เขื่อนบางลางวิกฤติ ต้องเปิดประตูเร่งระบายน้ำล้นส่วนเกิน ส่งผลมวลน้ำทะลักท่วมยะลาทั้ง 8 อำเภอ ขณะที่ชาวบ้านแห่จับปลาบึกหลุดสปิลเวย์คึกคัก ส่วนเทศบาลเมืองปัตตานี เตรียมพร้อมรับน้ำจากเขื่อนไหลลงแม่น้ำปัตตานี ด้านเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นตัวแทนมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) มอบถุงยังชีพพระราชทาน ขณะที่ "บิ๊กป้อม" สั่งด่วนทุกหน่วยรับมือน้ำท่วมชายแดนใต้
วันที่ 7 ม.ค.64 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ยะลา หลังจากที่เขื่อนบางลางได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำล้นสปิลเวย์ (spillway) เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเขื่อนบางลาง รวมถึงการรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของตัวเขื่อน ผนวกกับฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลของเขื่อนบางลาง เมื่อเวลา 06.00 น. ของวันนี้ ระดับน้ำในเขื่อนอยู่ที่ 115.94 ม.รทก.( เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง ) เกินระดับกับเก็บปริมาตรน้ำ 1,504.70 ล้าน ลบ.ม. ( 103.46% ) ปริมาตรน้ำมากกว่าระดับเก็บกักปกติ 47.76 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนต้องทำการเปิดประตูระบายน้ำล้น อยู่ที่ระดับ 1.9 เมตร ขณะที่สภาพอากาศในเช้าวันนี้ฟ้าเปิดมีฝนประปราย
โดยชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ ต.ท่าสาป อ.เมืองยะลา ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำปัตตานี มีมวลน้ำจากเขื่อนบางลางได้ไหลเข้าล้นตลิ่งที่บ้านท่าสาป ทำให้บ้านเรือนถนนเส้นทางเข้าหมู่บ้าน พื้นที่ทางการเกษตรที่บ้านท่าสาป ระดับน้ำท่วมสูง 50-70 เซนติเมตร มวลน้ำยังมีปริมาณที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทำให้พื้นที่ จ.ยะลา ขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมครบ ทั้ง 8 อำเภอ ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่ราบสูงภูเขา ประกอบด้วย อ.บันนังสตา อ.ธารโต อ.เบตง อ.ยะหา อ.กาบัง และพื้นที่ลุ่ม อ.รามัน อ.เมือง และ อ.กรงปินัง
@@ชาวบ้านแห่จับปลาบึกหลุดสปิลเวย์คึกคัก
หลังจากที่ชาวบ้านทราบว่า เขื่อนบางลางได้มีการปล่อยน้ำ ตั้งแต่เมื่อช่วงเช้า เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเขื่อน รักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของตัวเขื่อน เนื่องจากมีระดับน้ำกักเก็บสูงสุดของเขื่อนบางลาง 115.5 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนได้เปิดประตูระบายน้ำล้น สปิลเวย์ (spillway) ที่ระดับ 1.2 เมตร จนถึง ระดับ 1.6 เมตร เพื่อระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพราะปริมาณฝนยังตกอยู่เหนือเขื่อนน้ำยังคงไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ อ.บันนังสตาและใกล้เคียงได้แห่เดินทางมาจับปลาอย่างคึกคัก
โดยวิธีการจับปลาของชาวบ้าน จะดักรออยู่ที่สะพาน มีทั้งการใช้เรือ เจ็ทสกี พร้อมทั้งใส่ชูชีพ เมื่อเห็นปลาหลุดผ่านประตูระบายน้ำมา ซึ่งจะมีแรงดันน้ำที่สูงมาก ทำให้ปลาจะอยู่ในสภาพน๊อคน้ำ ชาวบ้านจึงกระโดดลงไปท่ามกลางน้ำที่เชี่ยวกราด เพื่อตรงเข้าไปจับปลา ท่ามกลางกองเชียร์และบรรดาผู้คนที่เดินทางมาชม บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
