การต่อสู้ในสนามเลือกตั้งนายก อบจ. ระหว่างเจ้าของเก้าอี้คนเดิมที่ครองตำแหน่งมาหลายสมัย กับผู้สมัครหน้าใหม่ แม้จะไม่สด แต่ก็ห่างชั้นกันพอสมควรนั้น ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีเฉพาะที่นราธิวาส แต่ยังมีที่ปัตตานีด้วย
ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดปัตตานี มีเขตเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทั้งสิ้น 30 เขต มีสมาชิกได้เขตละ 1 คน คือ อำเภอเมืองปัตตานี 5 เขต อ.ยะรัง ยะหริ่ง อำเภอละ 4 เขต อ.โคกโพธิ์ สายบุรี หนองจิก อำเภอละ 3 เขต อ.ปะนาเระ มายอ อำเภอละ 2 เขต อ.กะพ้อ แม่ลาน ทุ่งยางแดง และไม้แก่น อำเภอละ 1 เขต มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 66 คน
ขณะที่ตำแหน่งนายก อบจ. มีผู้สมัคร 2 คน คือ นายรุสดี สารอเอง อายุ 48 ปี ได้หมายเลข 1 กับ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี อายุ 57 ปี ได้หมายเลข 2 ทั้งคู่จบการศึกษาระดับปริญญาโท และมีอาชีพหลักเป็นนักการเมืองเหมือนกัน
ศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ.ปัตตานีหนนี้ หากมีพลิกล็อค ต้องถือเป็น "พื้นที่ล้มช้าง" เนื่องจากนายเศรษฐ์ ผูกขาดเก้าอี้นี้มาอย่างยาวนานถึง 3 สมัย แม้การลงสมัครทุกครั้งจะมีผู้ท้าชิง แต่ก็ไม่สามารถสร้างแรงสะเทือนให้นายเศรษฐ์ได้เลย
ย้อนกลับไปการเลือกตั้งเมื่อปี 2555 นายเศรษฐ์ได้หมายเลข 2 เหมือนครั้งนี้ และเอาชนะคู่แข่งอย่าง นายมะหามะ มะเด็ง หมายเลข 1 ไปแบบขาดลอย 139,482 ต่อ 91,869 คะแนน จากจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์ ร้อยละ 61.54 โดยคะแนนของนายเศรษฐ์ เหนือคู่แข่งถึง 11 อำเภอจาก 12 อำเภอของปัตตานี มีเพียง อ.สายบุรี อำเภอเดียวเท่านั้นที่พ่ายแพ้ แต่ก็เฉียดฉิวแค่ 8 คะแนน
ส่วนการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 มีผู้สมัคร 3 คน นายเศรษฐ์ได้หมายเลข 3 กวาดคะแนนไปทั้งหมด 98,854 คะแนน เอาชนะ นายอนุมัติ ซูสารอ ผู้สมัครหมายเลข 2 ซึ่งได้ 73,781 คะแนน และ นายอับดุลลาเตะ ยากัด หมายเลข 1 ที่ได้ไปเพียง 41,030 คะแนน จากจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ร้อยละ 60.53 โดยครั้งนั้นนายเศรษฐ์มีคะแนนเหนือคู่แข่ง 10 อำเภอ แพ้นายอนุมัติไปแค่ 2 อำเภอ คือ สายบุรี และปะนาเระ โดยนายอนุมัติ เคยเป็น สจ.เขต อ.ปะนาเระ 2 สมัย ปัจจุบันเป็นผู้แทนสนามใหญ่ คือ ส.ส.ปัตตานี สังกัดพรรคประชาชาติ
ดูเหมือน อ.สายบุรี จะเป็นจุดอ่อนของอดีตนายก อบจ. 3 สมัยรายนี้ และน่าสนใจตรงที่ผู้ท้าชิงคนล่าสุดของเขา คือ นายรุสดี สารอเอง เป็นอดีต ส.อบจ.ปัตตานี เขต อ.สายบุรี หลายสมัย และมีเวลาเตรียมตัวค่อนข้างนาน เนื่องจากการเลือกต้้งนายก อบจ.ถูกแขวนมานานไม่น้อยกว่า 7 ปี ตั้งแต่การเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของ คสช.
