ผู้นำศาสนาใต้ แนะควรหารือทุกฝ่าย รวมถึงสำนักจุฬาฯ เพื่อร่วมดำเนินการพร้อมประกาศใช้ "ฮูกมปากัต" ในระดับจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาวัยรุ่นมั่วสุมในภาพกว้าง บูรณาการทุกหน่วยงาน ด้านชาวบ้านหนุนมาตรการ ผกก.ยะหา มั่นใจลดสถิติ "ท้องก่อนแต่ง" เปรยเยาวชนสมัยนี้ไม่ค่อยเชื่อฟังผู้ปกครอง
แม้ประกาศของ สภ.ยะหา กรณีพบเห็น ชายหญิงมีพฤติกรรมในลักษณะเชิงชู้สาวในที่สาธารณะหรือที่ลับตา จะดำเนิการตามมาตรการทางสัมคม "ยุติธรรมทางเลือก" หรือ "ฮูกมปากัต" โดยการจับแต่งงานนั้น จะถูกกลุ่มนักสิทธิฯ แสดงความไม่เห็นด้วยและมองว่า เป็นการละเมิดสิทธิเด็กและผู้หญิง แต่ชาวบ้านและผู้นำศาสนา กลับมองในอีกมุมว่า เป็นการช่วยแก้ปัญหามั่วสุมของวัยรุ่นและเยาวชนในพื้นที่ได้
นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิ จ.ยะลา และผู้นำศาสนาชื่อดังในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า เรื่องเช่นนี้หลายปีก่อนนั้น ยะลาเคยดำเนินการในลักษณะหรือวิธีการนี้ แต่เป็นการดำเนินการในระดับจังหวัด โดยความร่วมมือของจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัด กองบังคับการตำรวจจังหวัด องค์กรภาคเอกชน มูลนิธิและอาสาสมัคร มีการประกาศให้ทราบ ในการห้ามการมั่วสุม ห้ามต่างเพศผิดประเวณี ที่มีการกระทำผิดชู้สาวตามพุ่มไม้ในบริเวณสวนขวัญเมือง สถานที่ลับแหล่งต่างๆ รวมทั้งบ้านเช่าห้องเช่าของนักศึกษา เป็นที่ยอมรับของมวลชนในจังหวัด ทำได้ประมาณ 2 ปีเศษ หลังจากนั้นคณะทำงานสลายไปเพราะการโยกย้าย
"วิธีการเช่นนี้ต้องประกาศในนามพื้นที่จังหวัด โดยการหารือจากสำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อการมีส่วนร่วมจึงดำเนินการได้ ส่วนการจะให้ผู้กระทำผิดซีนาไปนิกะห์(แต่งงาน)หรือไม่ ให้เป็นสิทธิของทั้งคู่ แต่ต้องขอความร่วมมือสถาบันการศึกษาและหรือครอบครัวของทั้งคู่ให้พิจารณาความผิดตามศาสนบัญญัติด้วย"
นายนิมุ กล่าวอีกว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหามั่วสุมทางเพศที่ผิดประเวณีนี้ มิติอื่นๆที่เป็นผลดีตามมาคือเด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิงจะตระหนัก ตนในการคบเพื่อนที่ดีให้คุณต่อกันและกัน ไม่เป็นเฉพาะภารกิจของผู้นำศาสนาด้านเดียว แต่พ่อแม่ผู้ปกครองทั้งที่เป็นบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย จะต้องใกล้ชิดบุตรหลานให้มากขึ้น จึงผ่อนคลายปัญหานี้ได้ง่ายขึ้น จึงขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายศึกษาเรียนรู้เรื่องของศาสนา อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ โดยผู้ปกครองเด็กกระทำตนเป็นตัวอย่าง ให้มีการใกล้ชิดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากกว่าบังคับข่มขู่ดั่งเช่นในอดีต ซึ่งไม่เฉพาะมุสลิม ต่างศาสนิก เฉกเช่นเดียวกัน ในสังคมพหุวัฒนธรรมหรือพหุสังคม จะต้องเข้าใจต่อกันในคำสอน การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ยอมรับความผิดพลาดและการให้อภัย เพื่อปรับพัฒนาสำคัญที่สุด หากมีแต่การลงโทษผู้ผิดพลาดมีแต่เสียกับเสียเท่านั้น
นางอีเสาะ ชาวบ้านผู้หญิง อายุ 32 ปี ในพื้นที่ จ.ปัตตานี กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการของ ผู้กำกับ สภ.ยะหา จ.ยะลา เชื่อว่ามาตรการนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะการท้องก่อนแต่งของเด็กวัยรุ่นเท่านั้น มันสามารถแก้ปัญหาการรวมตัวมั่วสุ่ม ทะเลาะวิวาทของเด็กๆ อีกทั้งสามารถแก้ปัญหามิติของความสงบได้
