"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" จัดประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาทางออกเงินเยียวยาครอบครัว "คุรุวีรชน" ที่เสียชีวิตและทุพพลภาพจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังพบปัญหาความล่าช้า ทั้งๆ ที่มีมติ ครม.รับรองให้จ่ายรายละ 4 ล้าน
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ร่วมกันจัดงาน "รำลึกคุรุวีรชน ครั้งที่ 11" เพื่อระลึกถึงครู 182 รายที่ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และเพื่อแสดงความรัก ความผูกพันของครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านวิกฤติ ผ่านสถานการณ์ความรุนแรงมาด้วยกัน โดยภายในงานมีการสะท้อนปัญหาเรื่องเงินเยียวยาที่ล่าช้า ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. ได้รับเรื่องไปดำเนินการต่อในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (อ่านประกอบ : 16 ปี 182 ชีวิต...ครูในวิกฤติไฟใต้กับความจริงที่ต้องเผชิญ)
ล่าสุดเมื่อศุกร์ที่ 30 ต.ค.63 พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายพินิจ ตันติวิญญูพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 3 พร้อมคณะ ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรมบัญชีกลาง และสํานักงบประมาณ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือครอบครัวหรือทายาทของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิตและทุพพลภาพจากเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่กลับไม่ได้รับงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงที จนเป็นเหตุให้ครอบครัวต้องเดือดร้อน
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และ นาทวี) ได้สร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินให้กับทุกกลุ่มอาชีพ อาชีโดยพครูเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของผู้ก่อเหตุความรุนแรง เพราะเป็นเป้าหมายอ่อนแอ ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ จึงต้องระดมทุกฝ่ายเข้ามาแก้ไขปัญหา นอกจากด้านความปลอดภัยที่มีการจัดกำลังชุด รปภ.ครูแล้ว ยังมีเรื่องการจัดสวัสดิการ การดูแลด้านขวัญกำลังใจ และการช่วยเหลือเยียวยาครู ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิตและทุพพลภาพจากสถานการณ์ความไม่สงบด้วย
ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เพื่อขอรับการช่วยเหลือเยียวยาแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิตและทุพพลภาพรายละ 4,000,000 บาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 ต.ค.56 รับทราบและเห็นชอบตามมติ กพต.ไปแล้ว แต่ปัจจุบันครอบครัวหรือทายาทของครูผู้เสียชีวิตยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาใดๆ จึงได้มีการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
เหตุนี้เอง ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมหารือถึงข้อเท็จจริง ปัญหา อุปสรรค และหาแนวทางแก้ไข โดยพบว่าขณะนี้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสวัสดิการครูและบุคลาการทางการศึกษาผู้เสียชีวิตและพิการอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และส่งให้กรมบัญชีกลางพิจารณาแล้ว แต่เนื่องจากมีข้อเท็จจริงบางประเด็นยังไม่ได้ข้อยุติ
ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะว่า 1. ให้ทางกระทรวงศึกษาธิการเร่งประสานความร่วมมือกับกรมบัญชีกลางในการพิจารณาร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสวัสดิการครูและบุคลาการทางการศึกษาผู้เสียชีวิตและพิการอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
2. เห็นควรตั้งงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลัก และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการเบิกจ่ายงบอุดหนุนโครงการช่วยเหลือเยียวยาดังกล่าว ประกอบด้วยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งจะทำให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างเหมาะสม และหากไม่เพียงพอก็อาจจะขอสนับสนุนจากรัฐบาลได้
"ผมอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เพราะกระบวนการเบิกจ่ายงบอุดหนุนเงินช่วยเหลือนั้น มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาหลายขั้นตอนและต้องมีความรอบคอบ เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาแก่ครอบครัวของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิตนั้นสามารถเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป" พล.อ.วิทวัส กล่าว
ได้ฤกษ์! ศอ.บต.จ่ายเยียวยาเพิ่มครอบครัว 3 ศพเขาตะเว
