แม้ "ม็อบจะนะ" จะหายไปจากเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่าน แต่ปัญหานี้ยังเป็นดั่ง "ไฟสุมขอน" ที่รอวันลุกโชน
ย้อนดูข้อเรียกร้องของ "ม็อบจะนะ" ก่อนเก็บของกลับบ้าน มีสาระสำคัญ 2 ข้อ แต่แตกออกเป็น 4 ประเด็น กล่าวคือ
1. ให้ยกเลิกมติ ครม.ทุกฉบับที่เกี่ยวกับการดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
2. ให้คณะกรรมการผังเมือง และกรมโยธาธิการและผังเมือง ยกเลิกกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ที่ลงมติเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 ให้เปลี่ยนแปลงผังเมือง 3 ตำบล คือ ตำบลตลิ่งชัน นาทับ และสะกอม จาก "สีเขียว" เป็น "สีม่วง" เพื่อรองรับเขตอุตสาหกรรมจะนะ
3. จัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ของทั้งจังหวัดสงขลา
และ 4. ตั้งคณะทำงานที่มีสัดส่วนของภาคประชาชนและนักวิชาการตามที่ภาคประชาชนเสนอ เพื่อร่วมวางกรอบการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ ขณะที่กระบวนการศึกษาและการรายงานผลการศึกษา ต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและนักวิชาการด้วย
จากข้อเรียกร้อง 4 ประเด็น รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมให้แค่ประเด็นเดียว คือ ประเด็นที่ 3 เปิดทางตั้งคณะทำงานที่มีสัดส่วนของภาคประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายสนับสนุนอุตสาหกรรม และฝ่ายคัดค้านนิคมฯ โดยยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า "ม็อบจะนะ" ซึ่งนำโดย "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" จะสมหวังตามประเด็นที่เรียกร้องทั้งหมด
ที่สำคัญมติ ครม.ทั้ง 3 ฉบับที่เกี่ยวกับการผลักดันและขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ซึ่งปักหมุดที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ก็ไม่ได้ถูกยกเลิกตามที่มีกระแสเรียกร้อง ยิ่งไปกว่านั้น สุ้มเสียงจากฝ่ายรัฐยังคงยืนยันด้วยความมั่นใจว่า "นี่ไม่ใช่การถอย - ชะลอ - หรือยกเลิกโครงการ" แต่อย่างใด
ทั้งๆ ที่ข้อมูลจากฝ่ายวิชาการซึ่งไม่เห็นด้วยกับการเร่งรัดผลักดันนิคมอุตาหกรรมจะนะ ชี้ชัดว่าโครงการนี้มีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น
@@ นิคมจะนะ : มติ ครม.ลักไก่?
มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มีอยู่ 3 ฉบับด้วยกัน
1. มติ ครม.เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 สาระสำคัญ "เห็นชอบในหลักการ" การขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่ "เมืองต้นแบบที่ 4" อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะ "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" และการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบฯ อำเภอจะนะ ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.เสนอ พร้อมให้ ศอ.บต.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในขั้นตอนต่อไปให้เป็นไปตามกฎหมาย
2. มติ ครม.เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 สาระสำคัญ "รับทราบ" การประกาศกำหนดให้อำเภอจะนะ ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 "เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" เป็น "เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ" ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ หรือ "กฎหมาย ศอ.บต." และ "เห็นชอบ" ในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับแผนงานไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
และ 3. มติ ครม.เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 "รับทราบ" ผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ที่โรงเรียนจะนะวิทยา
และจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ได้นำไปสู่การแก้ไขผังเมือง 3 ตำบลของอำเภอจะนะ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 จาก "สีเขียว" เป็น "สีม่วง" เพื่อเปิดพื้นที่ให้ก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เรื่องการกำหนดให้พื้นที่ใดเป็น "เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ" นั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ "กฎหมาย ศอ.บต." มาตรา 10 โดยมีเป้าประสงค์เพื่อกำหนดกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาในเขตพื้นที่นั้น
แต่มาตรา 10 วรรค 2 ได้กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่า การกำหนดพื้นที่ใดเป็น "เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ" นั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 4 ในกฎหมายฉบับเดียวกันด้วย
โดยนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ เป็น "แผน 3 ปี" จัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. และต้องเสนอให้ ครม.เห็นชอบด้วย
