ยื่นไปเรียบร้อย! สำหรับ "ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล" ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน
นับเป็นการยื่นญัตติรอบที่ 2 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 เป็นต้นมา
ตลอดระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษ ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมีหัวข้อเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้พ่วงอยู่ด้วย บางครั้งก็เป็นประเด็นหลัก บางครั้งก็เป็นประเด็นเสริม
ทว่าในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มดีขึ้น สถิติเหตุรุนแรงลดระดับลงจนเกือบเป็นปกติ แต่ปัญหา "ไฟใต้" ก็ยังได้รับความสนใจ ทว่าได้ปรับทิศทางไปเป็นปัญหาการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า รวมถึงบทบาทของหน่วยงานความมั่นคงในการละเมิดสิทธิ์ และล่วงล้ำเสรีภาพของประชาชนมากกว่า
แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจหนล่าสุดนี้ ซึ่งจะมีการอภิปรายเปิดญัตติกันระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.64 มีแนวโน้มที่ประเด็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ๋ หรือ "เมกะโปรเจค" ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะถูกหยิบยกขึ้นมาซักฟอก โดยเฉพาะโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา
เพราะมีชื่อ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อยู่ในลำดับ 9 จาก 10 รัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล แม้ข้อความในญัตติที่บรรยายถึงสาเหตุของการที่ต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจนายนิพนธ์ จะไม่ได้ระบุเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะอย่างชัดเจนก็ตาม
"ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนป็นสำคัญ"
นี่คือถ้อยคำในญัตติที่่ฝ่ายค้านยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำให้มีการตีความไปว่า นายนิพนธ์ น่าจะถูกอภิปรายเรื่องที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล กรณีไม่จ่ายเงินค่าจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ จำนวน 2 คัน มูลค่ากว่า 51 ล้านบาท ให้กับบริษัทเอกชน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา โดยนายนิพนธ์ไม่ได้แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งหลังถูกชี้มูล
แต่เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายนิพนธ์ เจ้าตัวกลับมั่นใจว่า เรื่องที่ ป.ป.ช.ชี้มูล น่าจะเป็นแค่น้ำจิ้ม หรือ "ขี่้ม้าเลียบค่าย" เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ประเด็นที่ฝ่ายค้านตั้งใจจะอภิปราย น่าจะเป็น "โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ" มากกว่า เนื่องจากเป็นการจองกฐินอภิปรายโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งให้ความสำคัญกับโครงการนี้อย่างมาก
"ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาพื้นที่ในเขต อ.จะนะ จ.สงขลา ในโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ซึ่งจะนะเป็นพื้นที่ที่ถูกเลือกให้เป็นเมืองต้นแบบตั้งแต่ปี 59 เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแผนของ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เพื่อพัฒนาพื้นที่ และสร้างงานสร้างเศรษฐกิจที่ดีขึ้นให้คนในพื้นที่" นายนิพนธ์ กล่าว
และว่า "ที่ผ่านมาทราบว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ ส.ส.พรรคก้าวไกลหลายคนได้ลงพื้นที่มาเก็บข้อมูลหลายครั้งแล้ว ซึ่งโครงการนี้เป็นการเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนโดยไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแม้แต่บาทเดียว และอยู่ในขั้นตอนการเชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุน แต่กลับถูกบางกลุ่ม บางคนพูดความจริงไม่หมด ไม่ครบ ใช้ข้อมูลบิดเบือนในสื่อโซเชียลฯพาดพิงถึงผม ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่มีการยื่นอภิปรายในเรื่องนี้ ผมจะได้ชี้แจงเหตุผลต่อสังคมในวงกว้างให้ได้เข้าใจเรื่องทั้งหมด และพร้อมที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาในทุกเรื่องที่ฝ่ายค้านจองกฐินที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจผม เพราะมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้ว่าทำถูกต้องโดยยึดหลักกฎหมายและประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ"
นี่คือข้อความที่สื่อมวลชนหลายสำนักอ้างคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ" นั้น มีมติคณะรัฐมนตรี (มติ ครม.) ที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ฉบับด้วยกัน ได้แก่
1. มติ ครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 "เห็นชอบในหลักการ" การขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่ เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" และการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบฯ อ.จะนะ จ.สงขลา ตามที่ ศอ.บต.เสนอ พร้อมให้ ศอ.บต.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในขั้นตอนต่อไปให้เป็นไปตามกฎหมาย
2. มติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.63 "รับทราบ" การประกาศกำหนดให้ อ.จะนะ จ.สงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 "เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และ "เห็นชอบ" ในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับแผนงานดังกล่าว ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. มติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ส.ค.63 "รับทราบ" ผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ครั้งที่ 1/2563 จำนวน 5 เรื่อง หนึ่งในนั้นเป็นการ "รับทราบ" ผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2563 ที่โรงเรียนจะนะวิทยา ซึ่งกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ นำโดย "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" อ้างว่าไม่มีการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้คัดค้านโครงการได้มีส่วนร่วมในเวทีด้วย
และจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ส.ค.63 ได้นำไปสู่การแก้ไขผังเมือง โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดสงขลา วันที่ 28 ก.ย.63 ให้เปลี่ยนแปลงผังเมืองอำเภอจะนะรวม 3 ตำบล คือ ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน จาก "สีเขียว" เป็น "สีม่วง" เพื่อเปิดพื้นที่ให้ก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม (อ่านประกอบ : รัฐยอมถอยรับข้อเรียกร้องม็อบต้านนิคมฯจะนะ ลุ้นมติ ครม.วันนี้ กลุ่มหนุนจ่อฮือ)
ตลอดมามีข่าวจากกลุ่มที่ต่อต้านโครงการว่า การเร่งผลักดันโครงการนี้อย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ เป็นเพราะมีนักการเมืองระดับชาติบางคนได้ประโยชน์
ต่อมาช่วงกลางเดือน ธ.ค.63 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้ไปรวมตัวประท้วงแบบ "อหิงสา" ที่ด้านข้างทำเนียบรัฐบาล โดยฝ่ายรัฐบาลได้ส่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเจรจากับแกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกันในการทบทวนการผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกลุ่มสนับสนุนโครงการ กลุ่มผู้คัดค้านโครงการ และนักวิชาการที่เป็นกลาง เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ใหม่ทั้งหมด
จากนั้นเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ก่อนปีใหม่เพียงไม่กี่วัน ร.อ.ธรรมนัส ได้ลงพื้นที่ อ.จะนะ เป็นครั้งแรก และได้พบปะพุดคุยกับมวลชนทั้งสนับสนุนและคัดค้านโครงการ พร้อมทั้งบอกว่าจะเก็บข้อมูลทั้งหมดไปพิจารณา และให้คำมั่นว่า "จะไม่ทำให้เจ้าของบ้านเสียหาย" (อ่านประกอบ : "ธรรมนัส"บุกจะนะ ฟังกลุ่มหนุน-ค้านนิคมอุตสาหกรรม)