"โชคดีที่ได้อยู่ปัตตานี" คงไม่มีใครคาดหวังว่าจะได้ยินประโยคนี้จากข้าราชการที่ต้องบรรจุหรือย้ายไปประจำที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะอันตรายรอบด้านจากสถานการณ์ความไม่สงบทำให้ใครๆ พากันมองว่าดินแดนแห่งนี้ไม่น่าเฉียดกรายเข้าไปใกล้
แต่คนที่พูดประโยคนี้ไม่ใช่ข้าราชการทั่วไป เพราะเธอเป็น "ครู" ซึ่งเป็นอาชีพที่ตกเป็นเป้าความรุนแรงมากที่สุดรองจากทหารและตำรวจ แถมยังเป็นครูสาวไทยพุทธที่ไม่ได้มีพื้นเพเป็นชาวปัตตานีด้วย
ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกดี ณ ดินแดนแห่งนี้ คือลูกศิษย์ที่เป็นมุสลิมเกือบ 100% และงานศิลปะ
ข้าราชการครูที่ยืดอกทำหน้าที่อยู่ในปัตตานีคนนี้ คือ "ครูออย" วราภรณ์ วรรณพันธ์ ครูผู้หญิงตัวเล็กๆ จากนครศรีธรรมราช เธอมีหัวใจรักศิลปะ เรียนจบคณะศิลปกรรมศาสตร์จากรั้วมหาวิทยาลัยทักษิณ จากนั้นไปเป็นศิลปินอิสระที่ภูเก็ตอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่ทางบ้านจะแนะนำให้หางานทำที่มั่นคง เธอจึงเริ่มเส้นทางชีวิตครูเมื่อปี 2547 ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จากนั้นจึงย้ายมาสอนที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี และอยู่ยาวมากว่า 10 ปีแล้ว รวมเวลาที่ใช้ชีวิต ณ ดินแดนปลายด้ามขวานนานถึง 13 ปี
"ตอนนั้นมีการเปิดสอบครูศิลปะ เป็นปีที่ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู เราก็สอบติด ไปอยู่ตากใบพักหนึ่ง จากนั้นก็ย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนยะหริ่งตั้งแต่ปี 2551"
การสอนศิลปะในถิ่นกันดารอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ใครจะเชื่อว่าจังหวัดที่เด็กมีคะแนนโอเน็ตต่ำที่สุดในประเทศ กลับมีความสามารถทางศิลปะฉายแวว สามารถเจียระไนเป็นเพชรเม็ดงาม คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศได้
และปัจจัยสำคัญของความสำเร็จมาจากการคิดนอกกรอบของครูออย
"ปัญหาแรกของที่นี่คือไม่มีสีมาวาดภาพ สีที่มีอยู่แต่ละห้องไม่พอกับเด็กพันกว่าคน และสีก็มีราคาแพง ครูจึงคิดเอาทุกสีที่มีอยู่ในโรงเรียนมารวมกัน ให้เด็กใช้ทุกสีที่มี เด็กก็สนุกกับการสร้างสรรค์ ตอนนั้นมีรายการแข่งศิลปะสร้างสรรค์ของ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ให้ใช้สีอะไรก็ได้มาวาดภาพไม่ต่ำกว่า 3 ชนิด เด็กกล้าใช้สี ทำให้ได้ที่ 1 ของประเทศ ได้งบประมาณมาซื้ออุปกรณ์เพื่อสอนและฝีกฝีมือกันต่อ"
รางวัลที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับครูออย ให้พาเด็กจากชายแดนใต้ไปสู่จุดสูงสุดทางศิลปะ ทำให้เธอเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนนอกเวลาอย่างไม่เป็นทางการ ฝึกซ้อมกันเอง โดยใช้วินัยเป็นตัวกำหนด