สำหรับปลาที่จับได้ที่เขื่อนบางลาง ส่วนใหญ่จะเป็นปลาบึกและปลากดเหลือง ซึ่งขนาดของปลาที่จับได้นั้น ปลาบึก จะมีขนาดที่ 10 - 30 กิโลกรัมขึ้นไปไม่ใหญ่มากนัก เนื่องจากมีการเปิดประตูระบายน้ำเพียง 1.2-1.6 เมตร เท่านั้น ราคาปลาบึกที่ขาย จะอยู่ที่ กก.ละ 70 - 100 บาท ซึ่งมีชาวบ้านมารอซื้อปลาเป็นจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา เขื่อนบางลางได้มีการเปิดประตูระบายน้ำล้น สปิลเวย์ (spillway) ปลาบึกที่ชาวบ้านจับได้ ส่วนใหญ่น้ำหนักประมาณ 200 - 300 กก. เลยทีเดียว
นายมะยากี เด็ง ชาวตำบลเขื่อนบางลาง กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 6 ปี มาแล้วที่ชาวบ้านรอที่เขื่อนบางลางจะปล่อยน้ำทางสปิลเวย์ เพื่อที่จะได้จับปลาบึกกัน ชาวบ้านต้องการจับปลา ต้องมายืนอยู่ที่ขอบสะพาน รอปลาลอยลงมาจากสปริงเวย์ พอเห็นปลามาก็กระโดดลงน้ำจับปลากัน ใครได้ก่อนก็เป็นของคนนั้น ปลาที่ได้ใหญ่ที่สุดหนักประมาณตัวละ 30 - 40 กิโลกรัม ในการจับปลาง่ายมาก เพราะปลาที่ไหลลงทางสปริงเวย์น้ำเชี่ยวมาก ก่อนมาถึงที่สะพานปลาได้ชนกับก้อนหินบ้าง ทำให้ปลามีอาการมึนชาวบ้านจับง่าย ที่หลุดไปจับไม่ได้ ก็เพราะกระแสน้ำแรง
"ปลาที่ชาวบ้านจับได้ จะนำไปเป็นอาหารและขายสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้อีก ซึ่งจะขายกันกิโละ 70-100 บาท พร้อมลงจับทุกวันจนกว่าทางเขื่อนจะปิดประตูระบายน้ำสปิลเวย์" นายมะยากี กล่าว
@@ผบ.นพค.42 ยะลา จัดกำลังพล - ยานพาหนะลงช่วยชาวบ้านน้ำท่วม
วันที่ 7 ม.ค.64 พล.ต.อุทิศ อนันตนานนท์ ผบ.ฉก.ยะลา ได้สั่งการนำเฮลิคอปเตอร์ออกบินสำรวจเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมือง จ.ยะลา และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการบินสำรวจพบว่า ในหลายอำเภอของจังหวัดยะลา มีหลายพื้นที่น้ำได้เข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชน จนได้รับความเสียหายและระดับน้ำในพื้นที่ได้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น
ในพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ยังคงมีน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนและถนนทางเข้าหมู่บ้านในพื้นที่ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการเดินทางเข้า - ออก ทาง พ.อ.รณชัย เวียงวงษ์ ผบ.นพค.42 สนภ.4 นทพ. ได้สั่งการให้กำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 1 ชุดพร้อมยานพาหนะ จำนวน 1 คัน เข้าร่วมกับฝ่ายปกครอง อ.ยะหา และผู้นำชุมชุมชนในพื้นที่ ต.ท่าสาป อ.เมือง , ต.ละแอ อ.ยะหา จ.ยะลา ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและประชาชนที่สัญจรไปมา ในพื้นที่ ต.ท่าสาป อ.เมือง ,ต.ละแอ อ.ยะหา จ.ยะลา และเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำท่วมพร้อมสำรวจความเสียหาย จำนวนผู้ประสบอุทกภัย เพื่อประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ อ.ยะหา ในการเตรียมยุทโธปกรณ์ในการออกช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในขั้นต่อไป
@@กฟภ.เบตง ปักเสาไฟฟ้าและยกมิเตอร์จุดเสี่ยงหนีน้ำท่วม
นายฉัตรชัย พรหมชัย รองผู้จัดการฝ่ายเทคนิค ปฏิบัติงานแทนผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.เบตง กล่าวว่า แจ้งผู้ใช้เส้นทาง 410 (ยะลา-เบตง) ช่วง กม.39 ขณะนี้สามารถสัญจรได้เพียงเลนเดียว และด้วยทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ( PEA เบตง) ต้องเข้าดำเนินการซ่อมแซมระบบจำหน่ายที่ได้รับความเสียหายจากเหตุดินไสลด์ ซึ่งต้องดำเนินการปักเสาไฟฟ้าใหม่ จำนวน 6 ต้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องปิดเส้นทางเป็นระยะๆ เพื่อที่สามารถกู้ระบบการจ่ายไฟกลับคืนได้เร็วที่สุด PEA เบตงต้องขออภัยในความไม่สะดวกในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ขอให้ใช้ความระมัดระวังในการสัญจร หรือเลี่ยงเส้นทางจากเบตง - บ้านวังใหม่- บ้านธารมะลิ- บ้านกระป๋อง
