4 ม.ค.2564 นับเป็นหมุดหมายสำคัญอีกวาระหนึ่งของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะเป็นวันครบรอบ 17 ปีของเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬารถึง 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ "ค่ายปิเหล็ง" อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 และนับจากวันนั้น สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ไม่เหมือนเดิมอีก
เนื่องจากมีการก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นรายวัน ในลักษณะอาชญากรรมความไม่สงบ ทั้งยิง ทั้งเผา ทั้งระเบิด ทั้งก่อกวน ผสมโรงกับความรุนแรงอื่นๆ ที่เกิดอยู่แล้วในพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีความขัดแย้งทั้งเรื่องผลประโยชน์ เรื่องธุรกิจผิดกฎหมาย และปัญหาการเมืองท้องถิ่นเป็นพื้นฐาน
แม้ปัจจุบันสถานการณ์ในพื้นที่ดูดีขึ้นมาก เหตุรุนแรงรายวันลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญ และภาครัฐเริ่มเดินหน้าพัฒนาด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการท่องเที่ยว แต่ปัญหาความไม่สงบก็ไม่ได้ยุติลงอย่างเด็ดขาด ตัวอย่างง่ายๆ คือเมื่อวันที่ 1 ม.ค. วันแรกของศักราชใหม่ 2564 ก็เกิดเหตุคนร้ายประกบยิง ด.ต.สามารถ แซะอามา ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) วัย 43 ปี เสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานยนต์อยู่ในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี โดยมีลูกชายวัยเพียง 8 ขวบนั่งซ้อนท้ายมาด้วย
ผลตรวจปลอกกระสุนพบว่า ปืนที่คนร้ายใช้ยิงเป็นกระบอกเดียวกับที่เคยใช้เป็นทูตสังหารผู้หญิงจนเสียชีวิตในร้านขายของชำ ท้องที่ ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2562 หรือเมื่อราวๆ ปีเศษที่ผ่านมา เมื่อพบหลักฐานความเชื่อมโยงแบบนี้ เจ้าหน้าที่จึงให้น้ำหนักไปที่การสร้างสถานการณ์ความไม่สงบโดยการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่อาชญากรรมธรรมดาทั่วไป
สะท้อนว่าไฟใต้ยังไม่ได้ดับมอด...
@@ เหตุรุนแรงยังขยับเพิ่มต่อเนื่อง
จากการเก็บรวบรวมสถิติเหตุรุนแรงของฝ่ายความมั่นคง โดยศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) พบว่า ตลอด 17 ปีไฟใต้ นับตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงปลายปี 2563 (นับถึง 15 ธ.ค.63) มีเหตุรุนแรงทุกรูปแบบ นับรวมอาชญากรรมทั่วไป มากถึง 19,940 เหตุการณ์ (เฉลี่ยมากกว่าวันละ 3 เหตุการณ์ตลอด 17 ปี)
ในจำนวนนี้เป็นเหตุก่อความไม่สงบ 10,171 เหตุการณ์ เป็นเหตุก่อกวน 3,607 เหตุการณ์ และเหตุยิงปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกับกลุ่มติดอาวุธก่อเหตุรุนแรง จำนวน 334 เหตุการณ์ ที่เหลือเป็นอาชญากรรมทั่วไป ซึ่งหมายถึงเหตุขัดแย้งส่วนตัว ขัดผลประโยชน์ หรือชู้สาว รวม 5,828 เหตุการณ์
ฉะนั้นหากนับเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบ และเหตุรุนแรงที่ต่อเนื่องเกี่ยวโยงกัน ทั้งก่อกวน และยิงปะทะ จะพบว่ามีถึง 14,112 เหตุการณ์
แต่หากย้อนดูสถิติเหตุรุนแรงรายปี จะพบว่าปีที่จำนวนเหตุรุนแรงพุ่งสูงที่สุด คือปี 2550 อยู่ที่ 2,475 เหตุการณ์ โดยก่อนหน้านั้นก็ไต่ระดับมาตั้งแต่ปี 2547 จำนวน 1,154 เหตุการณ์ ปี 2548 จำนวน 2,078 เหตุการณ์ ปี 2549 จำนวน 1,934 เหตุการณ์
จากนั้นตั้งแต่ 2551 เหตุรนแรงก็ลดลงต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญมาจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษอย่างเต็มที่ (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, กฎอัยการศึก, กฎหมายฟอกเงิน) พร้อมเปิดยุทธการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม เป็นวงกว้าง
กระทั่งถึงปี 2558 เป็นต้นมา เหตุรุนแรงลดลงต่ำกว่า 1,000 เหตุการณ์ คือลดลงเหลือ 708 เหตุการณ์ในปี 2558 จากนั้นก็ลดลงเรื่อยๆ เหลือ 500 เหตุการณ์ในปี 2560 และลดลงต่อเนื่องเหลือ 441 เหตุการณ์ในปี 2561 และ 308 เหตุการณ์ในปี 2562
ขณะที่ปี 2563 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป เหตุรุนแรงลดเหลือเพียง 188 เหตุการณ์ โดยตัวเลขทั้งหมดนี้นับรวมคดีอาชญากรรมทั่วไปด้วย เพราะหลายเคสที่เกิดขึ้น ก็แยกแยะยากว่ามีแรงจูงใจจากอะไรแน่ หลายเรื่องก็เป็นการผสมโรง จึงมองได้ว่ามีเชื้อจากสถานการณ์ที่อึมครึมต่อเนื่องในพื้นที่ชายแดนใต้
@@ เลือดยังไม่หยุดไหล...
