กรณีจับแรงงานต่างด้าว 15 คน ได้ที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี เมื่อวันเสาร์ที่ 16 ม.ค.64 น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สามารถรวบตัว "ผู้นำพา" ได้ด้วย
แรงงานต่างชาติกลุ่มนี้เดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล 4 คัน ทั้งเก๋งและกระบะ คันหนึ่งเป็นรถหรูมิตซูบิชิ ปาเจโร่ ใช้เส้นทางสายใน ไม่ใช่ถนนสายใหญ่ระหว่างจังหวัด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42) แต่ก็ไม่พ้นถูกจับคาด่านของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วจักรยานยนต์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน หรือ อส. ชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ตะโละดือรามัน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ตามแผน "อาชาพิทักษ์กะพ้อ 01" โดยการตั้งจุดตรวจจุดสกัดแบบ POP UP (จุดตรวจไม่ประจำที่)
บริเวณที่ตั้งด่านและจับกุมแรงงานต่างชาติ คือเขตรอยต่อระหว่างบ้านไชยา (ดูซงพาลอ) ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส กับบ้านกัวลอกาลี หมู่ 8 ต.ตะโละดือรามัน อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี แรงงานทั้งหมดเป็นชาวเวียดนาม 6 คน และกัมพูชา 9 คน รวมเป็น 15 คน กระจายกันนั่งในรถยนต์ทั้ง 4 คัน มุ่งหน้าจากนราธิวาสเข้าปัตตานี
"ผู้นำพา" ที่ถูกจับกุมได้ คือ นายฮารง ดอเลาะ แม้จะยังไม่ชัดว่าเขาเป็น "ตัวใหญ่" ในชบวนการขนแรงงานข้ามชาติหรือไม่ หรือเป็นแค่ส่วนหนึ่งของขบวนการ คือเป็นแค่คนขับรถรับแรงงานจากจุดหนึ่งไปส่งยังอีกจุดหนึ่งก็ตาม แต่การที่เขาเป็น "ลูกเขย" ของอดีตแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน และทันทีที่ถูกจับก็มี "เจ้าหน้าที่ระดับสูง" พยายามโทรศัพท์มาขอเคลียร์กับชุดจับกุม และขอไม่ให้เป็นข่าว ย่อมสะท้อนถึง "ความไม่ธรรมดา" ของนายฮารง (หรือพ่อตาของเขา) ได้พอสมควร
@@ อ้างเหตุตกงาน แค่ขนแรงงาน ไม่รู้เบื้องหลัง
อย่างไรก็ดี จากการที่ นายฮารง ยอมเปิดปากพูดคุยกับ "ทีมข่าวอิศรา" เจ้าตัวยืนยันว่าเพิ่งทำครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะตกงาน
"ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รับจ้างนำพาแรงงานต่างด้างเข้ามมตามช่องธรรมชาติ ซึ่งหลังจากโควิดระบาด ผมไม่มีงานทำ รวมทั้งต้องขายร้านถึง 2 ร้านด้วย (หมายถึงร้านต้มยำกุ้ง ซึ่งหมายถึงร้านอาหารไทยในมาเลเซีย)"
เรื่องที่ ฮารง ขายร้านอาหาร จึงเป็นเหตุให้เขาอ้างว่ามีเงินในรถหลายแสนบาท แต่กลับหายไปเมื่อถูกจับกุม
"มีเงินอยู่ในรถที่เป็นเงินไทย 3 แสนกว่าบาท และเงินมาเลเซียอีกด้วย ตอนแรกเงินอยู่ในรถ หลังจากที่มีการตรวจค้น เงินหายไปจากรถ ในเบื้องต้นยังไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน หายตรงไหน แต่ไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่เอาเงินไปนะ"
ฮารง ยังยอมเล่าถึงกระบวนการทำงานเพื่อ "นำพา" แรงงานข้ามชาติเข้ามายังประเทศไทย
