เหตุการณ์สำคัญของปี 2563 นอกจากพิษโควิดที่เขย่าประเทศจนเศรษฐกิจแทบล้มละลายแล้ว ยังมีการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาแสดงพลังเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ อย่างมากมายกว้างขวางที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปี
ไม่ว่าคุณจะมองม็อบในแง่มุมไหนก็ตาม แต่สิ่งที่ม็อบออกมาเคลื่อนไหว แสดงความเห็น หรือด่าทอ หลายๆ เรื่องก็คือ "ตะกอน" ที่เคยนอนก้นอยู่ในสังคมไทย แต่วันนี้มันได้ถูกกวนขึ้นมา บางเรื่องต้องบอกว่าทำให้น้ำขุ่นคลั่ก
หนึ่งในประเด็นที่ม็อบเรียกร้องและเป็นข่าวไปไม่นานนี้ คือการ "บอกลาชุดนักเรียน" แล้วแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน ท่ามกลางกระแสทั้งสนับสนุนทั้งคัดค้าน จนกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมบ้านเราว่าแต่งแบบไหนถึงจะลดความเหลื่อมล้ำมากกว่ากัน
แต่ด้วยกลไกเดิมๆ ของสังคมที่ยังมีอยู่ (หรือไม่มี) ทำให้วันนี้เรายังหาทางออกที่ดีไม่ได้ นอกจากทำให้มันกลับไปเป็นตะกอนนอนก้นเหมือนเดิม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเพียงชั่วคราว
มีตัวอย่างที่น่าสนใจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นั่นไม่ได้มีกระแสเรียกร้องขอแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน แต่มีเด็กๆ น้องๆ นักเรียนจำนวนมากที่ยากจนข้นแค้น ถึงกับไม่มี "รองเท้า" ใส่ไปโรงเรียน
รองเท้าที่ว่านี้ ไม่ใช่แค่รองเท้านักเรียน แต่หมายถึงรองเท้าแตะ รองเท้าธรรมดา ก็ไม่มีเหมือนกัน ฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่ประเด็นการแต่งกายด้วยชุดไปรเวทหรือไม่ แต่มันเป็นความเหลื่อมล้ำถึงขีดสุดที่เกิดขึ้นกับเยาวชน อนาคตของชาติในประเทศของเรา
เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ แต่น่าแปลกที่โรงเรียนไม่มีกลไกในการดูแล หรือหาร้องเท้าให้เด็กที่ยากไร้ ซึ่งโรงเรียนหนึ่งอาจจะต้องการแค่ไม่กี่คู่
ยังดีที่ในพื้นที่มี "ภาคประชาสังคม" ที่เข้มแข็งพอสมควร อาจจะเป็นเพราะต้องอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงมานาน (ไฟใต้) จึงมีองค์กรภาคประชาสังคมเกิดขึ้นมาก หนึ่งในนั้นคือ "กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้" พวกเขาพร้อมใจกันทำขนมจีนขาย เป็นขนมจีนอบแห้ง ย้อมสี ภาษาถิ่นเรียกว่า "ละซอ" เป็นอาหารที่คนมุสลิมในพื้นที่นิยมรับประทาน โดยทางกลุ่มนำมาบรรจุหีบห่อสวยงาม พร้อมน้ำยาสำเร็จรูป ผลิตออกจำหน่าย ทั้งไปออกร้านตามงานต่างๆ และวางขายทั่วไป แล้วก็นำเงินที่ได้ไปซื้อรองเท้านักเรียนให้กับเด็กยากจน รวมถึงซ่อมบ้านให้กับผู้ยากไร้ในพิ้นที่ด้วย
กิจกรรมการแจกรองเท้านักเรียนให้กับน้องๆ ที่ไม่มีรองเท้าใส่ไปโรงเรียนนี้ ทางกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ได้เปิดรับเรื่องราวความเดือดร้อนของนักเรียน โดยให้ตัวเด็กหรือครอบครัวติดต่อมา จากนั้นจะมีทีมงานลงไปสำรวจว่าเดือดร้อนจริง ก็จะซื้อรองเท้านักเรียนไปมอบให้ โดยเบื้องต้นมีเด็กๆ ทั้งชายและหญิงร้องขอมา 200 คน 200 คู่ ตรวจสอบแล้วเป็นครอบครัวที่เดือดร้อนจริง 160 คน ล่าสุดมอบไปแล้ว 110 คู่ เหลืออีก 50 คู่ จะจัดพิธีมอบในวันที่ 2 ม.ค.ที่จะถึงนี้ (ท่านที่สนใจอยากช่วยบริจาค ติดต่อเพจเฟซบุ๊ค "กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้" หรือ "ศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้")
กิจกรรมการแจกรองเท้านักเรียนที่ผ่านมา เด็กๆ หลายคนเมื่อรับแจก ถึงกับร้องไห้ด้วยความดีใจ หลายคนเป็นเด็กกำพร้า พ่อเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ แม่ไม่มีงานทำ (ปัญหาว่างงานเป็นปัญหาใหญ่มากของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ไม่มีแม้กระทั่งเงินซื้อข้าวกิน จึงไม่มีเงินซื้อรองเท้าใส่ไปโรงเรียน เมื่อได้รับแจกรองเท้าก็ร้องไห้ เพราะจะได้มีรองเท้าใส่ไปโรงเรียนเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ เสียที
เมื่อเร็วๆ นี้ทางกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ยังได้รับเรื่องร้องเรียนว่า มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งหนึ่งในพื้นที่ ไม่อนุญาตให้เด็กหญิงคนหนึ่งเข้าสอบ ทั้งๆ ที่เรียนดี สาเหตุเป็นเพราะไม่มีกางเกงสีที่ตรงกับระเบียบของโรงเรียนใส่ไปสอบ เนื่องจากทางบ้านยากจน มีแต่กางเกงที่ได้รับบริจาค ซึ่งเป็นสีผิดระเบียบ เจอเคสแบบนี้หลายคนอาจจะคิดว่าถ้าเด็กไทยแต่งไปรเวทไปโรงเรียนได้ เด็กคนนี้อาจจะได้เข้าสอบไปแล้ว
เรื่องนี้ทราบว่าเป็นกระแสพอสมควรในพื้นที่ และได้มีการประสานฝ่ายต่างๆ เข้าไปเจรจากับทางผู้บริหารโรงเรียนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเรื่องลักษณะนี้ ที่ผ่านมาเคยมีประเด็นนักเรียนมุสลิมของโรงเรียนชื่อดังในพื้นที่ขอแต่งกายตามหลักศาสนามาแล้ว (เด็กหญิงสวมฮีญาบ เด็กชายสวมกางเกงขายาว) แต่ผิดระเบียบของโรงเรียนซึ่งเป็น "โรงเรียนวัด" เปิดสอนมานานกว่า 50 ปี ประเด็นนี้ถือว่าละเอียดอ่อนกว่าการแต่งไปรเวทธรรมดา เพราะไปโยงเรื่องศาสนาด้วย