แน่นอนว่า ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อความสูญเสียทั้งชีวิตและร่างกายกับคนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัยในพื้นที่ชายแดนใต้
โดยตลอด 17 ปีที่ผ่านมา นับเฉพาะสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่นับรวมอาชญากรรมทั่วไป มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงรูปแบบต่างๆ ถึง 4,109 ราย เป็นประชาชนทั่วไปมากที่สุด 2,672 ราย รองลงมาคือทหาร 598 นาย ตำรวจ 400 นาย ผู้นำท้องถิ่น 247 ราย ครู 109 ราย ผู้นำศาสนา 23 ราย เจ้าหน้าที่รถไฟ 5 ราย และคนร้าย 55 คน นอกจากนั้นยังมีบุคคลที่มีชื่อเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบ เสียชีวิตจากการปะทะอีกจำนวนหนึ่ง
ส่วนผู้บาดเจ็บ มีทั้งรักษาหายและทุพพลภาพ ตลอด 17 ปีไฟใต้มีทั้งสิ้น 10,918 ราย มากที่สุดยังเป็นประชาชน จำนวน 6,071 ราย รองลงมาคือทหาร 2,824 นาย ตำรวจ 1,645 นาย ผู้นำท้องถิ่น 172 ราย ครู 130 ราย เจ้าหน้าที่รถไฟ 42 ราย ผู้นำศาสนา 27 ราย และคนร้าย 7 คน โดยยังมีคนร้ายที่บาดเจ็บจากการปะทะอีกจำนวนหนึ่ง
ที่น่าตกใจก็คือ หากนับรวมความสูญเสียจากอาชญากรรมทั่วไป และสูญเสียโดยไม่ทราบสาเหตุด้วย จะพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากทุกกลุ่มอาชีพรวมกัน 8,170 ราย และบาดเจ็บมากถึง 13,755 ราย
เมื่อนำมาทดลองหารเฉลี่ยยอดผู้เสียชีวิตในแต่ละปี (จากความรุนแรงทุกประเภท ทั้งก่อความไม่สงบและอาชญากรรมทั่วไป) พบว่าสูงถึงปีละ 480 ราย หรือเฉลี่ยมากกว่าวันละ 1 ศพ และบาดเจ็บมากกว่าวันละ 2 คน ถือเป็นพื้นที่ที่มีสถิติความสูญเสียสูงมาก ทั้งจากเหตุการณ์ความไม่สงบและอาชญากรรม
@@ สั่งเฝ้าระวังสร้างสถานการณ์
ในวาระครบรอบ 17 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน มีรายงานว่าฝ่ายความมั่นคงชายแดนใต้ได้เพิ่มความเข้มงวดในมาตรการรักษาความปลอดภัยพื้นที่เขตเมืองและสถานที่สำคัญ โดยมีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่เน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อดูแลความปลอดภัยในเขตชุมชนและย่านเศรษฐกิจ รวมถึงการรักษาฐานที่มั่นของตนเองอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงเหมือนที่เกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะการโจมตีฐานที่มั่นของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ
ขณะที่ทุกจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรถบรรทุกทุกที่สัญจรบนถนนสายหลักและสายรองทุกคัน เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อเหตุรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ ในวันครบรอบ 17 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน พร้อมทั้งกำชับให้ทุกหน่วยเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลที่ตั้ง กรม กอง และหน่วยงานราชการเป็นกรณีพิเศษ และทำการลาดตระเวนรักษาความสงบเรียบร้อย ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน รวมทั้งไม่ประมาทต่อสถานการณ์โดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันกลุ่มก่อความไม่สงบก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ในวันครบรอบ 17 ปีปล้นปืน