นายรุสดี มีฐานเสียงสำคัญอยู่ที่ อ.สายบุรี และเป็นแกนนำหาเสียงให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ใน จ.ปัตตานี จนสามารถฝ่าด่านหินเข้ามาได้ 1 คน คือ นายอับดุลบาซิ อาบู ส.ส.ปัตตานี เขต 2 ปักธงภูมิใจไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สำเร็จ นอกจากนั้นยังช่วยกันเก็บแต้ม "คะแนนพรรค" ทำให้ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ได้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทยด้วย
พญ.เพชรดาว เป็นลูกสาวของ นายเด่น โต๊ะมีนา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีต ส.ว.ปัตตานี จากการเลือกตั้ง โดยนายเด่นเป็นแกนนำกลุ่มวาดะห์ ถือเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด และประสบความสำเร็จสูงที่สุดคนหนึ่งของดินแดนปลายด้ามขวาน แม้ปัจจุบันจะวางมือทางการเมืองแล้วด้วยวัยชรา แต่บารมีนับว่ายังสูงลิบ
นอกจากนั้น นายรุสดี ยังมี ด.ต.อับดุลเลาะ สะนิดอเลาะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ ปัตตานี เขต 2 ลงสมัครเป็นรองนายก อบจ.ด้วย ซึ่งทั้ง ด.ต.อับดุลเลาะ และ นายอับดุลบาซิ อาบู ส.ส.ภูมิใจไทย ต่างก็มีฐานเสียงสำคัญอยู่ใน อ.โคกโพธิ์ และอำเภอใกล้เคียง
เท่านั้นยังไม่พอ นายรุสดี ยังมี นายมะดารี วาแบะ ลูกเขยของ นายมะแอ สะอะ หรือ "หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ" อดีตแกนนำขบวนการพูโลผู้กว้างขวาง เป็นทีปรึกษาด้วย ซึ่งทั้งนายมะดารี และหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ มีฐานเสียงหนาแน่นใน อ.ปะนาเระ ที่นายเศรษฐ์เคยพ่ายแพ้มาแล้วเมื่อคราวการเลือกตั้งปี 2551
ทีมงานของนายรุสดี จึงถือว่าพร้อมที่สุดในการท้าชนกับแชมป์เก่า นับตั้งแต่ที่เคยแข่งขันกับ นายอนุมัติ ซูสารอ เป็นต้นมา
แต่ด้วยชื่อชั้นอดีตนายก อบจ. 3 สมัยซ้อน การจะล้มแชมป์ย่อมไม่ง่าย เพราะหลายคนเชื่อว่าสนามท้องถิ่นถือเป็นสนามผูกขาดของนายกฯเศรษฐ์ เนื่องจากมีฐานเสียงที่แข็งแกร่ง แถมยังมีสายป่านยาวจนยากที่จะมีผู้สมัครคนใดเทียบติด ขณะเดียวกันแกนนำในระดับผู้นำท้องที่และผู้นำท้องถิ่น ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล และ อบต. ก็ให้การสนับสนุน ที่สำคัญนายเศรษฐ์ยังมีทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะองค์กรมุสลีมะห์ และองค์กรปุสตากอ
ส่วนการปะทะกับบารมีของ นายเด่น โต๊ะมีนา นั้น ทางฝั่งนายเศรษฐ์ก็เตรียมแนวทางต่อสู้เอาไว้แล้ว โดยจะใช้ฐานเสียงของพรรคประชาชาติช่วยอีกแรง เพราะนายเศรษฐ์ มีสายสัมพันธ์อันดีกับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะ "บ้านใหญ่" ของยะลา และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ในทีมบริหารก็ยังมี อัสมาน โต๊ะมีนา ร่วมอยู่ด้วย
บทสรุปของศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ.ปัตตานี หนนี้ แม้นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี จะยังมีภาษีดีกว่ามาก แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะฝ่ายผู้ท้าชิงมีเวลาเตรียมตัว เตรียมทีม และมีความพร้อมมากโขอยู่ ขณะที่การเรื้อเวทีเลือกตั้งมานาน และนั่งเป็นนายก อบจ.รักษาการในยุค คสช. อาจทำให้ชาวปัตตานีอยากเห็นอะไรใหม่ๆ บ้างเหมือนกัน
งานนี้จึงต้องลุ้นกันวันต่อวันจนถึง 20 ธันวาฯ แบบตาห้ามกระพริบ!
------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบภาพที่ 2 จาก กกต.ปัตตานี
อ่านประกอบ :
ศึกชิงนายก อบจ. 3 จังหวัดใต้ ใครเป็นใครในสมรภูมิเดือด จับตามีล้มช้าง?
นราธิวาสงานใหญ่ "เก่าปะทะใหม่" ชิงนายก อบจ.