ช่วงนี้มีการปล่อยตัวนักโทษที่ได้รับการอภัยโทษ ลดโทษ และพักโทษ จำนวนมากจากหลายเรือนจำทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีนักโทษหรือผู้ต้องขังที่เป็นนักการเมืองแล้ว ยังมีกลุ่มที่ต้องคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า นักโทษคดีความมั่นคงชายแดนใต้ที่จะได้รับการปล่อยตัว มีทั้งที่จะได้รับอิสรภาพ กลับบ้านไปหาครอบครัวได้ทันที และก็มีบางส่วนที่จะต้องถูกอายัดตัว ดำเนินคดีอื่นต่อไป
พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จากการตรวจสอบทั้ง 3 ฝ่าย (ทหาร ตำรวจ ปกครอง) เกี่ยวกับข้อมูลหมายจับที่ยังไม่ได้จับกุมของนักโทษเด็ดขาดคดีความมั่นคงจำนวน 8 รายที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ แล้วปล่อยตัวในวันอังคารที่ 15 ก.ย.63 ปรากฏว่ามีผู้ที่มีคุณสมบัติผ่านหลักเกณฑ์ สามารถปล่อยตัวได้แน่ๆ 2 ราย คือผู้ต้องหาที่ไม่มีหมายจับ และไม่มีการอายัดตัว ซึ่งตอนนี้ก็ต้องอยู่ในขั้นตอนของเรือนจำ ส่วนคนอื่นๆ กำลังเร่งตรวจสอบเพิ่มเติม
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้ข้อมูลคล้ายๆ กันกับฝ่ายตำรวจว่า ช่วงนี้จะมีการปล่อยตัวนักโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษรวมทุกคดี โดยมีนักโทษคดีความมั่นคง 2 คน ซึ่งกระบวนการปล่อยนั้นขึ้นกับทางเรือนจำกลางปัตตานี
เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง 8 รายที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ประกอบด้วย
1. นักโทษชาย (น.ช.) อามีน กาซอ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 เม.ย.53 เริ่มจำคุกวันที่ 26 เม.ย.55 จะสิ้นสุดการจำคุก วันที่ 6 พ.ย.66 แต่จากการตรวจสอบพบหมายจับศาลจังหวัดยะลา ที่ 49/2550 ข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น สถานะยังไม่ได้จับกุม พนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา จึงได้ทำหนังสือขออายัดตัว
2. น.ช.อาพันดี กาพา ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 14 ส.ค.57 เริ่มจำคุกวันที่ 4 ก.ย. 57 จะสิ้นสุดการจำคุกวันที่ 12 มิ.ย.64 จากการตรวจสอบพบหมายจับศาลจังหวัดปัตตานี ที่ 320/2557 ข้อหาปล้นทรัพย์โดยใช้อาวุธปืน เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย สถานะยังไม่ได้จับกุม พนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี ได้ทำหนังสือขออายัดตัว
3. น.ช.อัซมัน เจะยอ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 ม.ค.51 เริ่มจำคุก 10 พ.ค. 54 จะสิ้นสุดการจำคุกวันที่ 2 มิ.ย.72 จากการตรวจสอบพบหมายจับศาลจังหวัดปัตตานี ที่ จ.359/2553 ข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น สถานะยังไม่ได้จับกุม แต่เมื่อตรวจสอบกับพนักงานสอบสวน สภ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ทราบว่าได้ทำการจับกุมแล้ว แต่ยังไม่ได้ถอนหมายจับในระบบ
4. น.ช.มะลูดิง สะมาแอ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 29 พ.ค.52 เริ่มจำคุก 18 ก.ย.52 จะสิ้นสุดการจำคุกวันที่ 28 พ.ค.65 จากการตรวจสอบไม่พบหมายจับที่ยังไม่ได้จับกุม
5. น.ช.มัดดี มะยี ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 เม.ย.54 เริ่มจำคุก 25 ธ.ค.55 จะสิ้นสุดการจำคุกวันที่ 2 พ.ค.68 จากการตรวจสอบไม่พบหมายจับที่ยังไม่ได้จับกุม
6. น.ช.เดะแม กาซอ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 28 ต.ค.59 เริ่มจำคุกวันที่ 9 มี.ค.52 จะสิ้นสุดการจำคุกวันที่ 20 ก.ย.69 จากการตรวจสอบไม่พบหมายจับที่ยังไม่ได้จับกุม
7. น.ช.มะยาแม กาเด็ง เริ่มจำคุกวันที่ 13 มิ.ย.56 ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ตรวจสอบไม่พบหมายจับที่ยังไม่ได้จับกุม
8. น.ช.ฮายู แดบอ ถูกจับจับกุมเมื่อวันที่ 25 ก.ค.58 เริ่มจำคุกวันที่ 16 ส.ค.59 จะสิ้นสุดการจำคุกวันที่ 30 ธ.ค. 63 ตรวจสอบไม่พบหมายจับที่ยังไม่ได้จับกุม
