ควันหลังจากมหกรรมปล่อยตัวนักโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และลดโทษ ในพื้นที่ปัตตานี ปรากฏว่า 6 จาก 8 ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงถูกอายัดตัวต่อ ส่วนคนที่ได้สัมผัสอากาศนอกเรือนจำสุดชื่นมื่น
เรือนจำกลางปัตตานีได้มีพิธีปล่อยตัวนักโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ จำนวน 260 ราย ระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย.63 ในจำนวนนี้มีผู้ต้องขังคดีความมั่นคง 8 ราย แต่ถูกอายัดตัวต่อ 6 ราย ได้รับอิสรภาพจริงเพียง 2 ราย คือ นักโทษชาย (น.ช.) มะยาแม กาเด็ง และ น.ช.ฮายู แดบอ
ขณะที่อีก 6 รายมี น.ช.อาพันดี หรือ อาฟันดี กาพา ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงคนสำคัญรวมอยู่ด้วย แต่ปรากฏว่า นายอาฟันดี มีหมายจับศาลจังหวัดปัตตานี ในคดีปล้นทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนยิง เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย สถานะยังไม่ได้จับกุม จึงถูกอายัดตัวต่อ
ทั้งนี้ ญาติของนายอาฟันดี ได้ประสานตำรวจเพื่อขอประกันตัว โดยได้นำเงินสดมา แต่ไม่พอกับหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวน 500,000 บาท จึงต้องกลับไปหาหลักประกันมาเพิ่ม และรอดุลยพินิจของศาลต่อไป
นายบาเหม ปิรู บิดาของ นายฮายู แดบอ ที่ได้รับการปล่อยตัว กล่าวว่า รู้สึกดีใจกับลูกชายที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ ทำให้ได้รับอิสรภาพ หลังจากพยายามต่อสู้คดีว่าไม่ได้กระทำทำความผิด แต่แพ้คดี หลายปีที่ลูกชายอยู่ในเรือนจำทำให้เสียเวลาในการประกอบอาชีพ เมื่อได้มีชีวิตใหม่ จะให้ลูกชายได้ใช้ความรู้ในการซ่อมโทรศัพท์มาเป็นอาชีพ
สำหรับการได้รับพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ ได้มีการจัดพิธีปล่อยตัวในทุกเรือนจำทั่วประเทศ โดยที่เรือนจำกลางปัตตานี นายสมนึก พรหมเขียว รองผู้ว่าราชการปัตตานี เป็นผู้แทนพระองค์ฯ ในการมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ที่ได้รับอภัยโทษที่เข้าร่วมการอบรมตามโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์"
เช่นเดียวกับที่เรือนจำกลางยะลา นายสมใจ สุขแสงชู ผู้บัญชาการเรือนจำ กล่าวว่า "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจ และความหวัง" เป็นการประยุกต์ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน และสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก สามารถดำเนินการในการปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ปลูกตันไม้ ปลูกผัก เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ให้พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น โดยในระหว่างดำเนินการจะมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติ แนวความคิด ฝึกวินัย ลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาจริง
ในการจัดอบรม จำนวน 14 วัน ได้แบ่งขั้นตอนการฝึก 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การอบรมพึ่งตนเองด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ขั้นที่ 2 การแปลทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย การออกแบบแนวความคิดการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็ก การประยุกต์ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคม ลงบนกระดาน การสร้างต้นแบบบนพื้นที่จำลอง และวางแผนการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อพอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น การปฏิบัติในพื้นที่จริง ตามทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน และขั้นที่ 3 การสรุปและการประเมินผล
-----------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ครอบครัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ได้รับอิสรภาพ จากเรือนจำกลางปัตตานี
2 พิธีแจกประกาศนียบัตรโครงการ "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง" (ขอบคุณ ภาพจากกรมราชทัณฑ์)