ชาวประมงพื้นบ้าน 8 ตำบล ปัตตานี ร้องฝ่ายการเมืองช่วยสะสางปัญหาขุดลอกอ่าวปัตตานี รวมทั้งการใช้ "ไอ้ไง่" เครื่องมือทำประมงผิดกฎหมาย เหตุกระทบการประกอบอาชีพ ทำรายได้ลดฮวบ ขณะที่ทีม ส.ส.ชายแดนใต้ พร้อม อบจ.ปัตตานี บุกรับฟังปัญหา พร้อมให้คำมั่นเร่งแก้ไข
จากการขุดลอกอ่าวปัตตานีของกรมเจ้าท่า ซึ่งดำเนินการมาเกือบ 2 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาความตื้นเขินของอ่าวปัตตานี ทางผู้รับเหมาและกรมเจ้าท่า ไม่ได้นำวัสดุจากการขุดลอกไปทิ้งในบริเวณที่กำหนด แต่พบว่า มีการนำไปทิ้งบริเวณอ่าวไทยห่างจากปัตตานีเพียงบางส่วน มีการนำไปทิ้งบนฝั่งเพียงจุดเดียว ผลกระทบจากการทิ้งวัสดุขุดลอกที่โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ไม่ได้แก้ไขปัญหาความตื้นเขินของอ่าวปัตตานีแต่อย่างใด
ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ 8 ตำบลรอบอ่าวปัตตานี คือ ต.แหลมโพธิ์ ต.ตะโละกาโปร์ ต.ยามู ต.บางปู (อยู่ในอำเภอยะหริ่ง) ต.บาราโหม ต.ตันหยงลุโละ ต.บานา ต.รูสะมิแล (อยู่ในเขตอำเภอเมืองปัตตานี) ซึ่งประกอบอาชีพทำการประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ได้รับผลกระทบทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลชายฝั่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุมาจากการนำตะกอนทรายและวัสดุขุดลอกไปทับถมบริเวณแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ทั้งยังทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนไป เกิดเกาะแก่งเนินทรายสันดอนทรายกลางอ่าวมากขึ้น เป็นอุปสรรคในการสัญจรทางทะเลเวลาน้ำลง ทำให้รายได้ลดลงและมีต้นทุนในการทำประมงที่เพิ่มขึ้น
นอกจากประเด็นปัญหาผลกระทบจากการขุดลอกอ่าวปัตตานี ชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือประมงอวนลอยยังได้รับผลกระทบจากการที่ีมีชาวประมงบางกลุ่มใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายที่เรียกว่า "ไอ้โง่" ซึ่งส่งผลให้สัตว์น้ำทะเลชายฝั่งมีจำนวนลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ขัด และได้ขัดขวางการทำประมงอวนลอย ซึ่งประเด็นปัญหาดังกล่าว ชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี เคยได้ไปร้องเรียนหน่วยงานที่รับผิดชอบ
สำหรับอุปกรณ์จับสัตว์น้ำที่เรียกว่า "ไอ้โง่" นั้น บางคนเรียกว่า "คอนโดฯดักปลา" เป็นอุปกรณ์ทำประมงผิดกฎหมายชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็น "ลอบ" แบบพับได้ มีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขวา เมื่อเข้าแล้วออกไม่ได้ สามารถดักสัตว์น้ำทั้งเล็กและใหญ่ได้ทุกชนิด โดยเครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดนี้ หากใครฝ่าฝืนใช้ มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี และปรับ 1 - 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางตัวแทนชาวบ้านจาก 8 ตำบลได้มีข้อเสนอต่อการแก้ปัญหานี้ ณ ที่ทำการชมรมประมงพื้นบ้าน ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยมี นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดชายแดนใต้ เข้าร่วมรับฟังและหาทางออกร่วมกัน
สำหรับข้อเรียกร้องจากสภาประชาชนจังหวัดปัตตานีและชมรมประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี เพื่อให้ ส.ส.ชายแดนใต้นำประเด็นปัญหาดังกล่าวไปแก้ไข โดยใช้กลไกรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ใขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนดังนี้
1.ขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสันดอนทรายที่ทิ้งไว้กลางอ่าวปัตตานี ที่สร้างผลกระทบต่อการทำมาหากิน การเดินเรือ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และระบบนิเวศทางทะเลอย่างเร่งด่วน
