บ้านทรงคุณค่า 5 หลัง อายุนับร้อยปีย่านเมืองเก่าเมืองปัตตานี ได้รับการติดตั้งป้ายทองเหลือง "บ้านทรงคุณค่าปัตตานี" ประจำปี 2563 จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์อาคาร บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิมที่ทรงคุณค่า โดยมีนายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานติดตั้งป้าย
"บ้านทรงคุณค่า" หลังแรก ณ เรือนช่างทองเหลือง ตำบลจะบังติกอ เป็นเรือนโบราณ อายุประมาณ 100 ปี ตั้งอยู่บนถนนยะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นเรือนไม้รูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมลายู หลังคาทรงบลานอเรียงกัน 3 จั่ว ประกอบหลังคาปีกนกด้านข้างมุงกระเบื้องดินเผาปลายแหลมหรือกระเบื้องดินเผาหางว่าว โครงสร้างไม้ทั้งหลัง ผนังก่ออิฐฉาบปูน บางส่วนมุงสังกะสี ยกพื้นสูง ใต้ถุนมีประโยชน์ใช้สอยสำหรับนั่งพักผ่อนและทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
หลังที่ 2 บ้านเลขที่ 10 ถนนยะรัง ตำบลจะบังติกอ เป็นเรือนไม้รูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมลายู เป็นเรือนไม้อายุเกือบ 90 ปี เรือนด้านหน้าหลังคาทรงบลานอ ประกอบหลังคาปั้นหยาด้านข้าง เรือนด้านหลังหลังคาทรงปั้นหยาแฝด 2 จั่วต่อกัน มุงกระเบื้องดินเผาปลายแหลมหรือกระเบื้องดินเผาหางว่าว
หลังที่ 3 อาคารไวท์เฮาส์ มูลนิธิชูเกียรติ-ปิติเจริญกิจ ไวท์เฮาส์ เป็นชื่อเรียกบ้านสีขาวหลังใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนฤาดี ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีรูปแบบอาคารที่ทันสมัยและดูแปลกตากว่าบ้านหลังอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักอาศัยเมื่อประมาณ พ.ศ.2477 ตัวบ้านมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เป็นอาคารสูงสามชั้น แต่ละชั้นมีระเบียงรายรอบ ประตูหน้าต่างมีลักษณะเป็นซุ้มโค้ง ช่องแสงประดับกระจกสีสวยงาม จากการสืบค้นประวัติพบว่าบ้านหลังนี้เคยถูกเรียกว่า "บ้านสิบหมื่น" และยังเคยเป็นที่ทำการ บริษัทจังหวัดปัตตานี จำกัด อยู่ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง
หลังที่ 4 บ้านกงสี ตั้งอยู่ในย่านหัวตลาดจีน หรือชุมชนหัวตลาด ถนนอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เดิมเป็นบ้านพักอาศัยของ "ตันปุ่ย" หรือ หลวงสำเร็จกิจจางวาง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367-2394) ภายหลังเป็นที่พักอาศัยของลูกหลาน และปัจจุบันเปรียบเป็นบ้านบรรพชนของตระกูล
หลังที่ 5 บ้านขุนพิทักษ์รายา สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2460 เป็นเรือนพักอาศัยต่อเนื่องมา 4 รุ่น ตั้งอยู่ในย่านหัวตลาดจีน หรือชุมชนหัวตลาด ถนนปัตตานีภิรมย์ ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นเรือนแถวสองชั้นสองคูหา รูปแบบของเรือนแถวมีการประยุกต์ระหว่างสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นและสถาปัตยกรรมจีน มีอายุประมาณ 90-100 ปี
รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี เผยว่า กิจกรรมนี้สืบเนื่องจากจังหวัดปัตตานีได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการบ้านทรงคุณค่าปัตตานี ประจำปี 2563" ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.63 เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมการอนุรักษ์อาคารบ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิม ตามหลักคุณค่าและลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีและของชาติ
“กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ระยะที่ 1 “ม.อ.ปัตตานี กับการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา : วงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี” และระยะที่ 2 “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมเชิงพื้นที่วงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี” โดยคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาการยกย่องเชิดชูเกียรติบ้านทรงคุณค่า บุคคล และองค์กรที่ส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรม อันทรงคุณค่าของจังหวัดปัตตานี ประจำปี 2563 และได้มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณโดย นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในพิธีเปิดงาน "shining Pattani ปัตตานี...ใช่เลย" เมื่อวันที่ 28 พ.ย.63” รศ.อิ่มจิต กล่าว
ขณะที่เจ้าของอาคารไวท์เฮาส์ นายชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ เล่าถึงความเป็นมาของบ้านและความรู้สึกที่ได้รับการขึ้นประกาศเชิดชูเป็นบ้านทรงคุณค่า
"ผมซื้อบ้านโบราณอายุร้อยปีหลังนี้ไว้หลายปีแล้ว และมอบให้กับมูลนิธิฯ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อบูรณะเสร็จทราบว่ามีมุสลิมที่เก็บวัตถุโบราณมานับสิบปี และจะขายวัตถุโบราณเหล่านั้น หากเขาขายไปที่อื่นก็เสียดายของดีของบ้านเรา จึงซื้อมาเก็บไว้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด 1,800 กว่าชิ้น ผมไม่ถือว่าเป็นของผม เป็นสมบัติของคนปัตตานี และขอบคุณคณาจารย์ ม.อ.ปัตตานีที่ช่วยเก็บรวบรวมให้อย่างเป็นระบบ ขอบคุณที่มอบป้ายทองเหลืองกับบ้านทรงคุณค่า" เป็นคำขอบคุณจากเจ้าของอาคารไวท์เฮาส์ พิพิธภัณฑ์แหล่งรวมวัตถุโบราณของปัตตานีและนานาชาติ
อาคารสีขาวหลังนี้มี 3 ชั้น ชั้นที่ 1 รวบรวมเครื่องทองเหลืองของทุกภาคและต่างประเทศ อายุราวสมัยรัตนโกสินทร์ ชั้นที่ 2 เป็นเครื่องทองเหลืองปัตตานี เครื่องแก้ว เครื่องเงิน ธนบัตรและเหรียญตราทั้งไทยและต่างประเทศ ชั้นที่ 3 เป็น เครื่องถ้วยไทย จีน ยุโรป เอเชีย กริชสกุลช่างปัตตานี สงขลาและนครศรีธรรมราช ศาสตราวุธทั้งไทยและต่างประเทศ
รศ.อิ่มจิต เผยอีกว่า ทางมูลนิธิฯ ได้ช่วยเหลือสังคมหลายรูปแบบและเห็นเป็นรูปธรรม เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสมบัติปัตตานีที่มีสภาพสมบูรณ์และหาได้ยาก ให้คนปัตตานีได้รู้จักและหวงแหนสิ่งดีที่มีอยู่ คนนอกได้รู้จักปัตตานีในอีกมิติหนึ่ง และมีการส่งมอบให้อนุชนรุ่นหลังได้ภูมิใจและรักษาไว้
นายสนิท เจ๊ะมุ เจ้าของบ้านช่างทองเหลือง ย่านจะบังติกอ อายุร้อยกว่าปี บอกว่า ยังอยู่อาศัยกับน้องสาวในบ้านหลังนี้ ได้ซ่อมแซมหลังคาไปเพราะหลังคาชำรุด
“ต้องดูแลเพราะอยากให้บ้านมีสภาพดี เก็บหม้อทองเหลือง กระบอกขนมจีน เครื่องใช้ในครัวไว้จำนวนหนึ่ง จากการที่ปู่เป็นช่างทำทองเหลืองและพ่อสืบทอด เลิกทำตอนรุ่นเรา ดีใจมากที่ได้รับป้ายทองเหลือง จะรักษาบ้านหลังนี้ไว้อย่างเต็มกำลัง”
บ้านเก่าอายุร้อยปีทรงคุณค่าทั้ง 5 หลังนี้ ถือเป็นรากฐานและสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ อันเป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีและของชาติ ที่ส่งต่อคนรุ่นหลังช่วยกันดูแลรักษาต่อไป