ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 ก.พ.64 ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีการอนุมัติงบโครงการมูลค่ากว่า 600 ล้านบาทที่มิอาจมองข้าม
โครงการนี้ว่านี้คือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดระเบียบชายแดน กิจกรรมการเสริมสร้างรั้วตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ระยะเร่งด่วน แนวเขตชายแดนพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่เสนอโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า งบประมาณเบื้องต้น 642,813,287.13 บาท โดยอ้างอิงถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในคราวประชุมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อเดือน พ.ย. ปี 60
โครงการนี้ถูกเสนอผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นมาตามลำดับ กระทั่งในการประชุมร่วมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ใช้เวลาถึง 3 ปี กระทั่งล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 63 กอ.รมน.ได้รับความเห็นชอบให้ขอรับการสนับสนุน "งบกลาง" ประจำปีงบประมาณ 2564 เป็นกรณีเร่งด่วน ในการดำเนินโครงการ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ รวมถึงควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการลักลอบข้ามแดน พร้อมชงเข้าที่ประชุม คปต.ที่มีรองนายกฯประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ผ่านฉลุยไปตามระเบียบ
รายละเอียดของโครงการ คือการสร้างรั้วชายแดนรูปแบบต่างๆ ตามที่ กอ.รมน.เสนอ ดังนี้
1. ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก บริเวณเขต อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ระยะทาง 7.528 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 467,023,729.84 บาท
2. ก่อสร้างรั้วตาข่ายเหล็กชายแดนสูง 2 เมตร ระยะทาง 15 กิโลเมตร วงเงิน 114,687,66.27 บาท
3. ก่อสร้างรั้วความมั่นคงอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวทางชายแดน ระยะทาง 6 กิโลเมตร วงเงิน 52,750,400 บาท บริเวณชุมชนบ้านตาบา ต.เจ๊ะเห ต.เกาะสะท้อน ต.โฆษิต และ ต.นานาค
4. สร้างฐานปฏิบัติการชุดเฝ้าตรวจชายแดนไทย-มาเลเซีย จำนวน 3 ฐาน ในพื้นที่บ้านตะเหลียง ต.เกาะสะท้อน บ้านศรีพงัน ต.เกาะสะท้อน และบ้านตาเซะ ต.นานาค อ.ตากใบ วงเงิน 6,051,511.02 บาท
5. การอำนวยการและการสร้างความเข้าใจ วงเงิน 2,300,000 บาท
ทั้งนี้ กอ.รมน.มีแผนงานก่อสร้างระหว่างเดือน ต.ค.64 ถึง ก.ย.67 สำหรับแผนงานที่เสนองบประมาณเพื่อจัดการโควิด-19 ระลอกใหม่ มีการเตรียมเสนอของบประมาณรายจ่ายบูรณาการในปี 2565 ด้วย
อีกด้านหนึ่ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือถึงสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อสนับสนุนโครงการรั้วชายแดน โดยระบุว่า กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการนี้มีส่วนในการสนับสนุนภารกิจการป้องกันชายแดนตามยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง และอาจช่วยเสริมศักยภาพในการแก้ไขปัญหาการสูญเสียดินแดนจากน้ำกัดเซาะตลิ่งได้ โดยมีข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ควรสร้างความเข้าใจทั้งประชาชนไทยและมาเลเซีย เนื่องจากวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำสุไหงโก-ลก มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงการติดต่อค้าขาย ผ่านการข้ามแดนทางแม่น้ำโก-ลก มาตั้งแต่อดีต
2. กรณีการดำเนินโครงการฯในที่ดินเอกชน เห็นควรดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ส.ค.2550 เกี่ยวกับหลักการและแนวทางปฏิบัติที่ทางราชการ ขอให้ราษฎรอุทิศที่ดินให้ หรือกรณีเข้าไปดำเนินการในที่ดินของเอกชนเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันที่สำคัญ คือ ให้หน่วยงานที่ได้รับอุทิศ หรือให้เข้าไปดำเนินการในที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน จัดทำหนังสือแสดงความประสงค์เกี่ยวกับการอุทิศ หรือยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการ หากจดทะเบียนและนิติกรรมรับโอนที่ดินหรือใช้ประโยชน์ร่วมกันกับสำนักงานที่ดินได้ ให้ดำเนินการด้วย
3. กรณีงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งและรั้วชายแดน ขอให้พิจารณาเรื่องสภาพภูมิประเทศ ปฐพีกลศาสตร์ และสภาพแวดล้อม
นอกจากนี้ ในส่วนของงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ขอให้มีความพร้อมในการจัดเตรียมวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะวัสดุหินใหญ่ที่ต้องใช้จำนวนมาก รวมทั้งต้องพิจารณาเรื่องระดับน้ำของแม่น้ำโก-ลก ตามฤดูกาลต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง
4. เห็นควรดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 ต.ค.2542 และ 10 พ.ค.2548 ที่ระบุไว้ว่า หากจะมีการก่อสร้างถนนหรือกระทำกิจการใดๆ ตามบริเวณชายแดน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสันปันน้ำและหลักเขตแดน ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบได้ประสานกับกองบัญชาการทหารสูงสุด โดยกรมแผนที่ทหาร และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมกันตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการ รวมทั้งควรแจ้งประเทศมาเลเซียรับทราบก่อนดำเนินโครงการฯ เนื่องจากงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งฯ อาจส่งผลต่อ เส้นทางเดินน้ำและผลกระทบต่อตลิ่งของประเทศมาเลเซีย