ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนสภาพสังคมและเศรษฐกิจบ้านเราในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี กรณีที่มีหญิงไทยจากทั่วประเทศมากถึง 1,261 คน แห่ยื่นใบสมัครเพื่อเข้าสอบคัดเลือกเป็นทหารพรานหญิงชายแดนใต้ ทั้งๆ ที่มีอัตรารับได้จริงเพียง 15 อัตราเท่านั้น
กองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็น "อาสาสมัครทหารพรานหญิง" สังกัดกองทัพภาคที่ 4 ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยเปิดให้ยื่นใบสมัครด้วยตนเองตั้งแต่วันที่ 12-21 ก.ย.63 ที่ผ่านมา จากนั้นจะมีการสอบขั้นที่ 1 ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร และกองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระศรีสุริโยทัย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในวันศุกร์ที่ 25 ก.ย.
โดยจะมีการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ได้แก่ สถานีวิ่ง ดันพื้น และลุกนั่ง หากไม่ผ่านเกณฑ์ที่กองทัพบกกำหนด จะถือว่าตก ถูกตัดสิทธิ์การสอบภาควิชาการและสอบสัมภาษณ์ ส่วนการสอบภาควิชาการ ได้แก่ ความรู้วิชาทหารพราน ขณะที่การสอบสัมภาษณ์ จะเป็นการสังเกตลักษณะท่าทาง เชาว์ปัญญา การทดสอบเชิง จิตวิทยา คุณลักษณะทางทหาร ทัศนคติและความจงรักภักดี โดยใช้ข้อสอบและเกณฑ์การสอบจากส่วนกลางทั้งหมด
สำหรับการสอบขั้นที่ 2 สำหรับผู้ผ่านการสอบขั้นที่ 1 แล้ว วันที่ 29 ก.ย.จะมีการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดในร่างกาย กรณีตรวจพบสารเสพติด จะถูกตัดสิทธิ์ทันที และจะประกาศผลการสอบทางเพจเฟซบุ๊กกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากมีข้อสงสัย ทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าตนเองสอบได้คะแนนเท่าไหร่
สำหรับหญิงไทยที่สนใจสมัครเข้าเป็นทหารพรานถึง 1,261 คน ทั้งๆ ที่มีอัตรารับได้เพียง 15 คนนั้น มีภูมิลำเนาจากทุกภาคของประเทศ โดยสาเหตุที่มีผู้ยื่นใบสมัครเป็นจำนวนมาก พ.อ.จีรศักดิ์ คงทน รองผู้บังคับการกองกำลังทหารพรานฯ บอกว่า น่าจะเป็นเพราะมีความตั้งใจ และรักอาชีพการเป็นทหาร แต่ก็ยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีส่วนทำให้สาวไทยยื่นใบสมัครเยอะเป็นพิเศษ
"เรารับตามอัตราที่ขาด 15 คน แต่จะขึ้นยอดเอาไว้ 3 เท่าของยอดที่ขาด โดยรอบแรกจะคัดเอาไว้ 135 คน ใน 135 คนนี้จะมีสอบขั้นที่ 2 เพื่อจัดลำดับและขึ้นยอดไว้ 1 ปีงบประมาณ (ขึ้นยอดจริง 3 เท่าของยอดที่ขาด 15 คน คือ 45 คน) เพื่อทดแทนการสูญเสีย เช่น ลาออก ไปมีครอบครัว ไปทำงานอื่น สอบนายสิบได้ หรือสอบข้าราชการส่วนอื่นได้"
"ครั้งนี้มีผู้มาสมัครทั้งหมด 1,261 คน โดยเป็นคนในพื้นที่สามจังหวัดและภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาคอื่นๆ ก็มีบ้าง เหตุผลที่มีการสมัครสอบจำนวนมาก ผมคิดว่าเพราะเขามีความตั้งใจ รักอาชีพการเป็นทหารที่มีวินัย ได้ทำหน้าที่ทหาร ถือปืน รักษาอธิปไตยของชาติ รักษาความสงบเรียบร้อย ยิ่งสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ยิ่งมาสมัครเยอะมาก"
พ.อ.จีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทหารพรานทั้งหญิงและชายจะทำสัญญาการปฏิบัติงานแบบปีต่อปี เงินเดือนขั้นต่ำตามวุฒิการศึกษา 9,000-10,000 บาท มีเบี้ยเสี่ยงภัย 2,500 บาทต่อเดือน และเบี้ยเลี้ยงสนามตามวันที่ทำงาน วันละ 200 บาท รวมๆ แล้วจะได้เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 18,500 บาท
"สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันก็รู้ๆ กันอยู่ ทหารพรานมีเบี้ยเลี้ยง มีเงินเดือน มีเงินเสี่ยงภัย ก็เลยมาสมัครกันเยอะ ส่วนใหญ่จบปริญญาตรี ปริญญาโทก็มี"
รองผู้บังคับการกองกำลังทหารพรานฯ บอกอีกว่า รูปแบบการทำงานของทหารพรานหญิง อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนสนใจอยากเป็นทหารพราน เพราะในพื้นที่อ่อนไหวอย่างสามจังหวัดใต้ ทหารพรานหญิงจะมีบทบาทมาก
"ทหารพรานทำงานกับประชาชน คนในพื้นที่ก็มีความสนใจ เวลาหน่วยออกปฏิบัติงานในพื้นที่ ทหารพรานหญิงจะมีบทบาทมาก เช่น งานกองกิจการต่างๆ ทหารพรานหญิงจะเข้าไปทำ เด็กก็จะเห็น การทำงานสนุก มีระเบียบวินัย การแต่งตัวก็เป็นระเบียบเรียบร้อย การพูดจาก็ดี ถือเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เด็กอยากเป็นทหาร"
"จะเห็นตัวเลขว่า ทหารพรานหญิงเรารับได้น้อย เพราะเขาไม่ค่อยออก งานที่ทำเป็นงานที่มีศักดิ์ศรี อยู่กับประชาชน เป็นงานที่แสดงออกถึงความเสียสละ เป็นจุดเร้าใจ อีกอย่างคนที่มาสมัครเขาเห็นภาพการทำงานของทหารในพื้นที่ เห็นภาพการทำงานกับประชาชน ในหมู่บ้าน โรงเรียน ยิ่งช่วงโควิด-19 มีผลมาก เราแจกอาหารให้ประชาชนที่ยากลำบาก ไปถึงบ้านเลย ทหารพรานหญิงจะทำอาหารสด อาหารร้อน แล้วเข้าไปแจก อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง"
"เวลาตรวจค้นผู้ต้องสงสัยที่เป็นผู้หญิง เราก็ใช้ทหารพรานหญิงทำ ก็ถือว่าทหารพรานหญิงมีส่วนสร้างความเข้าใจได้เยอะมาก เป็นส่วนหนึ่งในการดับไฟใต้ได้มากทีเดียว เพราะทหารพรานหญิงมีความอ่อนหวาน แต่ก็มีความแข็งแกร่งในตัวเอง" พ.อ.จีรศักดิ์ กล่าวในที่สุด
-----------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้