นอกจากนี้พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.เบตง ได้เข้าดำเนินการยกระดับมิเตอร์จุดเสี่ยงให้สูงกว่าระดับน้ำไม่น้อยกว่า 50 ซม. และปลดสายหลังมิเตอร์เฉพาะบ้านหลังที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งอาจอันตรายกับผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถจ่ายไฟได้บางส่วนในพื้นที่น้ำไม่ท่วม จำนวนมิเตอร์ที่ดำเนินการประมาณ 40 เครื่อง ณ พื้นที่บริเวณบ้าน กม.36 หลังโรงพักอัยเยอร์เวง
@@เทศบาลเมืองปัตตานี เตรียมพร้อมรับน้ำจากเขื่อนไหลลงแม่น้ำปัตตานี
วันที่ 7 ม.ค.64 นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานีพร้อมด้วยผู้อำนวยการส่วนช่างสุขาภิบาล ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ณ สถานีระบายน้ำสะพานบั่นเฉ้งและสั่งการให้เร่งระบายน้ำออกจากคลองพร้อมทั้งติดตามการขุดลอกคลองอาเนาะซูงา เพื่อเตรียมพร้อมในการรองรับการระบายน้ำจากเขื่อนบางลางที่ได้ทำการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปัตตานี
ทางนายอับดุลการีม ยีดำ นายอำเภอยะรัง ในฐานะ ผอ.ศปก.อ.ยะรัง ได้จัดรถประชาสัมพันธ์ของ อบต.เมาะมาวี แจ้งเตือนประชาชนที่เดินทางมารวมกันเพื่อดูปริมาณน้ำ ที่บริเวณ spring way เขื่อนปัตตานี ห้ามลงเล่นน้ำ ทั้งมีการปิดป้ายประกาศห้ามสัญจร บริเวณ spring way ปิดทางสัญจรโดยการใช้ลวดหนามหีบเพลงกัน เนื่องจากระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระแสน้ำแรงขึ้น อาจเป็นอันตรายต่อการสัญจร การลงเล่นน้ำ โดยมี ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ,ปลัดอำเภอกลุ่มงานความมั่นคง กำลัง อส. , กำลังทหารพราน ฉก.ทพ.20 ร่วมลงพื้นที่อีกด้วย
@@เลขาฯ ศอ.บต.เป็นตัวแทนมูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)มอบถุงยังชีพพระราชทาน
วันที่ 7 ม.ค. 64 ที่หอประชุมโรงเรียนเรียงราษฎร์อุปถัมภ์ หมู่ที่ 8 ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ทางพล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นผู้แทนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย นำถุงยังชีพพระราชทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มอบให้กับประชาชนและพระภิกษุสงฆ์ ในพื้นที่ จ. นราธิวาส ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย โดยนำถุงยังชีพพระราชทาน จำนวน 100 ถุง มอบให้ประชาชนใน อ.รือเสาะ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 9 ตำบล 72 หมู่บ้าน 2,060 ครัวเรือน 7,009 คน หนักสุด 4 ตำบล ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำสายบุรี คือ ต.บาตง ต.เรียง ต.รือเสาะ และต.สาวอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ราบลุ่มตามแนวแม่น้ำสายบุรี ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน
จากนั้นเลขาธิการ ศอ.บต. เดินทางไปยัง วัดประชุมชลธารา หมู่ที่ 6 บ้านควน ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เพื่อถวายถุงยังชีพพระราชทานแก่พระภิกษุสงฆ์ ที่จำวัดประชุมชลธารา ซึ่งมีพระเทพศีลวิสุทธ เจ้าคณะจังหวัดเป็นเจ้าอาวาส จำนวน 12 ถุง และยังนำถุงยังชีพพระราชทานในครั้งนี้ ไปมอบให้กับคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.นราธิวาส เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ด้วย