แต่เมื่อย้อนไปตรวจสอบนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉบับปี 2560-2562 กลับไม่พบเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หรือ "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" บรรจุอยู่ในนโยบายหรือแผนการพัฒนา / แต่ มติ ครม.เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ซึ่งยังอยู่ในกรอบเวลาของนโยบายฉบับนี้ กลับ "เห็นชอบ" ให้ขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมจะนะไปก่อนแล้ว
จุดนี้เองที่ทำให้ "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ออกมารณรงค์คัดค้านโครงการนี้ โดยให้เหตุผลว่า "ครม.ลักไก่"
นอกจากนั้น มติ ครม.ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ยังได้รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงเรียนจะนะวิทยา ในท่วงทำนองคล้ายๆ กับว่าผ่านการ "ประชาพิจารณ์" เรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่เวทีในครั้งนั้นไม่มีการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้คัดค้านโครงการได้มีส่วนร่วมด้วย และไม่น่าจะเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548
@@ เปลี่ยนผังเมือง : ไวผิดสังเกต
หากย้อนไทม์ไลน์การผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จากหมุดหมายมติ ครม.แรก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ตามด้วยมติ ครม.ที่เห็นชอบให้ประกาศ "เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ" เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 จากนั้นก็มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมปีเดียวกัน และรับรองโดยมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงผังเมืองรองรับโรงงานอุตสาหกรรม ในวันที่ 28 กันยายน
จะเห็นได้ว่ากระบวนการทั้งหมดใช้เวลาเพียงปีเศษ โดยเฉพาะะการเปลึ่ยนแปลงผังเมือง 3 ตำบลของอำเภอจะนะ คือ ตำบลตลิ่งชัน นาทับ และสะกอม เกิดขึ้นจากการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดสงขลาเพียงนัดเดียว แม้เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจะฮือบุกเข้าไปยื่นหนังสือคัดค้านถึงในห้องประชุมบนศาลากลางจังหวัดก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นผล (มีคลิปช่วงที่ชาวบ้านบุกเข้าไป)
ความว่องไวของการขับเคลื่อนและเตรียมการให้ "เมืองจะนะ" เป็นนิคมอุุตสาหกรรม และเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ถูกมองเชิงเปรียบเทียบกับการขับเคลื่อน "เมืองต้นแบบ" อีก 3 เมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นแผนพัฒนาเฟสแรก ก่อนจะต่อยอดมาที่อำเภอจะนะเป็นเมืองที่ 4
โดยเฉพาะ "เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน" อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่มีการชักชวนเอกชนมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ชื่องว่า บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เม็ดเงินลงทุนเฟสแรกหลายร้อยล้านบาท เพราะล่าสุดปรากฏว่า บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่นฯ ต้องยกเลิกสายการผลิตทั้งหมด โดยหนึ่งในเหตุผลหลักๆ ก็คือ การที่ทางราชการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงผังเมืองที่ดิน 211 ไร่ที่บริษัทฯซื้อเอาไว้เพื่อขยายโรงงานในเฟสสอง ให้เป็น "พื้นที่สีม่วง" ทำให้บริษัทฯไม่สามารถขยายไลน์การผลิตได้ตามแผน
หนังสือที่ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่นฯ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แจ้งยุติการผลิตทั้งหมดของโรงงานที่ปัตตานีนั้น แจกแจงไทม์ไลน์และเหตุผลเอาไว้อย่างละเอียด สรุปก็คือรัฐบาลไม่อุดหนุนส่วนต่างค่าขนส่ง และไม่ยอมเปลี่ยนผังเมืองของที่ดิน 211 ไร่ที่บริษัทฯลงทุนซื้อไว้ จนกลายเป็นความสูญเปล่า ไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆ ได้ ทั้งๆ ที่ทำเรื่องร้องขอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลนานกว่า 1 ปี
ท้ายหนังสือแจ้งยุติการผลิต บริษัทฯแจกแจงความเสียหายที่ต้องแบกรับถึง 400 ล้านบาท ทั้งๆ ที่จ้างงานเป็นคนปัตตานีทั้งหมดกว่า 200 อัตรา แน่นอนว่าหลังจากนี้คนงานทั้งหมดต้องตกงาน แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากรัฐบาลและ ศอ.บต.ที่จะแก้ไขเพื่อบรรเทาปัญหา
ผิดกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่มีมติ ครม. "รับทราบ" ผลการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพียงเดือนเศษ ก็เปลี่ยนแปลงผังเมืองได้ในทันที จากการประชุมเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ทั้งๆ ที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะยังไม่เกิดขึ้นจริง และยังไม่มีการจ้างงานใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ก็ตาม
นี่คือความลักลั่นของนโยบายการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล และ ศอ.บต. จึงไม่แปลกที่โครงการนี้จะถูกคัดค้านอย่างหนักจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และนักวิชาการ