กมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ติดตามปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ จี้ ศอ.บต.แก้ปัญหากรณี บ.ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และปัญหาประมงพาณิชย์โดยการรับซื้อเรือประมง
วันที่ 24 พ.ย.63 ทางคณะอนุกรรมาธิการสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้ประชุมเพื่อติดตามปัญหาที่พี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สะท้อนมา โดยทางคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เรียนเชิญผู้แทนจาก กอ.รมน.ภาค 4 พล.ต.ธิรา แดหวา รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 และ ผู้แทน ศอ.บต. ประกอบด้วย นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน นายยรรยงค์ ราชานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมบัญชีกลาง ช่วยราชการ ศอ.บต. น.ส.ขวัญจิต เคียงตระกูล นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ และ ร.ต.ท. กิตติพิชญ์ เดชพันธุ์ ปลัดอำเภอ เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ เข้าหารือเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวิฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ กล่าวว่า ผลการหารือพอสรุปได้เป็นสังเขปดังต่อไปนี้คือ
1.ศอ.บต. รับจะไปได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ กรณี บ.ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และจะทำหนังสือ เพื่อแจ้งผลการดำเนินการ (timeline) ในประเด็นการส่งเสริมด้านการขนส่งสินค้า (logistics) การส่งเสริมตามมาตรการของกระทรวงการคลัง การแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับผังเมืองและการขอใช้พื้นที่ในการขยายทำโรงงานฯ ให้ทางบริษัทฯรับทราบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและประกอบการตัดสินใจของบริษัทฯต่อไป เรื่องนี้ประเด็นสำคัญอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่จะไปลงทุนทำธุรกิจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งในระยะปัจจุบันและในอนาคต
2.การแก้ไขปัญหาประมงพาณิชย์โดยการรับซื้อเรือประมง ศอ.บต.กำลังผลักดันการรับซื้อเรือของจังหวัดชายแดนใต้ จำนวนประมาณ 600 ลำ สำหรับการดำเนินการในเฟส 2 ผลลัพธ์น่าจะเห็นผลได้ในระยะอันใกล้นี้
นอกจากนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ฝากประเด็นสำคัญต่างๆ ให้แก่ ศอ.บต.ได้ช่วยเร่งรัดเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำของพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิเช่น
1.การส่งเสริมแก้ไขปัญหาในการปรับปรุงเรือประมงเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำจากโต๊ะบาหลี กลันตัน ประเทศมาเลเซียเข้ามาในประเทศไทย เพื่อความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง (ปัจจุบันใช้การขนส่งทางรถ) โดยจะต้องขอความร่วมมือจากกรมเจ้าท่าเกี่ยวกับใบอนุญาตผู้ควบคุมเรือ
2.การให้ความสำคัญกับโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ซึ่งลงทุนน้อย แต่สามารถสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชุมชน ประชาชนในพื้นที่ได้มาก เช่น การเปิดอุโมงค์แห่งใหม่ของกลุ่มร่วมพัฒนาชาติไทยที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวเขื่อนบางลาง
นอกจากนี้ในการส่งเสริมการจัดการท่องเที่ยว ขอให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและชุมชนได้มีส่วนร่วม เพื่อให้ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งตกกับคนในพื้นที่ เช่นที่ skywalk อัยเยอร์เวง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของกรมอุทยาน จากข้อมูลล่าสุดในช่วงวันหยุดยาวระหว่างวันที่ 19-22 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวไปชมทะเลหมอกเฉลี่ยถึงวันละประมาณ 1 หมื่นคน ดังนั้นอนุกรรมาธิการ จึงอยากเห็นการบริหารจัดการที่เป็นแบบธุรกิจชุมชนเกิดขึ้น
3. การเปิดอ่าวปัตตานีเพื่อให้ชุมชนสามารถจับสัตว์น้ำ (หอย) เป็นแหล่งสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนจำนวน 10 ตำบลรอบอ่าว ซึ่งมีประมาณ 1 หมื่นครัวเรือน ศอ.บต.แจ้งว่า จะมีการประชุมเรื่องนี้ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ ข่าวคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป
4.การติดตามส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลในสามจังหวัดชายแดนใต้
5. การเร่งรัดติดตามเงินเสี่ยงภัย (เดือนละ 2,500 บาท ) ที่ยังรอการอนุมัติทำให้เบิกจ่ายล่าช้าส่งผลต่อขวัญกำลังใจผู้ปฎิบัติงานที่เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ศอ.บต.แจ้งว่า เงินตกเบิกทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปลายเดือนหน้า
"ในประเด็นเหล่านี้ ทาง ศอ.บต.ได้รับเรื่องและจะเร่งรัดการดำเนินการต่อไป การประชุมในวันนี้จบลงอย่างมีคำตอบตามสมควร ผมเชื่อมั่นว่า ทุกเรื่องพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้ประโยชน์สุขสมตามเจตนารมณ์ของ คณะอนุกรรมาธิการฯ ที่วาดหวังไว้ครับ"
รศ.ดร.สังศิต กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมในคราวหน้า เราจะนำประเด็นการสร้างและการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาหารือกัน รวมทั้งผมยังมอบหมายให้ทีมงานหาเอกสารวิจัยเรื่องประมงที่รัฐบาล คสช.ใช้ในการประกอบการตัดสินใจเรื่อง IUU Fishing เพื่อค้นหาและตรวจสอบหลักฐานความถูกต้องและทำให้ความจริง (truth) ปรากฎต่อสังคม เพื่อประโยชน์แก่รัฐบาล ประเทศชาติและพี่น้องประมงทั้งประเทศ ที่สำคัญที่สุดคือสถานการณ์ของประมงไทยในขณะนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์ในปี 2557 ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาทบทวนในการหารือกับ EU ใหม่ รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขพรบ.ประมงให้สอดคล้องกับความเป็นจริงใหม่ด้วย