ความเคลื่อนไหวที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศควักกระเป๋า (งบจากภาษีประชาชน) ซื้อวัคซีนโควิดฉีดให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ไม่เว้นแม้แต่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเทศบาลนครยะลาที่เตรียมควักร้อยล้านบาทด้วยเช่นกันนั้น ทำให้เกิดคำถามว่า วัคซีนที่ประกาศว่าจะซื้อ ซื้อจากที่ไหน ซื้อจากรัฐบาล หรือซื้อตรงกับเอเย่นต์หรือบริษัทผู้ผลิต
"ทีมข่าวอิศรา" ได้สอบถามเรื่องนี้กับนายกเทศมนตรีรายหนึ่งที่ประกาศเตรียมใช้งบประมาณซื้อวัคซีนโควิดฉีดให้ประชาชนในเขตพื้นที่ของตนเอง โดย "นายกเล็ก" รายนี้ให้ข้อมูลว่า ตามหลักการแล้วเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรได้สิทธิ์จัดซื้อจากรัฐบาล โดยรัฐบาลจะต้องเพิ่มโควต้าในการสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัคซีนในต่างประเทศ เพื่อนำโควต้านั้นมาแบ่งหรือกระจายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีงบจัดซื้อ
"ถ้าทำแบบนี้ได้ จะถือว่าเป็นบริการให้ประชาชน ไม่ใช่ธุรกิจการค้า เนื่องจากเป็นองค์กรของรัฐเหมือนกัน ถือเป็นการแบ่งเบาภาระกัน เนื่องจากรัฐบาลต้องดูแลคนไทยทั้งประเทศ หากทำอยู่หน่วยเดียวก็อาจจะล่าช้า เมื่อท้องถิ่นเข้าไปช่วย ก็เท่ากับเป็นการกระจายวัคซีนสู่ประชาชนได้รวดเร็วและเข้าถึงมากขึ้น"
แต่นายกเทศมนตรีรายนี้ก็แสดงความกังวลว่า จนถึงปัจจุบันนโยบายของรัฐบาลยังไม่ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร แม้ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จะออกมาพูดบ้างแล้วว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดหาให้ก็ตาม แต่ก็ย้งไม่มีคำแถลงจาก ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) หรือจากนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากปล่อยล่าช้าไป อาจเป็นแรงกดดันให้องค์กรปกครองท้องถิ่นต้องดิ้นรนหาซื้อเองจากเอเย่นต์หรือบริษัทที่นำเข้าวัคซีนเอง เพราะแต่ละยี่ห้อก็จะมีเอเย่นต์ของตัวเองอยู่แล้ว
"ยิ่งรัฐบาลตัดสินใจช้าเท่าไหร่ ก็จะยิ่งหาวัคซีนได้ยากขึ้นเท่านั้น และราคาก็จะยิ่งแพงขึ้น ทั้งยังเป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองหรือเอกชนที่ต้องการแสวงประโยชน์ พากันนำเข้าวัคซีนมาขายตรงให้กับท้องถิ่นหรือเทศบาลที่มีความต้องการ แล้วทำกำไรจากส่วนต่างราคาขาย เพราะความต้องการวัคซีนมีมาก ยิ่งแย่งกันซื้อ ราคาจะยิ่งแพง" นายกเทศมนตรี กล่าว และว่า สำหรับงบประมาณที่นำมาจัดซื้อ เป็นงบสะสมของท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากในยุค คสช.มีมาตรการคุมเข้มการใช้งบส่วนนี้ เพื่อป้องกันการทุจริต
ปัญหาเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนที่สะท้อนจากผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สอดคล้องกับข้อสังเกตในวงการแพทย์และสาธารณสุขที่กำลังพูดถึงกันมากเกี่ยวกับ "ทฤษฎีสมคบคิดเรื่องวัคซีน" เริ่มจากขั้นแรก รัฐบาลประกาศนำเข้าจากบริษัทเดียว คือ แอสตร้า เซนเนก้า แต่กลับได้รับวัคซีนล่าช้า ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านไทย ทั้งสิงคโปร์และอินโดนีเซียเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว
เมื่อถูกโจมตีว่าได้รับวัคซีนช้า และผูกขาด กระทรวงสาธารณสุขจึงรีบไปสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มเติมจาก บริษัท ซิโนแวค ของจีน จำนวน 2,000,000 โดส เบื้องต้นจะได้มาก่อนเร็วๆ นี้ 200,000 โดส
เมื่อกระทรวงสาธารณสุขสั่งเอง อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ย่อมจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนให้วัคซีนจากจีน เท่ากับเป็นการเปิดทางให้ต้องขึ้นทะเบียนวัคซีนยี่ห้อนี้ที่มีเอกชนที่เป็นเอเย่นต์ขอขึ้นทะเบียนเอาไว้ก่อนแล้ว และโรงพยาบาลบางแห่งก็สั่งซื้อไว้ด้วย
เมื่อเอกชนได้ประโยชน์ตามน้ำจากการนำวัคซีนเข้ามาของกระทรวงสาธารณสุข ก็มีการขายผ่านโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังที่ประกาศความพร้อมในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่มีกำลังซื้อ ซึ่งจริงๆ แล้วกระบวนการทำสัญญา สั่งซื้อ และเตรียมนำวัคซีนเข้ามา น่าจะตกลงกันมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่รอจังหวะฝ่ายการเมืองเปิดทางให้ขึ้นทะเบียนได้เท่านั้น จุดนี้ก็จะทำให้วัคซีนกลายเป็นสินค้า และเอกชนหรือโรงพยาบาลบางแห่งสามารถทำกำไรได้
ล่าสุดเมื่อฝ่ายการเมืองเปิดทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซื้อวัคซีนไปฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ของตนเองได้อีก จึงยิ่งสร้าง "ดีมานด์" ให้สูงขึ้นกว่าเก่า เพราะเทศบาลต้องรีบสั่งซื้อเพื่อหาเสียงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 มี.ค. จนอาจทำให้เกิดเป็น "ดีมานด์เทียม" (ความต้องการสูงเกินจริง) ส่งผลให้ราคาวัคซีนอาจจะแพงขึ้น และกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังในการสั่งซื้อและนำเข้าก็จะได้ประโยชน์...
มีการประมาณการณ์ตัวเลขอย่างต่ำๆ ในระดับพันล้านบาท และจะเกิดปัญหาเรื่อง "วัคซีนเหลื่อมล้ำ" ตามมาอีก
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ sarakadeelite