การจับกุมแรงงานต่างชาติจากกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่หนีโควิดจากมาเลเซีย เดินทางผ่านไทย เพื่อกลับประเทศบ้านเกิดนั้น กำลังก่อปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
แน่นอนว่าปัญหา "ขบวนการนำพา" ที่นำเข้าและส่งออกแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ และรัฐบาลก็เพิ่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาศึกษาและกำหนดแนวทางแก้ไขในระดับนโยบาย ส่วนการจัดการเฉพาะหน้าก็ต้องไล่จับกันไป แต่ประเด็นที่่หลายฝายให้ความสนใจก็คือ เหตุใดจึงยังจับกุมใครแทบไม่ได้เลย
โดยเฉพาะ 2 กรณีล่าสุดที่ จ.นราธิวาส ทั้งแรงงานกัมพูชา 11 คนที่ข้ามฝั่งมาจากมาเลเซีย พักที่บ้านเช่าใน อ.สุไหงโก-ลก กับกรณีชาวโรฮิงญา 9 คน เดินทางจากจังหวัดฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต) ใช้รถโดยสารประจำทาง ปลายทางสุไหงโก-ลกอยู่แล้ว แต่กลับมีการแวะเปลี่ยนรถที่ยะลา แล้วก็ต่อรถตู้มาที่สุไหงโก-ลกแทน แบบนี้แสดงว่ามีการวางแผนมาชัดเจน จากนั้นก็เข้าพักที่บ้านเช่าใน ต.มูโนะ คาดว่าเพื่อรอจังหวะเผ่นข้ามแดน
สองกรณีนี้บอกอะไรได้หลายอย่างเกี่ยวกับ "ขบวนการนำพา" แรงงานผิดกฎหมายข้ามแดน
1. เครือข่ายขบวนการนี้ใหญ่โตมาก เชื่อมโยงกันหลายภาค หลายจังหวัด เพราะแรงงาน CLMV จากมาเลเซีย ต้องการกลับบ้านเกิด ใช้ไทยเป็นทางผ่าน ลักลอบเข้าทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ระยะหลังข้ามแดนทาง อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งมีช่องทางธรรมชาติหลายช่องทาง) จากนั้นเดินทางออกจากพื้นที่ชายแดนใต้ ไปหาดใหญ่ จ.สงขลา ศูนย์กลางการคมนาคมทั้งรถโดยสารและรถไฟ จับรถเข้ากรุงเทพฯ แล้วต่อรถไปหนองคาย แล้วก็ข้ามไปลาว
ส่วนกัมพูชา เมียนมา ก็ไปชายแดนด้านอื่นๆ แสดงว่าขบวนการนี้ต้องมีเครือข่ายเชื่อมโยงกันหมดทั้งประเทศ
2. จุดแวะพักที่สุไหงโก-ลก มีการเปิดบ้านรอเอาไว้ ทั้งบ้านในชุมชนริมแม่น้ำโก-ลก และบ้านในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เป็นอาคารในลักษณะเรือนแถว การแวะพักที่บ้านในเขตเมือง หรือตามหมู่บ้านนอกเมือง แสดงว่าต้องมีเครือข่ายรอรับ รอส่งต่อ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองระดับต่างๆ ต้องรู้เห็นเป็นใจด้วยอย่างแน่นอน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ฝ่ายปกครอง รวมถึง "คนมีสี"
3. มีการอำพรางตัวให้กับแรงงานต่างชาติอย่างเป็นขบวนการ เช่น ผู้หญิงให้สวมฮิญาบ จะได้กลมกลืนกับคนท้องถิ่น, บางคนฝึกพูดภาษาไทย เพื่อไม่ให้ถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่
คำถามที่หน่วยงานรัฐต้องตอบ โดยเฉพาะตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ก็คือ เมื่อมีการจับกุมคาบ้านเช่าขนาดนี้ เหตุใดจึงยังจับมือใครดมไม่ได้ อย่างกรณีที่นราธิวาส "ทีมขาวอิศรา" ตรวจสอบไปล่าสุด เจ้าหน้าที่บอกว่าเจ้าของบ้านหลบหนีไปแล้ว
ส่วนปัญหาใหญ่ที่เกิดตามมา และยังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก ก็คือ การไม่มีสถานที่กักตัวแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเพื่อเฝ้าระวังโควิด-19 เพราะบุคคลที่ถูกจับกุมเหล่านี้ เป็นชาวต่างชาติที่มีความผิดฐานลักลอบเข้าเมือง จึงไม่มีระเบียบรองรับให้เข้ากักตัวใน Local Quarantine หรือสถานกักกันระดับท้องถิ่นได้ และทางจังหวัดยังไม่มีงบประมาณเตรียมไว้สำหรับดูแล หรือตรวจหาเชื้อโควิดอย่างเร่งด่วนด้วย จะใช้งบฉุกเฉินของจังหวัดก็ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีระเบียบกฎหมายใดรองรับ จึงต้องกักตัวไว้ตามโรงพัก จนห้องขังบนสถานีตำรวจตามแนวชายแดนบางแห่งเต็มไปด้วยแรงงานต่างด้าวที่ถูกจับกุม
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อกักตัวครบ 14 วัน และส่งตัวไปดำเนินคดี ก็ไม่สามารถผลักดันกลับไปมาเลเซียได้ เพราะด่านพรมแดนปิดหมด ทางการมาเลย์เองก็ไม่รับ เนื่องจากไม่ใช่คนสัญชาติมาเลย์ ครั้นจะส่งต่อไปยังประเทศบ้านเกิดของแรงงานเหล่านี้ ก็ไม่มีงบพาไปส่ง นี่คือปัญหาที่จังหวัดตามแนวชายแดนกำลังเผชิญ
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากเนชั่นทีวี 22