก" เป็นเสียงจาก คอรีเยาะ หะหลี ที่ต้องสูญเสียพ่อจากเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดกรือเซะ
"ไม่พอใจมากที่เขาพูดแบบนั้น เพราะเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ผู้ได้รับผลกระทบไม่มีคำบรรยายที่จะบอกว่าเจ็บปวดขนาดไหน แต่ฝ่ายที่กระทำเหมือนทำแล้วลืมไป ไม่รับผิดชอบ" เป็นเสียงจาก แยนะ สะแลแม มารดาของเหยื่อเหตุการณ์ตากใบ
ถือเป็นความรู้สึกจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากทั้ง 2 เหตุการณ์ คือ "กรือเซะ" และ "ตากใบ" ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 หรือเกือบ 17 ปีที่แล้ว แต่กลับถูกปลุกให้กลายเป็นกระแสอีกครั้ง จากกิจกรรมพูดคุยผ่าน "คลับเฮาส์" (Clubhouse) แอปพลิเคชั่นสนทนาแบบกลุ่มที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศไทย โดยอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้ชื่อบัญชีว่า Tony Woodsome
ช่วงค่ำของวันจันทร์ที่ 22 ก.พ.64 สังคมไทย โดยเฉพาะผู้ที่นิยมเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ พากันตื่นตาตื่นใจเมื่อบุคคลระดับอดีตนายกฯ เข้าร่วมสนทนาในห้องที่ชื่อว่า "ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้" ทางแอปพลิเคชั่น Clubhouse อันเป็นกิจกรรมของกลุ่ม "CARE คิด เคลื่อนไทย" โดยมีอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทยร่วมพูดคุยกันหลายคน ในหลากหลายประเด็น ส่วนใหญ่เป็นนโยบายเด่นของรัฐบาลในยุคนั้น เช่น กองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค, 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP
ช่วงหนึ่งของการพูดคุย มีสมาชิกในกลุ่มยกมือถามอดีตนายกฯทักษิณ เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย แต่อดีตนายกฯทักษิณ ตอบเพียงว่า "รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ตอนนั้นอยู่ในการควบคุมของทหาร ผมก็ได้รับรายงาน ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้ เสียใจ"
จากคำตอบของอดีตนายกฯที่ปฏิบัติหน้าที่และมีอำนาจเต็มในขณะเกิดโศกนาฏกรรมทั้ง 2 เหตุการณ์ คือ ทั้งกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 และตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ปีเดียวกัน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 ศพ ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงผลผลิตจากการบริหารงานของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของนายทักษิณในช่วงนั้น รวมไปถึงคดีฆ่าตัดตอนยาเสพติด 2,500 ศพด้วย โดยหลายคนเห็นตรงกันว่าล้วนเป็นความผิดพลาดจากการกำหนดนโยบาย
@@ "ลูกเหยื่อกรือเซะ" จี้ถอนคำพูด
คอรีเยาะ หะหลี แกนนำสตรีบ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ผู้สูญเสียบิดาในเหตุการณ์กราดยิงที่มัสยิดกรือเซะ กล่าวว่า อยากให้อดีตนายกฯถอนคำพูด เพราะการพูดแบบนี้ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกและความเจ็บปวด ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้ก็จะดีอยู่แล้ว แต่กลับมาย้ำให้เจ็บอีก