"ได้ไปรับแรงงานส่วนหนึ่งที่ศาลาตากใบ นั่งมาในรถของผม ที่เหลือไปรับที่นราธิวาส เพื่อเดินทางไปท่าเรือปัตตานี หรือสะพานปลาปัตตานี โดยมีคนจ้าง ให้ค่าส่งแรงงานต่างด้าวคนละ 10,000-12,000 บาท ครั้่งนี้ทำเป็นครั้งแรก หลังจากที่รับแรงงานมาก็จะไปส่งที่สะพานปลาปัตตานี เสร็จแล้วหลังจากนั้นเขาจะไปไหน ทำอะไรเราก็ไม่รู้ เราแค่ทำหน้าที่รับจากจุดแรกที่ตากใบ และไปส่งที่สะพานปลาปัตตานี"
การเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมายในช่วงนี้ถูกจับตาเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะเป็นความผิดฐานลักลอบเข้าเมืองแล้ว ยังเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-19 ด้วย แต่ ฮารง อ้างว่าคนที่ติดต่อให้เขาไปรับแรงงานเหล่านี้ ยืนยันว่าตรวจโควิดแล้ว
"ก่อนจะรับมา หลังจากเขาติดต่อมา (หมายถึงคนประสานงาน) ได้ถามแล้วว่ากักโควิดหรือยัง เขาบอกกักแล้ว ที่นี้พอไปรับเขามา ได้โทรไปหาเพื่อจะถามว่า เอกสารที่บอกว่ากักตัวอยู่ที่ไหน แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้"
ฮารง ยอมรับว่ารู้ดี สิ่งที่ทำเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่เพราะตกงานจึงต้องจำยอม
"เราทราบว่าการกระทำแบบนี้เป็นการทำผิดกฎหมาย แต่เราตกงาน เราไม่มีงานทำ สำหรับเส้นทางเราก็วิ่งทางปกติ แต่หลบด่านโควิดที่ร่มไทร อ.บาเจาะ เราก็เข้าไปเส้นข้างใน จนกระทั่งมาเจอเจ้าหน้าที่"
@@ เปิดประวัติ ฮารง ลูกเขยอดีตบิ๊กแยกดินแดน
สำหรับประวัติของ ฮารง ดอเลาะ เป็นลูกเขยของอดีตแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนคนดัง เอ่ยชื่อไปก็มีแต่คนรู้จัก โดยระยะหลังอดีตแกนนำรายนี้ได้ช่วยงานของรัฐในหลายๆ มิติ ทั้งมิติความมั่นคงและเศรษฐกิจ จึงรู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงราชการจำนวนมาก ทั้งทหาร ตำรวจ ฝายปกครอง และหน่วยงานด้านการพัฒนา
โดย นายฮารง เป็นลูกเขยที่ทำธุรกิจเปิดร้านต้มยำกุ้งอยู่ในมาเลเซีย ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมาเกี่ยวข้องกับขบวนการนำพาแรงงานต่างด้าว และไม่ชัดเจนว่าทันทีที่ถูกจับ เจ้าหน้าที่จำได้ว่าเป็นนายฮารง ลูกเขยอดีตแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือเจ้าตัวอ้างกับเจ้าหน้าที่เอง แต่มีความพยายามของเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางหน่วย โทรศัพท์มาขอเคลียร์
ส่วนเรื่องเงินสดภายในรถที่อ้างว่าสูญหายนั้น นายฮารงยังให้ข้อมูลได้ไม่ชัดเจนว่าหายจริงหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมยืนยันว่า ไม่มีใครเข้าไปค้นรถของนายฮารงและพวก เนื่องจากกลัวโควิด ประกอบกับกุญแจรถก็อยู่ที่นายฮารงตลอด และได้บันทึกภาพวีดีโอเอาไว้ทุกขั้นตอน จึงเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะขโมยเงินไป
@@ แฉเส้นทางแรงงาน CLMV เข้าไทย-ผ่านชายแดนใต้
