ศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ.ที่เป็นสมรภูมิ "เก่าปะทะใหม่" มีอยู่หลายจังหวัด หนึ่งในนั้นคือ "นราธิวาส" ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีปัญหาความไม่สงบ และต้องประกาศใช้กฎหมายพิเศษมานานเกือบ 17 ปี
สาเหตุที่เรียกว่าสมรภูมิ "เก่าปะทะใหม่" ก็เพราะผู้ที่ครองเก้าอี้นายก อบจ.อยู่เดิม ทำหน้าที่มาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 สมัย หรือ 16 ปี ขณะที่ผู้ท้าชิงเป็น "มวยหน้าใหม่" ในแบบที่ไม่เคยผ่านสนามการเมืองมาก่อนเลย
แวะไปดูคนเก่ากันก่อน เอ่ยชื่อมาไม่มีคนนราฯคนไหนไม่รู้จัก นายกฯกูเซ็ง ยาวอหะซัน ซึ่งถือเป็น "บ้านใหญ่" ของการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นในนราธิวาส เพราะนอกจากตัวเองจะผูกขาดตำแหน่งนายก อบจ.มาแล้วหลายสมัย ยังมีลูกชายเป็น ส.ส.ถึง 2 คนด้วย คือ นายกูเฮง ยาวอหะซัน กับ นายวัชระ ยาวอหะซัน แต่แยกกันอยู่คนละพรรค โดยนายวัชระผู้พี่ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ส่วนนายกูเฮงผู้น้อง สังกัดพรรคประชาชาติ
ถือเป็นการเมืองแบบ "บาลานซ์" ตามสไตล์ "ยาวอหะซัน" และเป็นเครื่องยืนยันบารมีของนายกฯกูเซ็ง ที่สามารถจัดสรรพื้นที่และอำนาจได้ทั้งจังหวัดจริงๆ
นายกูเซ็ง ในวัย 75 ปีมีฐานเสียงใหญ่ที่สุดในนราธิวาส ทั้ง ส.อบจ.เดิมที่สนับสนุนอยู่แล้ว รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล หรือ อบต. โดยภาพของนายกูเซ็ง เป็นนักการเมืองสไตล์ "พี่มีแต่ให้" ใครขออะไรได้หมด จึงมีแต่คนรัก ไม่ค่อยมีคนเกลียด เอาแค่วันไปยื่นเอกสารการสมัคร เมื่อวันที่ 2 พ.ย.63 ก็มีกองเชียร์ตามไปกว่าครึ่งพัน จนพื้นที่ภายในและรอบๆ ศาลากลางจังหวัดไม่มีที่จอดรถ
แต่เดิมตระกูลยาวอหะซัน มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคชาติไทย ตั้งแต่ยุค นายบรรหาร ศิลปอาชา และต่อเนื่องมาจนถึงยุคที่เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา หลังจากพรรคชาติไทยเดิมถูกยุบ กระทั่งระยะหลังจึงเริ่มขยับไปลงสมัครในสีเสื้อพรรคอื่นสำหรับสนามการเมืองระดับชาติ ทั้งพรรคประชาชาติ และพลังประชารัฐ
ส่วนทางฟาก "หน้าใหม่" ที่ขึ้นสังเวียนเป็นผู้ท้าชิง เพิ่งยื่นใบสมัครเมื่อวันที่ 4 พ.ย.นี้เอง คือ นายคอยรูซามัน มะ นักธุรกิจหนุ่มใหญ่วัย 45 ปี ลงสมัครในนาม "คณะก้าวหน้า" เรียกว่าเป็น "ฝ่ายสีส้ม" อย่างชัดเจน
นายคอยรูซามัน จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาคุรุศาสตร์อิสลาม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีประสบการณ์การทำงานเป็นคณะกรรมการกองทุนนวัตกรรมวิสาหกิจชุมชนพึ่งตนเอง ในสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. เป็นนายกสมาคมนักธุรกิจมุสลิมนราธิวาส เป็นคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดนราธิวาส 2 สมัย อดีตเลขานุการนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองตากใบ จังหวัดนราธิวาส และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้ตรวจการภาคประชาชนด้านเศรษฐกิจ