"ทักษิณเป็นระดับผู้นำในตอนนั้น เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง เขาออกคำสั่งให้ในพื้นที่กระทำต่อพี่น้องตากใบ กระทำต่อพี่น้องกรือเซะ ฉะนั้นควรจะมีความรับผิดชอบมากกว่านี้"
คอรีเยาะ บอกว่า รู้สึกผิดหวังมากที่นายทักษิณอ้างว่า "จำไม่ได้" กับเหตุการณ์ร้ายระดับโศกนาฏกรรม
"สิ่งที่ควรพูดไม่ใช่เรื่องที่จะมาบอกว่าจำไม่ได้ คนที่มีภาวะความเป็นผู้นำควรจะหาข้อมูลและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะมันเป็นความรับผิดชอบที่เขาจะต้องตอบ คำถามให้ได้ แต่การที่มาบอกว่าจำไม่ได้ หรือลืมไปแล้ว ไม่ควรพูดเลย มันแสดงให้เห็นว่าเขาไม่เคยคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน ไม่เคยเห็นประชาชนอยู่ในหัวใจ แทนที่จะถนอมความรู้สึกของคนในพื้นที่บ้าง แทนที่จะพูดในลักษณะของความคืบหน้าในการดำเนินการ หรือเรื่องอยู่ในขั้นไหนของกระบวนการยุติธรรม กลับมาบอกว่าจำไม่ได้"
แกนนำสตรีบ้านส้ม เรียกร้องให้อดีตนายกฯขอโทษ และถอนคำพูดที่ได้พูดผ่านแอปพลิเคชั่นยอดนิยม
"สิ่งที่อยากฟังคือคำขอโทษ ส่วนคำว่าเสียใจ ใครๆ ก็เสียใจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น ตากใบเป็นความผิดที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง ไปซ้อมคน ไปทำให้เขาขาดอากาศหายใจ คุณต้องขอโทษ ต้องแสดงความเสียใจที่มาจากใจที่รู้สึกจริงๆ ให้จริงใจกว่านี้"
@@ แกนนำเหยื่อตากใบ ฉะ "ไม่รับผิดชอบ"
แยนะ สะแลแม หรือ "ก๊ะแยนะ" แกนนำผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า เมื่ออดีตนายกฯบอกว่าจำไม่ได้ ก็ขอให้มาที่นี่ (อ.ตากใบ จ.นราธิวาทส) จะเล่าให้ฟัง
"คนที่นี่ยังจำได้ดี คนที่นี่ยังจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ตลอด ทำชาวบ้านเหมือนไม่ใช่มนุษย์ จะไม่ให้จำได้อย่างไร" ก๊ะแยนะ ย้อนถาม
"ฉันเห็นแล้วในโซเซียลฯ ที่มีการพูดถึงตากใบ กรือแซะ ก็ยังรู้สึกแปลกใจ ถามตัวเองว่าวันนี้วันอะไรคนถึงออกมาพูดถึงเหตุการณ์ตากใบ กับเหตุการณ์กรือแซะ ก็งงๆ ก็มาเข้าใจตอนหาข้อมูล รู้ว่าทักษิณออกมาบอกว่าจำไม่ได้ ก็ขอฝากบอกทักษิณให้โทรหาก๊ะแยนะ จะช่วยบอกให้ คนที่นี่ยังจำได้ดี"
ก๊ะแยนะ ยอมรับว่า ไม่พอใจอย่างมากที่ได้ทราบคำพูดของอดีตนายกฯ
"ก๊ะ (ป้า) รู้สึกไม่พอใจมากที่เขาพูดแบบนั้น เพราะการกระทำที่เกินขึ้นมันเป็นการทำเกินกว่าเหตุ ทำเกินกว่าอะไรทุกอย่าง แต่เขามาบอกว่าจำไม่ได้ ก็โกรธนะ ถ้าคิดแบบนั้นแปลว่าเขาไม่ได้รู้สึกอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ในขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบไม่มีคำบรรยายที่จะบอกว่าเจ็บปวดขนาดไหน แบบนี้ก็เหมือนทำแล้วลืมไป ไม่รับผิดชอบ"
ส่วนที่อดีตนายกฯเปรยว่าเสียใจ ในฐานะแกนนำผู้สูญเสีย ยืนยันว่าไม่เพียงพอ
"มันยังไม่พอ แต่ถ้ามาพูดว่าจะทำอย่างไรก็ยอมรับผิดนะ ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นขนาดนั้น ก็จะรู้สึกดีกว่านี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นทำให้คนที่รู้สึกแค้น ออกมาแก้แค้นและก่อเหตุมาจนทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นก็จากวันนั้น เพราะทุกคนมองเห็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำวันนั้นเหมือนไม่ใช่คน"