ความเคลื่อนไหวลักลอบข้ามแดนไทย-มาเลเซียทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้ง "นำเข้า" และ "ส่งออก" กล่าวคือมีคนไทยและคนต่างด้าวที่เสี่ยงโควิด หรือหนีโควิดจากมาเลเซียลอบเข้าไทย หรือไม่ก็เป็นกรณีของกลุ่มแรงงานจากประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ใช้ไทยเป็นทางผ่าน เดินทางกลับบ้นาเกิดตัวเอง เนื่องจากทนความลำบากที่มาเลเซียไม่ไหว เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดหนักกว่าไทย
กับอีกพวกคือ ชาวเมียนมา หรือโรฮิงญา ที่ลักลอบเข้าไทยทางทะเลอันดามัน เช่น ที่ จ.ระนอง แล้วเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย โดยใช้ไทยเป็นทางผ่านเหมือนกัน
ส่วนเครือข่าย "ขบวนการนำพา" ที่เป็นคนไทย มีจำนวนหนึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะคอยรับแรงงานต่างชาติที่ขบวนการนำพาชาวมาเลย์ นำมาส่งที่ฝั่งตรงข้าม อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แล้วพาลงเรือข้ามแม่น้ำมาขึ้นฝั่งไทย ด้าน ต.ตาบา และตำบลใกล้เคียงของ อ.ตากใบ
เมื่อขึ้นฝั่งจะมีรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์มารับ เพื่อไปส่งยังปลายทาง ถ้าเป้าหมายอยู่ในพื้นที่สามจังหวัด ก็จะขับรถพาไปส่งถึงที่เลย แต่ถ้าจุดหมายอยู่ภูมิภาคอื่น เพราะแรงงานต้องการเดินทางกลับบ้านเกิด เครือข่ายขบวนการนำพาก็จะพาส่งขึ้นรถโดยสาร และมีคนมารอรับเป็นทอดๆ ส่วนใหญ่ไปเริ่มต้นที่ท่ารถในตัวเมืองนราธิวาส และไปต่อรถที่ปัตตานี ซึ่งเป็นศูนย์กลางรถตู้โดยสารของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหารถตู้ต่อไปยังหาดใหญ่ จ.สงขลา
เมื่อไปถึงหาดใหญ่ ที่สถานีขนส่งหาดใหญ่ จะมีเครือข่ายมารอรับ และพาเดินทางต่อด้วยรถทัวร์หรือรถไฟเข้ากรุงเทพฯ จากนั้นนั่งรถ บขส.ต่อไปยังจังหวัดชายแดนที่จะข้ามไปฝั่งลาว กัมพูชา หรือช่องทางที่จะไปยังเวียดนามอีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีทั้งจังหวัดทางภาคเหนือ อีสาน และภาคตะวันออกของไทย
แต่ละจุดที่เป็นจุดแวะพัก จะมีการเปิดบ้าน ห้องแถว หรือแม้แต่รีสอร์ทให้หลับนอนหรือรอหลบด่าน จากนั้นจะมีนายหน้าและเครือข่ายรับ-ส่งเป็นทอดๆ ใช้รถจักรยานยนต์บ้าง รถปิคอัพบ้าง ตลอดเส้นทาง โดยมีค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 30,000 บาท ผู้ที่เกี่ยวข้องมีทั้งชาวมาเลเซีย ชาวไทย และเจ้าหน้าที่นอกแถวที่รู้เห็นเป็นใจ หรือคอยเปิดทางให้ลักลอบข้ามแดนและเดินทาง
แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ "ขบวนการนำพา" ใช้วิธีขับรถยนต์ส่วนบุคคลเดินทางไกลไปส่งจนถึงที่หมาย แต่คาดว่าค่าใช้จ่ายจะสูงมากกว่าเดินทางโดยใช้รถโดยสารสาธารณะ อย่างกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ม.ค.64 หนุ่มปัตตานีขับรถส่งแรงงานชาวเวียดนามที่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย โดยจุดนัดพบเพื่อส่งต่อ อยู่ที่ปั๊มน้ำมัน PT สาขาวังมะนาว จ.ราชบุรี แต่มาถูกจับที่ จ.เพชรบุรี ก่อนถึงจุดหมายปลายทาง