"ครูฝึกซ้อมเด็กทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลาบ่าย 2 ครึ่ง มีเด็กที่สนใจศิลปะ ตั้งเป็นชุมนุมขึ้นมา 43 คน วิธีการสอนจะบอกให้เด็กรู้จักคิด เรียนรู้หลักการวาดทุกชนิด แต่ไม่วาดให้ดู บอกไปว่าจะวาดอะไรก็ได้ ขอให้เป็นการวาดจากจินตนาการ ไม่ชอบให้เด็กคัดลอกจากภาพไหนๆ แต่ให้ทำจากความคิดของเด็กเอง ทุกขั้นตอนครูจะถามเด็กก่อน ให้เด็กคิดเองตัดสินใจเอง อย่างการฝึกซ้อม เคยฝึกรอบละชั่วโมง ก็ขอเพิ่มเป็น 3 ชั่วโมง ใช้วิธีเหมือนจิบน้ำไปเรื่อยๆ ไม่ดื่มรวดเดียว เมื่อฝึกเสร็จห้ามเก็บของ ให้ไปพักก่อน ไปกินขนม ให้เวลาเด็กเล่นเกม ได้พักหลังจากทำงาน"
การเป็นครูพุทธที่ต้องฝึกซ้อมลูกศิษย์มุสลิมนอกห้องเรียน ต้องสร้างความเข้าใจและเชื่อใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองมากทีเดียว
"ครูดูแลเด็กเหมือนดูแลลูกตัวเอง ตอนค่ำเด็กต้องไปเรียนอัลกุรอานกันต่อ ผู้ปกครองก็ยอม เพราะเคยไปส่งเด็กถึงบ้านเนื่องจากเลิกค่ำ ผู้ปกครองและชุมชนยินดีต้อนรับ เราต้องรับผิดชอบลูกเขาให้กลับถึงบ้าน วันหยุดที่มาฝึกซ้อม ครูก็มาจากในเมือง และเตรียมอาหารเช้ามาให้เด็กกิน สอนเด็กให้มาตรงเวลา พอฝึกซ้อมเสร็จก็จะมาวิจารณ์กันว่างานของแต่ละคนเป็นแบบไหน จากนั้นเด็กอยากไปไหนให้บอก พาไปเล่น กินข้าว ผู้ปกครองเข้าใจ"
"ทุกครั้งที่ฝึกซ้อม หรือแม้แต่ในการแข่งขัน ครูจะดูแลเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจของเด็กๆ อย่างเคร่งครัด ต้องละหมาดให้ทันทุกเวลา ผู้ปกครองบางคนเป็นห่วงเรื่องละหมาด ครูก็จะถ่ายรูป เปิดกล้องให้ดู ทำให้ผู้ปกครองวางใจ"
Trophy หรือรางวัลที่ได้จากแรงบันดาลใจของครูออย ถือว่าน่าภาคภูมิใจไม่น้อยทีเดียว และเป็นเครื่องยืนยันความสามารถของเด็กจากชายแดนใต้ที่ชี้วัดไม่ได้ด้วยคะแนนโอเน็ต
ปี 2554 ครูออยพาลูกศิษย์คว้ารางวัลที่ 2 ของการประกวดศิลปะระดับประเทศ ได้เงินรางวัลมา 20,000 บาท นำมาซื้อสีจากญี่ปุ่นให้เด็ก เพราะสาเหตุที่ไม่ได้รางวัลชนะเลิศ เนื่องจากแพ้เด็กกรุงเทพฯที่ใช้สีจากญี่ปุ่น
ปี 2555-2556 งานศิลปะของนักเรียนโรงเรียนยะหริ่ง ได้รางวัลระดับประเทศ
ปี 2557 ครูออยพาลูกศิษย์คว้ารางวัลชนะเลิศ และได้พาเด็กนั่งเครื่องบินตามที่เคยสัญญาไว้
ปี 2558 ประกวดงานศิลปะในหัวข้อสีสันของวัฒนธรรม จินตนาการของเด็กๆ พุ่งแรง มีการติดเพชรในชิ้นงาน ทำให้ได้รางวัลชนะเลิศ โดยเด็กใส่ความเป็นท้องถิ่นและอัตลักษณ์ของชุมชนเข้าไป
"เด็กมุสลิมที่นี่อยู่ในกรอบศาสนา แต่ไม่ปิดกั้นความรู้ ขณะที่ยะหริ่งมีวัดเยอะ ทำให้เด็กคุ้นชินกับพหุวัฒนธรรม มีอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นไทย ที่สำคัญคนที่นี่มีน้ำใจ ครั้งหนึ่งลูกศิษย์ไปประกวดงานศิลปะ ได้รางวัลมา 20,000 บาท ครูไปมอบเงินให้ที่บ้าน พ่อของเด็กยื่นเงินรางวัลให้ครูครึ่งหนึ่ง ซึ้งในน้ำใจมาก แต่บอกว่าไม่ขอรับ ร้องไห้เลย เขาลำบากแต่ยังมีน้ำใจให้เรา ครูบอกว่าครูรวยแล้ว ครูไม่เอา นี่คือความสุขของครูแล้วที่ได้เห็นลูกศิษย์ประสบความสำเร็จ"
"เด็กที่นี่เก่งเยอะ เขาพูดได้สองภาษา เรียนหนักทั้งสามัญและศาสนา ที่โรงเรียนยะหริ่งครูทุกคนสอนเต็มที่ ถ่ายทอดทุกอย่าง ไม่มีใครหารายได้จากการสอนพิเศษ ครูรู้สึกสนุกไปกับเด็ก เสาร์อาทิตย์ก็มาฝึกซ้อม ไม่สอนพิเศษ มีเด็กคนหนึ่งคว้ารางวัลมาหลายรางวัล รวมๆ แล้วกว่าครึ่งแสน เด็กอยู่กับยาย พ่อแม่ไปทำงานที่มาเลย์ และมีเด็กอื่นๆ อีกหลายคนที่ตั้งใจ ฝีกฝนจนได้ดี"