@@ กรือเซะกับโศกนาฏกรรม 109 ศพ
เหตุการณ์กรือเซะเป็นเหตุรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดตลอด 17 ปีไฟใต้ คือ 109 ราย และทำให้วันที่ 28 เมษายน กลายเป็น "วันสัญลักษณ์" วันหนึ่งที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรึงกำลังเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย
"เหตุการณ์กรือเซะ" ที่คนสนใจปัญหาภาคใต้เรียกกันจนติดปากนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะ อ.เมืองปัตตานี เพียงแห่งเดียว เพียงแต่ที่มัสยิดกรือเซะมีความสูญเสียมากที่สุด คือมีผู้เสียชีวิตมากถึง 32 ราย แต่ในวันเดียวกันนั้นยังมีความสูญเสียในจุดอื่นๆ อีก 10 จุด รวมทั้งสิ้น 11 จุด
ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 28 เม.ย.2547 มีกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์บุกโจมตีป้อมจุดตรวจของทหารและตำรวจ รวมที่มัสยิดกรือเซะด้วยเป็น 11 จุดใน 3 จังหวัด คือ จ.ปัตตานี ยะลา และสงขลา
หนึ่งในนั้นอยู่ที่จุดตรวจบ้านกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมืองปัตตานี มีการยิงต่อสู้กัน ทำให้กลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์ที่บุกโจมตี วิ่งหลบหนีเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ ซึ่งน่าจะมีประชาชนปฏิบัติศาสนกิจด้านในอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ต่อมาเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ ได้นำกำลังไปล้อมมัสยิดเอาไว้ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย ก่อนตัดสินใจใช้อาวุธหนักยิงถล่ม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 32 ราย ส่วนจุดอื่นๆ ก็มีผู้เสียชีวิตทุกจุด รวมแล้ว 109 คน
ปลายปี 2555 รัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จ่ายเงินเยียวยาในอัตราใหม่ให้กับครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์กรือเซะทั้งหมด 109 ราย ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 2 นาย รวมจ่ายเงินเยียวยาทั้งสิ้น 302 ล้านบาท
หลังเหตุการณ์กรือเซะ มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริง ผลการไต่สวนสรุปว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการในวันนั้นกระทำการเกินกว่าเหตุ แต่ในทางคดีกลับไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งไม่มีการลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่แม้แต่คนเดียว แต่มีผู้ต้องหาซึ่งเป็นประชาชนถูกจับกุมและถูกดำเนินคดี 1 คน คือ นายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ
อับดุลรอนิง ถูกจับกุมได้ที่หน้า สภ.แม่ลาน จ.ปัตตานี หนึ่งในจุดที่มีการโจมตี เขาถูกฟ้องคดีต่อศาล และศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต แม้เขาจะอ้างว่าไม่รู้เรื่องการโจมตีโรงพักแม่ลานเลยก็ตาม
@@ "ตากใบ" ขาดอากาศหายใจ...ใครทำ?
เหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 หรือวันที่ 11 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) 1425 สืบเนื่องจากการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเนื่องจากยักยอกปืนของทางราชการ แต่แจ้งความเท็จว่าถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชิงไป (ช่วงนั้นเกิดเหตุคนร้ายชิงปืนจาก ชรบ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านบ่อยครั้ง จนทางราชการต้องคาดโทษ)
ชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่า ชรบ.ทั้ง 6 คนเป็นผู้ยักยอกปืน จึงมีการจัดชุมนุมขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่าเป็นการพยายามจัดฉากให้เกิดความรุนแรง
การรวมตัวของผู้ชุมนุมหลายพันคนเริ่มบานปลายและคุมไม่อยู่ จนเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ตัดสินใจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการจำนวน 7 ราย (5 รายมีบาดแผลถูกยิงบริเวณศีรษะ) ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย
แต่การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากเกิดขึ้นระหว่างการขนย้ายผู้ถูกจับกุมจากหน้า สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้วิธีให้ถอดเสื้อและมัดมือไพล่หลัง จับขึ้นไปนอนเรียงซ้อนทับกันบนรถยีเอ็มซีของทหาร ทำให้ผู้ชุมนุมซึ่งอ่อนเพลียอยู่แล้วจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนต้องขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตถึง 78 ราย
"ตากใบ" กลายเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตในคราวเดียวกันมากถึง 85 ศพ และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไม่สามารถพิสูจน์ความผิดได้ว่าเกิดจากใครและด้วยเหตุผลใด มีเพียงคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายที่ว่า ผู้ตาย "ขาดอากาศหายใจ" แต่หาคำตอบไม่ได้ว่าใครทำ และคดีตากใบก็เป็นอีกหนึ่งคดีที่ไม่ถูกส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 3 ศาลไม่ต่างจากกรือเซะ
เมื่อมีความสูญเสียก็ต้องมีการเยียวยา โดยตัวเลขเงินเยียวยากรณีตากใบในภาพรวมที่รัฐบาลจ่ายไปแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 641,451,200 บาท ทั้งนี้ไม่นับรวมค่าเสียหายทางแพ่งที่กองทัพบกจ่ายในคดีแพ่ง และไม่นับรวมถึงเงินเยียวยาเบื้องต้นหลังเกิดเหตุที่มีจ่ายกันประปราย
ในจำนวนเงินเยียวยา 641,451,200 บาท แยกเป็น
- ผู้เสียชีวิต 85 ราย เป็นเงิน 561,101,000 บาท
- ผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย จ่ายไปแล้ว 49 ราย เป็นเงิน 60,455,000 บาท โดยผู้ที่ยังตกหล่นอีก 2 คน คือ นายเจะลาซิ ทวีศักดิ์ กับ นายวัรตี มูซอ ไม่สามารถติดต่อได้ และเจ้าตัวไม่มาแสดงตน
- ทุพพลภาพ 1 ราย เป็นเงิน 6,380,000 บาท
- ผู้ที่ถูกรัฐดำเนินคดีแล้วอัยการถอนฟ้อง 58 ราย เป็นเงิน 2,025,200 บาท
- ผู้ที่ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี 1,280 ราย จ่ายไปแล้ว 766 ราย เป็นเงิน 11,490,000 บาท ส่วนที่เหลือ ไม่ได้มาแสดงตน
จากยอดรวมของเงินเยียวยา 641,451,200 บาท ซึ่งยังจ่ายไม่ครบเสียทีเดียว หากนำไปรวมกับค่าเสียหายทางแพ่งที่กองทัพบกจ่ายไปแล้ว 42 ล้านบาทเมื่อราวปี 2550 และเงินเยียวยาเบื้องต้นหลังเกิดเหตุอีกจำนวนหนึ่ง ย่อมเท่ากับว่าตลอด 9 ปีหลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นตัวเงินไปแล้วทั้งสิ้นราว 700 ล้านบาท!
ทั้งนี้ ยังไม่นับมูลค่าความสูญเสียทางจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิต ทุพพลภาพ และได้รับบาดเจ็บซึ่งประเมินค่ามิได้ ทั้งยังไม่รวมถึงความสูญเสียด้านภาพลักษณ์ของประเทศ และการสูญสิ้นศรัทธาที่มีต่อรัฐไทยของประชาชนกลุ่มใหญ่ กระทั่งถูกกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนนำไปใช้เป็นเงื่อนไขขยายมวลชนและก่อความรุนแรงต่อเนื่องมา จนกลายเป็นความเสียหายที่ยังไม่หยุดยั้งและยังไม่จบสิ้น
ทั้งเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ นอกจากจะถูกพูดถึงในแง่ของโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ทำให้มีผูู้สูญเสียจำนวนมากแล้ว ยังถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในแง่ของความเหลื่อมล้ำ และ "คนไม่เท่ากัน"
และคำกล่าวของอดีตนายกฯทักษิณ ดูจะยิ่งตอกย้ำบาดแผลในใจของผู้คนในแง่นี้!