บิดาของหนึ่งในนักโทษที่ได้จะรับการปล่อยตัว กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ลูกชายจะได้ออกมา เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชทานอภัยโทษ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ดีใจจนบอกไม่ถูก ไม่ใช่แค่คนที่บ้านเท่านั้นที่ดีใจ แต่คนทั้งหมู่บ้านที่ทราบข่าวต่างก็ดีใจกันทั้งหมด สำหรับคนที่จะถูกอายัดตัวดำเนินคดีอื่นต่อก็รู้สึกเสียใจกับตัวเขาและครอบครัวของเขา
พี่ชาย "มะนาเซ ยา" ได้อิสรภาพ
พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า วันนี้จะมีการปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่นคง ซึ่งตามกำหนดการของโครงการทั่วประเทศ จะมีพิธีปล่อยตัวในเวลา 09.00 น.พร้อมกันทุกเรือนจำ จากนั้นจะมีการดำเนินกรรมวิธี ช้าสุดไม่น่าจะเกินบ่าย 3 โมงน่าจะได้ออกมาพบกับครอบครัว
นอกจากนั้นยังทราบว่า ในส่วนของเรือนจำจังหวัดนราธิวาส จะมีการปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่นคง 5 ราย คือ นายโมหะหมัดซอฮีมี ยา ซึ่งย้ายมาจากเรือนจำบางขวาง จ.นนทบุรี เป็นพี่ชายของ นายมะนาเซ ยา ที่ได้พักโทษ เนื่องจากเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน, นายมะฟาริส บือราเฮง, นายสุรียา เจ๊ะมุ, นายนิซัม เจ๊ะอุเซ็ง และ นายนาวาวี ยะโก๊ะ
ปล่อยตัวทีม "บูดูบอมบ์"
ส่วนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขัง "คดีระเบิดน้ำบูดู" ที่พ้นโทษเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 คน โดยมีญาติพี่น้องจาก อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ไปรอรับกลับบ้านอย่างอบอุ่น
สำหรับ "คดีระเบิดน้ำบูดู" เกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.59 เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวนักศึกษาและคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 14 คนในข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย โดยการสืบสวนคดีนี้เริ่มจากเจ้าหน้าที่พบแผนก่อวินาศกรรมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลช่วงปลายปี 59 จนนำไปสู่ปฏิบัติการตรวจค้นและกวาดจับผู้ต้องสงสัยครั้งใหญ่หลายสิบคน ในจำนวนนั้นถูกฟ้องต่อศาล 14 คน สุดท้ายศาลสั่งลงโทษจำคุกจำเลยบางส่วน
ที่ผ่านมามีนักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนภาคประชาสังคมบางกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้มองว่าเป็นการจับกุมโดยไม่มีหลักฐาน มีการสร้างกระแสว่าการตรวจค้นห้องพักของคนเหล่านี้ เจ้าหน้าที่พบแค่อุปกรณ์ทำน้ำบูดู จึงกลายเป็นเรื่องล้อเลียนกันในโซเชียลมีเดียว่า ตำรวจจับ "ทีมบูดูบอมบ์" ไม่ใช่ "คาร์บอมบ์" อย่างไรก็ดี เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล หลักฐานทั้งหมดก็ได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรม
เมื่อวันที่ 25 ก.ย.61 ศาลอ่านคำพิพากษาคดีนี้ สรุปว่าจำเลยที่ 1,2,4 และ 9-13 ผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร รวมโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์กับคดี เหลือ 4 ปี จำเลยที่ 3 ผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และมีวัตถุระเบิด รวมโทษจำคุก 9 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือ 6 ปี และยกฟ้องจำเลยที่ 5-8 และ 14 เนื่องจากไม่มีหลักฐานให้เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย (อ่านประกอบ : ทนายเตรียมยื่นอุทธรณ์ช่วย "ทีมบูดูบอมบ์" หลังศาลสั่งคุก 4-6 ปี)
หลังรับโทษได้ 3 ปีกว่า จำเลยคดีนี้เริ่มทยอยออกจากเรือนจำ เพราะเข้าเกณฑ์พักโทษและอภัยโทษ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 14 ก.ย.63 มีจำเลยพ้นโทษ 4 ราย เหลืออีก 5 ราย
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาพเรือนจำกลางปัตตานี จากเฟซบุ๊กของเรือนจำและกรมราชทัณฑ์
2 การปล่อยตัวอดีตผู้ต้องขังคดีบูดูบอมบ์ (ขอบคุณ : ภาพจากครอบครัวอดีตผู้ต้องขัง)