สำหรับพื้นที่ จ.นราธิวาส นั้น ได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มน้ำโก-ลก ลุ่มน้ำสายบุรี และลุ่มน้ำบางนรา ระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 11 อำเภอ 16 ชุมชน 47 ตำบล 270 หมู่บ้าน 14,679 ครัวเรือน 54,015 คน สถานศึกษารวม 20 แห่ง วัดและที่พักสงฆ์รวม 5 แห่ง และมัสยิด 2 แห่ง
@@ผบ.ทหารสูงสุด เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม อ.สุไหงโก-ลก
ทาง พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และคณะลงพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จ.นราธิวาส เพื่อรับฟังการชี้แจงการปฏิบัติงานตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และตรวจการเพิ่มมาตรการสกัดกั้นการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง โดยมี พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเข้าประชุมชี้แจง
จากนั้น ผบ.ทสส. และคณะได้เดินทางไปยังศูนย์อพยพเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก (โรงเรียนเทศบาล 4 บ้านทรายทอง) เพื่อพบปะและให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย พร้อมมอบข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ให้แก่ตัวแทนผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งมีผู้ประสบอุทกภัยเข้ามาพักอาศัยที่ศูนย์อพยพฯ จำนวน 251 คน 63 ครอบครัว จาก 7 ชุมชน โดยพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก มีพื้นที่ประสบภัย 29 ชุมชน 2,500 ครัวเรือน มีนางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมต้อนรับ
@@บิ๊กป้อม สั่งด่วนทุกหน่วยรับมือน้ำท่วมชายแดนใต้
จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ( สทนช.) เร่งประสานงานกับกองทัพภาคที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ให้เตรียมวางแผนรองรับการให้ความช่วยเหลือประชาชน ทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตร บริเวณท้ายเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เนื่องจากเกิดสถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ได้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ยังคงมีกำลังแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างของไทย มีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ส่งผลให้เขื่อนบางลาง เกิดวิกฤติมีปริมาณน้ำกักเก็บจำนวนมาก
ปัจจุบันเขื่อนบางลางมีความจุ 1,470 ล้าน ลบ.ม. และมีความจุระดับกักเก็บ อยู่ที่ 1,454 ล้าน ลบ.ม. จากสถานการณ์ปัจจุบัน เขื่อนมีแนวโน้มปริมาณน้ำมากขึ้น เนื่องจากภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนในอัตราที่เหมาะสม เพื่อรักษาตัวเขื่อนให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย แต่อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหลากน้ำท่วม บริเวณท้ายเขื่อน พื้นที่ อ.เมือง , อ.บันนังสตา , อ.กรงปินัง จ.ยะลา , จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี ด้วย
พล.อ.ประวิตร กำชับกองทัพภาคที่ 4 , จังหวัด , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เตรียมวางแผนให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมแม่น้ำลำคลอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน บริเวณบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่การเกษตร มุ่งคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสำคัญ พร้อมทั้งขอให้มีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้รับทราบด้วยอย่างต่อเนื่อง