ส่วนตัวเชื่อว่า ในรายละเอียดคงไม่ได้ เจอปุ๊บจับแต่งเลยหรือแจ้งข้อกล่าวหาทันที โดยไม่มีการต่อรองพูดคุยกับผู้ปกครองหรือผู้เกี่ยวข้อง ขอชื่นชมผู้กำกับฯ ที่ทำเรื่องนี้ เพราะตนเองก็มีทั้งลูกสาว ลูกชายที่อยู่ในวัยนี้ บางครั้งกฎสังคม จะช่วยได้ดีกว่าคำกล่าวเตือนของพ่อแม่ โดยเฉพาะเรื่องท้องก่อนแต่งทุกวันนี้มีเยอะมากและเด็กส่วนมักจะไม่ฟังพ่อแม่หรือญาติพี่น้องกล่าวตักเตือน เป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่กังวล มากมาตลอดในอดีต
นางอีเสาะ กล่าวอีกว่า เรื่องแบบนี้มีมาตลอดสมัยเรียนปอเนาะ ครูฝ่ายปกครองจะจับแต่งงาน หลายคนก็อยู่ด้วยกันจนมีลูกมีหลาน อีกเยอะ ไม่ได้มีปัญหาทุกคน อย่างที่นักสิทธิ์อ้างกฎหมายแล้ว ถามว่า ถ้าตายไป คนเป็นพ่อแม่คนที่มีหน้าที่ต้องจัดการเรื่องนี้ จะไปตอบคำถามกับอัลลอฮ์ยังไง อยากให้มองหลายมิติ ไม่ใช่คิดแต่จะอ้างกฎหมาย ตำรวจเขาก็รู้อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้เขาเรียนกฎหมายมาเยอะเหมือนกัน ที่สำคัญความรับผิดชอบต่อสังคม ที่เขามีมากกว่าพูดนั้นคือควรชื่นชม ควรมาร่วมกันแก้ปัญหานี้ดีกว่า มาด่ากัน จุดไหนผิดไปเก็บมาร่วมกันเพิ่มเติม สังคมถึงจะอยู่ร่วมกันได้
"ปัญหาเดียวกันที่เกิดขึ้น บางครั้งบริบทของพื้นที่ก็ใช้วิธีการเดียวกันแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้นเชื่อว่า สิ่งที่ทำให้ มีมาตรการนี้เกิดขึ้น จะเป็นเรื่องที่ดี มากกว่าจะมามองแค่สิทธิ์เด็กสิทธิ์ผู้หญิง ก็อยากรู้เหมือนกัน คนที่อ้างกฎหมาย ทำอะไรดีๆกับคนอื่นบ้างไม่ หรือได้แค่เก่งทางโซเชียลกับทำรายงานของบ ต้องลงมือทำมากกว่าพูด สังคมเราจะสงบ" นางอีเสาะ กล่าวและว่า
ส่วนคนนอกศาสนาที่มีการแสดงความคิดเห็น ที่เห็นชัดถึงความอคติ นั้นส่วนตัวอยากบอกว่า มาตรการนี้ เขาไม่ได้เอามาใช้กับวัยรุ่นนับถือศาสนาพุทธ เขาจับแต่งงาน เฉพาะคนอิสลาม คิดว่าไม่น่าเกี่ยวข้องด้วยซ้ำ แต่มีการแสดงความคิดเชิงอคติ แบ่งแยกกลุ่มไปเลยจนเห็นชัดว่า กลุ่มสุดโต้งเขาคิดแบบนั้นทั้งที่ไม่น่าคิดแบบนั้น
ด้านนางเยาว์ลักษณ์ ชาวบ้าน จ.ยะลา อาชีพกรีดยาง กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับคนพุทธ เห็นแล้วมาตรการของผู้กำกับฯ ยังชื่นชมด้วยซ้ำ ที่จะสามารถแก้ปัญหาการมั่วสุ่มได้ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่เขาปรามเต็มที่แล้ว ก่อนที่เขาจะมาร่วมทำมาตรการนี้ คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า อะไรที่ทำให้สังคมสงบสุข บางครั้งก็ต้องหามาตรการที่ดูเหมือนข่มขู่ แต่อาจได้ผลเพราะเด็กสมัยนี้คุยยาก ดีแล้วที่มีมาตรการแบบนี้
นางอาซีซ๊ะ หะยีแวเต๊ะ เจ้าของปั๊ม ปตท.ยะหา บริษัท เอสวายเอ็ม ยะหาปิโตเลียม 1439 กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ จะมีกลุ่มวัยรุ่นมาเป็นกลุ่ม บางคนมาเป็นคู่มานั่งจับกลุ่มคุยกัน มั่วสุมกันในปั๊ม และเคยมีการก่อเหตุตีกัน คือเขาก็มีเรื่องของเขาเดิมอยู่แล้ว วันนั้นกลุ่มหนึ่งรวมกลุ่มอยู่ในปั๊ม ส่วนอีกกลุ่มขับรถมาเติมน้ำมันและมีการไปพาพวกมาทะเลาะวิวาทกัน จนรุนแรงถึงขั้นมีการเสียชีวิตในปั๊ม กลุ่มวัยรุ่นที่มาร่วมกลุ่มกัน เมื่อเจ้าหน้าที่มาพวกเขาก็จะขับรถออกไป พอเจ้าหน้าที่ออกไปพวกเขาก็จะกลับมาอีก ก็ไม่รู้จะทำยังไง เป็นแบบนั้นมาตลอด 1 ปี ที่เปิดปั๊มมา
"ได้รู้ว่ามีการออกมาตรการ กฎฮูกมปากัต ที่จับแต่งงานของหญิงชายที่ไม่ใช่สามีภรรยาอยู่ในที่ลับตาคน ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีทำให้ถูกต้องตามหลักศาสนา ปัญหาก็จะลดลง จนถึงตอนนี้ก็รู้สึกดีขึ้น กลุ่มวัยรุ่นที่มามั่วสุมก็หายไป"