ความตั้งใจของครูออย ไม่เพียงทำให้ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จ มีรางวัลและความมุ่งมั่นติดตัวเพื่อไปศึกษาต่อด้านศิลปะเท่านั้น แต่ตัวครูเองก็ได้รางวัลมากมายจากหลายหน่วยงานด้วย
ปี 2560 รางวัลครูดีศรี ศอ.บต. (ระดับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) และรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นระดับประเทศ
ปี 2561 รางวัลครูดีชายขอบ ผู้ปฏิบัติงานดีเด่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปี 2562 รางวัลครูสดุดี ซึ่งเป็นรางวัลระดับชาติ และรางวัลครูทรงคุณค่า สพฐ. ครั้งที่ 9
การเป็นครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเคยสัมผัสความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง...ครูออยก็เช่นกัน
"อยู่ในเหตุการณ์ระเบิดถึง 2 ครั้ง บ้านพักเดิมที่ปิยามุมัง (อ.ยะหริ่ง) อยู่ในสหกรณ์ร้านค้าที่โดนระเบิด (วันที่ 20 พ.ย.2559 อ่านประกอบ : คาร์บอมบ์ที่ชุมชนเข้มแข็งหน้าวัดปิยาราม กับป้าย"รวมพลัง"ที่ไม่ถูกทำลาย...) แต่ครูไม่โดนสะเก็ดหรืออะไรเลย ตอนเกิดเหตุอยู่ที่เคาน์เตอร์ ตั้งสติคิดว่าต้องหมอบ คนอื่นเดินออก วิ่งหนี แต่ครคิดว่าถ้าออกไปอาจโดนสะเก็ด ก็รอจนเสียงเงียบ เดินออกจากร้าน มอเตอร์ไซค์จอดอยู่ก็ไม่พัง ตอนเช้ามาสอนตามปกติ เริ่มได้ยินเสียงตัวเองก้อง ไปตรวจที่โรงพยาบาล หมอบอกว่าหูดับ อำเภอให้เยียวยามา 10,000 บาท"
"อีกครั้งที่มีระเบิดที่บิ๊กซีปัตตานี (วันที่ 9 พ.ค.2560 อ่านประกอบ : คาร์บอมบ์ห้างบิ๊กซีปัตตานี! เจ็บนับสิบ) ไปซื้อทิชชู่มาใช้ในงานศิลปะ กำลังจ่ายเงิน ไม่ได้เงินทอน สงสัยว่าทำไมคนเข้ามาในบิ๊กซีเยอะมาก เกิดอะไรขึ้น ถามพนักงานว่ามีระเบิดมั้ย เขาบอกห้ามพูดแบบนี้ เขาเคลียร์คนเข้ามาหมด อีกวันก็เอาสีและทิชชู่ไปให้เด็ก นอกจากนั้นยังเคยมีระเบิดหน้าโรงเรียน เราฝึกซ้อมกันด้านหลัง ไม่รู้เรื่อง ออกมาตอนเย็น เจ้าหน้าที่เคลียร์หมดแล้ว"
กับชีวิตครอบครัว ครูออยได้ครูสอนดนตรีมาเป็นคู่ชีวิต มีพยานรักด้วยกัน 2 คน สามีของครูออยพักที่บ้านพักครูในเมืองปัตตานี เธอจึงอยู่กับครอบครัวที่นั่น และเดินทางไปสอนที่ยะหริ่งแบบไป-กลับ
"ครูที่ชายแดนใต้ได้รับการดูแลดีมาก มีเบี้ยเสี่ยงภัย และเงินเดือนในอัตราที่เหมาะสม" เธอบอก พร้อมอธิบายถึงวิธีการใช้ชีวิตในดินแดนปลายด้ามขวาน
"ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความดี ไม่ประมาท เป็นมิตรกับทุกคน และไม่คิดร้ายกับใคร เราเสียสละแล้วให้เราอยู่ด้วยนะ อย่าเด็ดทิ้ง เราเสียสละ ทุ่มเท มุ่งมั่น มั่นใจว่าเราเป็นคนดีให้กับทุกคน ยอมรับความต่างของกันและกัน ให้ได้ทั้งใจกับเด็ก ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้บริหาร"
ครูออยบอกความในใจถึงปัตตานี...
"โชคดีที่มาอยู่ที่นี่ มีความสุขกับเพื่อนร่วมงาน กับการทำงาน กับนักเรียน เขาจริงใจและรักเรา เด็กที่นี่กึ่งเมืองกึ่งบ้าน ถ้าลูกๆ โตเข้าเรียนมหาวิทยาลัย คงย้ายกลับนครศรีธรรมราช แต่ตอนนี้มีความสุขและรักปัตตานีค่ะ"