ก่อนหน้านี้ ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้จัดพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบตามระเบียบ กพต. ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555 จำนวน 41 ราย
ในจำนวนนี้มีการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมแก่ครอบครัว นายฮาพีซี มะดาโอะ, นายบูดีมัน มะลี และนายมะนาซี สะมะแอ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตบนเขาอาปี เทือกเขาตะเว ท้องที่บ้านอาแน ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เนื่องจาก "สำคัญผิด" ว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.62
โดยแต่เดิมทั้ง 3 ครอบครัวได้เงินเยียวยาครอบครัวละ 500,000 บาท ซึ่งไม่ตรงกับที่ทางราชการรับปากเอาไว้ในการประชุมประชาคมร่วมกับคนในหมู่บ้านของผู้ตายทั้ง 3 คน ทำให้ครอบครัวออกมาร้องเรียน และไปยื่นหนังสือถึงอาคารรัฐสภาที่กรุงเทพฯ กระทั่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติจ่ายเยียวยาเพิ่มอีกรายละ 1 ล้านบาท ตามมติ กพต. แต่ ศอ.บต.ก็ยังจ่ายล่าช้าอยูดี จนตกเป็นข่าวอีกหลายครั้ง ก่อนจะการจัดพิธีมอบเงินยียวยาพร้อมกับผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ รวม 41 รายดังกล่าว (อ่านประกอบ : ศอ.บต.แจ้งจ่ายเยียวยาเพิ่ม 3 ศพเขาตะเวครอบครัวละล้าน)
พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 41 รายแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. สืบเนื่องจากความสูญเสีย เหตุสำคัญผิดบนเขาตะเว (3 ครอบครัว) โดยเป็นการช่วยเหลือเยียวยาความรู้สึก แม้ไม่สามารถทดแทนความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็หวังให้คนที่มีชีวิตอยู่มีอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
กับ 2. เป็นการช่วยเหลือสืบเนื่องจากคดีความมั่นคง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าผู้ที่ถูกจับกุมหรือถูกดำเนินคดีไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นการเยียวยาตามระยะเวลาที่สูญเสียไป วันละ 400 บาท แบ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก จ.นราธิวาส 17 ราย ปัตตานี 15 ราย ยะลา 8 ราย และ จ. สงขลา 1 ราย รวมเป็นเงินช่วยเหลือทั้ง 2 ส่วน 5,734,000 บาท
เลขาธิการ ศอ.บต.ย้ำว่า การเยียวยาในลักษณะตัวเงินเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ศอ.บต.ยังมีโครงการหลายโครงการที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ เช่น การพัฒนาภายใต้โครงการพื้นที่สันติสุขขนาดเล็ก ซึ่งจะตรวจสอบคุณภาพความเป็นอยู่เพื่อช่วยเหลือเรื่องอาชีพและวางแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับความสามารถของประชาชนในพื้นที่ ขณะที่ผู้เสียชีวิตบนเขาตะเว นายบูดีลัน มะลี มีบุตรชาย 1 คนยังอยู่ในวัยเรียน ศอ.บต.ก็จะสนับสนุนทุนการศึกษาและทุนยังชีพจนจบปริญญาตรี หรืออายุ 25 ปีบริบูรณ์
พ่อเหยื่อเผยเยียวยาด้วยเงินไม่สามารถลบความเจ็บปวด
นายอะหมัด มะดาโอะ บิดาของ นายฮาพีซี มะดาโอะ หนึ่งในผู้เสียชีวิต กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ภาครัฐช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม เพราะบุตรชายที่เสียชีวิตถือว่าเป็นเสาหลักของครอบครัว เป็นคนดูแลตน ภรรยา และน้องๆ ซึ่งภายหลังได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา 500,000 บาทเมื่อคราวก่อน ก็ได้นำเงินไปซื้อที่ดินและสร้างบ้านเพื่อให้มีบ้านเป็นของครอบครัว ก็ต้องขอบคุณสำหรับการให้ความช่วยเหลือในครั้งนั้น ส่วนการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาท ก็จะนำไปทำบุญให้ลูกชาย และภรรยาของลูกชายที่เสียชีวิตแล้วในขณะนี้ ส่วนที่เหลือจะนำไปซื้อสวนยางพาราเพื่อให้มีที่ดินทำมาหากินเป็นของครอบครัว
"การสูญเสียในครั้งนี้ถือว่าเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญ เพราะฮาพีซีเป็นลูกและพี่ชายคนสำคัญของครอบครัว หากจะขอความช่วยเหลือก็ขอให้ภาครัฐไม่ทิ้งกัน ช่วยเหลือกันในด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตต่อไป" พ่อของนายฮาพีซี กล่าว และว่า
"การเยียวยาเป็นการปลอบใจหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาแล้ว ซึ่งมันจะลบภาพความรู้สึกที่เจ็บปวดของครอบครัวที่สูญเสียไม่ได้ เพราะครอบครัวเป็นคนบริสุทธ์ การเยียวยาด้วยปัจจัยเงินทองยังไม่พอ เพราะความจริงใจและความยุติธรรม ตลอดจนการไม่มีอคติของเจ้าหน้าที่ต่างหากที่สำคัญที่สุด" นายอะหมัด กล่าว พร้อมเรียกร้องให้เร่งดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้อาวุธปืนยิงลูกชายกับพวกจนเสียชีวิตบนเขาตะเว