นายคอยรูซามัน ประกาศตัวชัดเจนหลังยื่นใบสมัครว่า อยากเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ชิงตำแหน่ง นายก อบจ.นราธิวาส โดยชูนโยบายความก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน คือ 1.ด้านการศึกษาก้าวหน้า 2.เยาวชนก้าวหน้า 3.เศรษฐกิจก้าวหน้า 4.สวัสดิการก้าวหน้า และ 5.เกษตรก้าวหน้า พร้อมประกาศเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ภายใต้สโลแกน "นราธิวาสดีขึ้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น"
ฐานเสียงคนรุ่นใหม่ในนราธิวาสก็ถือว่าไม่ขี้เหร่ เพราะมีมหาวิทยาลัยชั้นนำตั้งอยู่ คือ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยนักเรียนนักศึกษาในนราธิวาสเคยจัดกิจกรรม "ชูสามนิ้ว" มาแล้ว นอกจากนั้นยังมีเมืองหน้าด่านสำคัญถึง 2 เมือง คือ สุไหงโก-ลก กับตากใบ ทำให้มีคะแนนจากภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อย
แต่ศึกชิงนายก อบจ.นราธิวาส ไม่ได้มีผู้ท้าชิงแค่ 2 คน ทว่ายังมี นายรำรี มามะ วัย 70 ปี ผู้สมัครหมายเลข 2 รวมอยู่ด้วย และประมาทไม่ได้ เพราะนายรำรี เคยเป็น ส.ส.นราธิวาส จากพรรคประชาธิปัตย์ และเคยไปช่วยงานการเมืองกับ "ลุงกำนัน" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งขับเคลื่อนพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยนายรำรี ชูนโยบาย "เปลี่ยนนราธิวาส" เช่นกัน โดยหวังคะแนนเสียงจากกลุ่มคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และเบื่อนายกูเซ็ง เนื่องจากนั่งนายก อบจ.มาหลายสมัยแล้ว
โครงการในจังหวัดที่จะถูกนำมาขยายผลในการหาเสียงเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น คือการละเลยบริการและการดูแลคุณภาพชีวิตของชาวนราธิวาสในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง "แพขนานยนต์ตากใบ" ซึ่งเป็นแพที่ให้บริการทั้งคนและรถยนต์ในการข้ามแม่น้ำตากใบจากฝั่ง "ด่านพรมแดนตาบา" ไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งแพขนานยนต์นี้ ชำรุดบ่อยครั้ง แต่ไม่ค่อยมีการซ่อมแซม และเมื่อมีการเรียกร้องให้จัดซื้อใหม่ ทาง อบจ.ในฐานะผู้ดูแลก็ทำเฉย ทำให้ประชาชนและพ่อค้าแม่ขายได้รับความเดือดร้อน จนถูกโจมตีและเสียคะแนนไปไม่น้อยเช่นกัน
เมื่อคอการเมืองนราธิวาสมองว่าศึกชิงนายก อบจ.หนนี้เป็นสมรภูมิ "เก่าปะทะใหม่" คือให้น้ำหนักไปที่การแข่งขันระหว่าง นายกูเซ็ง กับ นายคอยรูซามัน และเชื่อว่าฝ่ายผู้สมัครหน้าใหม่น่าจะช่วงชิงคะแนนมาได้ไม่น้อย ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ถือว่าส่งผลดีกับนายรำรี และอาจทำให้มีหวังขึ้นมาได้บ้าง โดยเฉพาะหากได้คะแนนสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้เล่นในสนามนี้ เช่น นายนัจมุดดิน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาสหลายสมัย ซึ่งปัจจุบันอยู่กับพรรคประชาชาติ และมีคะแนนเสียงส่วนตัวมากพอสมควร รวมไปถึง "หมอแว" นายแพทย์ แวมาฮาดี แวดาโอะ อดีต ส.ส.และอดีต ส.ว.เมื่อปี 2549 ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากกลุ่มหัวก้าวหน้า และกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ
ศึกครั้งนี้จึงไม่ง่ายสำหรับนายกูเซ็ง และประมาทกระแสคนรุ่นใหม่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงไม่ได้จริงๆ
-------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : ศึกชิงนายก อบจ. 3 จังหวัดใต้ ใครเป็นใครในสมรภูมิเดือด จับตามีล้มช้าง?