2.ขอให้ดำเนินการบังคับใช้กฏหมาย ปราบปราม การใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายตามประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ชาติ (ม44) ที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ที่เป็นปัญหาระหว่างชาวบ้านมาอย่างยาวนาน เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งให้กลับมาเหมือนเดิมโดยเร็ว
3.ขอให้ดำเนินการฟื้นฟูอ่าวปัตตานีให้ลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ผ่านการแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากอ่าวปัตตานีโดยตรง นักวิชาการ ภาคประชาสังคม หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องงบประมาณและผลักดันอ่าวปัตตานี เป็นวาระของจังหวัดปัตตานี เพื่อเฝ้าติดตามกระบวนการนำวัสดุขุดลอกไปทิ้งและปัญหาเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูอ่าวปัตตานีเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการขุดลอกอ่าวอย่างสมเหตุสมผลหรือเป็นกองทุนเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมฟื้นฟูอ่าวปัตตานี
นายอันวาร์ สาและ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ปัตตานี กล่าวว่า ได้รวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีทั้ง 8 ตำบล ทั้งเรื่องผลกระทบจากการขุดลอกอ่าวปัตตานี และเรื่องที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ใช้ไอ้โง่ ซึ่งเป็นเครื่องมือทำการประมงผิดกฎหมาย แต่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ต่อจากนี้ตนกับผู้แทนทั้งหมดที่มารับฟังปัญหาของชาวบ้าน จะหารือในสภาผู้แทนราษฎร นำเอาข้อมูลจากทุกฝ่ายทุกหน่วยงานที่ร่วมกันมาหาทางออกนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระต่อไปเพื่อได้รับการแก้ไขให้เร็วที่สุด
นายบัณฑิต อับดุลบุตร ผู้แทน ส.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา กรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่ง กล่าวว่า ความเดือดร้อนของพี่น้องรอบอ่าวปัตตานีในความตื้นเขินของอ่าว ถ้าอ่าวมีความลึกจะแก้ปัญหาได้ ได้ศึกษาข้อมูลลงพื้นที่เมื่อ มิ.ย.63 ชาวบ้านส่วนใหญ่บอกว่า ได้รับผลกระทบจากสันดอนทราย กรมเจ้าท่าบอกว่า สันดอนทรายที่เกิดขึ้นคือมีอยู่เดิม ไม่ได้เกิดจากการขุด บอกว่า ชาวบ้านอยากได้สันดอนทราย เมื่อนำเรียนต่อ ครม.ให้ลงสำรวจความต้องการและไม่ต้องการของชาวบ้าน มีการสอบถามกว่า 300 ราย ผลออกมา 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องการสันดอนทรายที่ไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ ยังไม่มีการสรุปการแก้ปัญหา คงต้องมีการขุดออกไปก่อน ให้ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้ก่อน ส่วนเรื่องของไอ้โง่ ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ขอให้ นายก อบจ.และ ผู้ว่าราชการจังหวัด ออกเป็นประกาศจังหวัดปัตตานีเป็นเรื่องด่วน
นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวสรุปว่า จะดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวคู่ขนานกับเรื่องของประกาศจังหวัด นำไปหารือกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดในการห้ามจำหน่ายอุปกรณ์ต่างๆ เรื่องของน้ำเสียในเขตอุตสาหกรรม จะไปหารือกับอุตสาหกรรมจังหวัดว่า มีการทิ้งน้ำเสียของโรงงานลงสู่ทะเลอีกหรือไม่ และประสานความคืบหน้าให้กับผู้แทนชมรมประมงพื้นบ้านฯ เป็นระยะๆ รวมทั้งได้รับความร่วมมือจาก ส.ส.ชายแดนใต้ทุกคนและเรื่องนี้สามารถเข้าได้ทุกช่องของคณะกรรมาธิการ