เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการประชุมร่วมของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2563 ตามที่คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เป็นผู้เสนอ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับร่างของรัฐบาล และรับหลักการไปด้วยเสียงท่วมท้น ขณะที่ฝ่ายค้านและเสียงจากนอกสภาก็ยังโวยว่าเป็นร่างที่ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการทำประชามติที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ฝ่ายค้านเองก็เสนอร่าง พ.ร.บ.ชื่อเดียวกันมาประกบไว้ด้วย แต่ไม่ได้เสนอให้เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป จึงต้องเข้าสู่ระเบียบวาระตามขั้นตอนปกติ คือเข้าสภาผู้แทนราษฎร แล้วไปต่อวุฒิสภา ไม่ได้เข้าที่ประชุมรัฐสภาทันทีเหมือนร่างของรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป (เพราะฝ่ายค้านมองว่าไม่ได้เป็น)
เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ของฝ่ายค้าน ยังเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ประธานสภาจึงต้องส่งไปให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองอีกขั้นตอนหนึ่ง ทำให้ช้าหนักเข้าไปอีก
แต่ที่น่าสนใจก็คือ เนื้อหาในร่างกฎหมายของฝ่ายค้านและรัฐบาล มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญมากพอสมควร โดยเฉพาะกรอบการทำประชามติ และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ จากจุดนี้เองจึงทำให้มีเสียงคัดค้านร่างของรัฐบาล และเรียกร้องให้เร่งบรรจุร่างของฝ่ายค้านเข้าสู่การพิจารณา เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 2 หากผ่านวาระ 3 ก็ต้องทำประชามติทันที แต่ถ้าถึงวันนั้นแล้วยังไม่มีกฎหมายประชามติ การลงประชามติก็ยังต้องรอต่อไป และจะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าช้าไปมากกว่าเดิม
นี่คือหมากกลทางการเมืองที่ต้องบอกว่าสู้กันทุกเม็ด!
ส่วนเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ของรัฐบาลกับฝ่ายค้านแตกต่างกันอย่างไร "ทีมข่าวอิศรา" ทำข้อมูลมาเปรียบเทียบให้ดูแบบเข้าใจง่าย....
@@ ร่างฯ รัฐบาล @@
1. ชื่อเต็ม "ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ...."
2. เสนอเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป พิจารณาโดยที่ประชุม "รัฐสภา"
3. การออกเสียงประชามติทำได้ 2 กรณี
3.1 แก้ รธน.ตามมาตรา 256 (แก้หมวด 1 หมวด 2 หมวด 15 ว่าด้วยวิธีการแก้ รธน. และอำนาจศาล/องค์กรอิสระ) เป็นภาคบังคับต้องทำประชามติ
3.2 ตามที่ ครม.เห็นสมควร (ตาม รธน.มาตรา 166) ต้องไม่เป็นประเด็นที่ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นเรื่องตัวบุคคล/คณะบุคคล
4. การทำประชามติต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน
5. วิธีการออกเสียง ใช้บัตรลงคะแนนหย่อนใส่หีบบัตร
6. ผ่านประชามติด้วย 2 เงื่อนไข
6.1 ผู้มาออกเสียงต้องเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง (สัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี / อายุ 18 ปีขึ้นไป / ไม่ใช่พระ นักบวช และไม่วิกลจริต)
6.2 เสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง
7. การให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น
7.1 กรณีร่างแก้ไข รธน. ให้ กกต.สรุปสาระสำคัญเผยแพร่ประชาชน โดยไม่ชี้นำ
7.2 กรณีอิ่นๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะทำประชามติ ทำข้อมูลเผยแพร่ โดยไม่ชี้นำ
7.3 จัดแสดงความเห็นผ่านทีวี วิทยุได้ แต่ต้องรอบด้าน เท่าเทียม
8. มีโทษสำหรับผู้ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ประเด็นที่ 8 นี้ ฝ่ายค้านและภาคประชาชนมองว่า เขียนไว้กว้างๆ อาจตีความว่าการรณรงค์ให้รับ ไม่รับ หรือโหวตโน เข้าข่ายความผิด มีโทษจำคุกถึง 10 ปี
@@ ร่างฯ ฝ่ายค้าน @@
1. ชื่อเต็ม "ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ...."
2. เสนอเป็นกฎหมายธรรมดา เข้าสภาตามวาระปกติ (ผ่านสภาผู้แทนฯ แล้วจึงไปวุฒิสภา)
3. การออกเสียงประชามติทำได้ 4 กรณี
3.1 ตามที่ ครม.เห็นสมควร (กำหนดประเด็นที่ ครม.ให้ทำประชามติได้อย่างน้อย 6 เรื่อง)
3.2 ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ทำ
3.3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายประเด็น
3.4 การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยมี ส.ส.ร.
4. การทำประชามติ 2 ประเด็นแรก ต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ส่วนประเด็นที่ 3 และ 4 ต้องไม่น้อยกว่า 60 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน
5. วิธีการออกเสียง ใช้บัตรลงคะแนน หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก็ได้
6. ผ่านประชามติมี 2 หลักเกณฑ์
6.1 ประเด็นที่ ครม.เห็นสมควร หรือกฎหมายกำหนดให้ทำ ใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง
6.2 ประเด็นแก้ไข รธน. ผู้มาออกเสียงต้องเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และจำนวนเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง
7. การให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น
7.1 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะทำประชามติ ทำข้อมูลเผยแพร่ต่อประชาชน โดยไม่ชี้นำ
7.2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานทีวี วิทยุ สื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐ ให้เผยแพร่ข้อมูลอย่างกว้างขวาง ทั่วถึง
7.3 ประชาชน พรรคการเมือง องค์กรเอกชน และกลุ่มต่างๆ ในสังคม มีเสรีภาพจัดกิจกรรมรณรงค์ได้
8. การจัดกิจกรรมรณรงค์ ไม่เข้าข่ายเป็นการขัดขวางเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
จะเห็นได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ของฝ่ายค้านและรัฐบาล มีเนื้อหาแตกต่างกันในสาระสำคัญหลายจุดจริงๆ โดยร่างของรัฐบาลเน้นความสงบเรียบร้อย ไม่ชี้นำความเห็นของพี่น้องประชาชน และให้เวลาในการเตรียมการสำหรับทำประชามติแต่ละเรื่องนานพอสมควร เรียกว่าเหลือเฟือเลยก็ว่าได้ คืออยู่ระหว่าง 3-4 เดือน
ส่วนร่างของฝ่ายค้าน เน้นให้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์จากทุกฝ่ายได้อย่างเสรี คือเน้นความคึกคัก แต่ก็รวบรัดกันทำประชามติให้อยู่ในกรอบเวลา 45-90 วันเท่านั้น เรียกว่าน้อยกว่ารัฐบาลเกือบครึ่ง แถมยังเปิดช่องให้ทำประชามติในประเด็นที่ประชาชนเห็นแตกต่างได้มาก ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
ก็ต้องรอดูว่าหลักการที่แตกต่างกันขนาดนี้ สุดท้ายสภาจะผ่านร่างฉบับไหนให้ประชาชนได้ใช้ทำประชามติ หรือสุดท้ายจะกลายเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ ซ้ำเติมวิกฤติชาติให้หนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม