เหตุรุนแรงที่ระยะหลังๆ เกิดขึ้นนานๆ ครั้งที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เหตุการณ์ล่าสุดเจาะจงเปิดปฏิบัติการเมื่อวันที่ 31 ส.ค.63
เป็นความรุนแรงที่วางแผนแบบ "เล่นใหญ่" ครั้งแรกนับจากเหตุปะทะที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งมีการวิสามัญฆาตกรรมกลุ่มก่อความไม่สงบมากถึง 7 ศพ
ที่ต้องบอกว่า "เล่นใหญ่" เพราะคนร้ายใช้อาวุธสงครามลอบยิงถล่มรถกระบะหุ้มเกราะของตำรวจภูธรนราธิวาส ซึ่งมี พ.ต.อ.ธวัชชัย ดุกสุขแก้ว รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส (รอง ผบก.ภ.จว.นราธิวาส) นั่งมาด้วย ขณะเดินทางพร้อมด้วยพลขับและตำรวจติดตามกลับจากการประชุมที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า จ.ยะลา เหตุเกิดบริเวณพื้นที่รอบต่อระหว่าง อ.รือเสาะ กับ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส
แม้บทสรุปของเหตุการณ์จะไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ แต่เมื่อดูสภาพรถที่ยางแตกและถูกยิงเป็นรูพรุนหลายจุด ไม่เว้นแม้กระทั่งกระจกประตูฝั่งคนขับ ใครเห็นก็ต้องบอกว่ารอดคมกระสุนมาได้แบบปาฏิหาริย์
เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจที่เกิดพบ พบร่องรอยคนร้ายไม่ต่ำกว่า 10 คน วางกำลังกระจายตัวยิงถล่มตรงตามยุทธวิธีที่ฝึกฝนกันมา
นอกจากซุ่มยิงรถรองผู้การนราธิวาสแล้ว ยังมีเหตุการณ์คนร้ายลอบเผาทำลายและโจรกรรมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดหลายตัวในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง กับ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานีด้วย โดยเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในวันที่ 31 ส.ค.63 จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าทำไมคนร้ายต้องเจาะจงเลือกลงมือในวันนี้
ตรวจสอบย้อนกลับพบว่า วันที่ 31 ส.ค. ตรงกับวันคล้ายวันสถาปนาขบวนการเบอร์ซาตู!
เบอร์ซาตู (BERSATU) หรือ "ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี" มีชื่อเป็นภาษามาเลย์ว่า Barisan Bersatu Kemerdekaan Patani และชื่อในภาษาอังกฤษว่า United Fronts for Patani Independence เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มที่เคลื่อนไหวก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อจุดประสงค์แยกดินแดน 4 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย
1. ขบวนการแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติปัตตานี หรือ BIPP (Barisan Islam Pembebasan Patani)
2. ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ BRN Congress (Barisan Revolusi Nasional Kongres)
3. ขบวนการมูจาฮีดินอิสลามปัตตานี หรือ GMP (Gorakan Mujahideen Patani)
4. ขบวนการพูโลใหม่ (Patani United Liberation Organization - PULO)
โดยทั้ง 4 กลุ่มได้จัดประชุมร่วมกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2532 จึงถือเป็นวันก่อตั้ง ใช้ชื่อการประชุมว่า "การประชุมบรรดานักต่อสู้เพื่อปัตตานี" โดยตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งชื่อกลุ่มว่าเบอร์ซาตู
ในที่ประชุมมีมติและข้อตกลงร่วมกัน 6 ข้อ คือ
1.ร่วมกันกันต่อสู้เพื่อปลดแอกปัตตานีและก่อตั้งรัฐมลายูอิสลาม
2. ใช้หลักการต่อสู้เพื่อศาสนา (ญีฮาด) ด้วยกำลังติดอาวุธ
3. ต่อต้านหลักการและนโยบายต่างๆของรัฐบาลไทย
4. เรียกร้องให้ประเทศมุสลิมทั้งหลายสนับสนุนการต่อสู้
5. เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ และขบวนการต่างๆ ต่อสู้เพื่อปัตตานี
6. ร่วมมือกับขบวนการปลดแอกทุกกลุ่มและผู้รักหวงแหนสันติภาพทั่วโลก
ต่อมาในปี 2534 จึงมีการประกาศใช้ชื่อกลุ่มอย่างเป็นทางการว่า "ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี" หรือ "เบอร์ซาตู" โดยมี นายวาห์ยุดดิน มูฮัมหมัด เป็นประธานเบอร์ซาตูคนแรก และมีกรรมการที่มาจากตัวแทนในกลุ่มขบวนการที่เข้าร่วม มีการจัดทำธรรมนูญของกลุ่มขึ้น โดยโครงสร้างการจัดตั้งของขบวนการเบอร์ซาตูมี 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย
1. สภาสูงสุด หรือสภาซูรอ (Majlis Syura) มีหน้าที่จัดทำร่างและกำหนดนโยบายและแต่งตั้งกรรมการบริหาร
2.คณะกรรมการบริหาร (Majlis Eksekutif) มีหน้าที่นำนโยบายมาปฏิบัติและควบคุมการทำงานของคณะทำงาน
3. คณะทำงาน ( Biro Biro) มีหน้าที่ดำเนินงานตามที่คณะกรรมการบริหารอนุมัติ ซึ่งคณะทำงานแยกเป็นหลายด้าน เช่น การทหาร การเมือง การต่างประเทศ เศรษฐกิจ เป็นต้น
ขบวนการเบอร์ซาตู ได้มีการจัดทำเอกสารเผยแพร่เพื่อปลุกระดมการต่อสู้ออกมาหลายฉบับ รวมทั้งผลิตเอกสารรายเดือนในชื่อ "Suara Patani Merdeka" แจกจ่ายให้สมาชิกและแนวร่วม
จนในปี 2540 เบอร์ซาตูซึ่งมี ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซียเป็นประธาน ได้จัดทำหนังสือชื่อ "HIDUP MATI BANGSA MELAYU PATANI" แปลเป็นไทยว่า "ชะตากรรมชาติมลายูปัตตานี" ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี, การต่อสู้ของขบวนการปลดแอกในจังหวัดชายแดนใต้, บทวิเคราะห์เรื่องชนชาติมลายู, ธรรมนูญแห่งรัฐมลายูอิสลามปัตตานี, ระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของสมัชชาประชาชาติมลายูปัตตานี เผยแพร่แก่สมาชิก แนวร่วม และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อปลุกระดมและโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมและสนับสนุนขบวนการ
ขบวนการเบอร์ซาตูเคยร่วมเจรจาสันติภาพในทางลับกับรัฐบาลไทย เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะที่ต่อมาภายในขบวนการเบอร์ซาตู มีปัญหาเรื่องเอกภาพ เพราะมีสถานะเป็นเพียง "องค์กรร่ม" หรือ umbrella organization ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน 4 กลุ่ม จึงไม่สามารถควบคุมและกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวร่วมกันได้จริง ส่งผลให้บทบาทของเบอร์ซาตูค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด พร้อมๆ กับการก่อกำเนิดของสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ระลอกใหม่ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งเชื่อกันว่าขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรที่มีบทบาทสูงสุด
แต่ถึงกระนั้น วันที่ 31 ส.ค.ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันครบรอบสถาปนาขบวนการเบอร์ซาตู ก็เป็นวันที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วยให้ความสำคัญ มีการแจ้งเตือนและเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัย เพราะถือว่าเป็นวันเชิงสัญลักษณ์ที่กลุ่มก่อความไม่สงบนิยมก่อเหตุ
ในรอบ 16 ปีไฟใต้ เคยเกิดเหตุการณ์สร้างสถานการณ์ปั่นป่วนครั้งร้ายแรงที่สุดในวันที่ 31 ส.ค.2555 โดยกลุ่มก่อความไม่สงบได้ก่อเหตุขึ้นพร้อมกันในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา รวม 296 จุด ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการก่อกวนวางวัตถุต้องสงสัย เผาธงชาติ และติดธงชาติมาเลเซียในพื้นที่ต่างๆ และมีการลอบวางระเบิดจริง 5 จุดตรงจุดที่มีการวางวัตถุต้องสงสัยและแขวนธงมาลเซีย ทำให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 6 นาย (อ่านประกอบ : วัตถุต้องสงสัย-ธงชาติมาเลย์พรึ่บชายแดนใต้รับวันสถาปนาเบอร์ซาตู)
เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า กลุ่มผูัก่อการต้องการแสดงศักยภาพว่าสามารถก่อเหตุได้พร้อมกันนับร้อยจุด โดยที่ฝ่ายความมั่นคงไม่สามารถป้องกันได้ และแต่ละจุดการติดหรือแขวนธงชาติมาเลเซียบนที่สูงก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการควบคุมพื้นที่ของฝ่ายรัฐที่ยังมีช่องโหว่มากมาย ไม่นับถึงกระบวนการหาซื้อและนำเข้าธงมาเลเซียจำนวนมากที่เจ้าหน้าที่แทบไม่ระแคะระคายใดๆ เลย
หลังจากเหตุการณ์ติดธงเมื่อปี 2555 ผ่านพ้นไป วันที่ 31 ส.ค.ในปีต่อๆ มาก็ไม่มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้น กระทั่งมาปรากฏในปี 2563 ซึ่งมีเหตุรุนแรงค่อนข้างเบาบาง ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องหันกลับมาทบทวนถึงแนวโน้มสถานการณ์ชายแดนใต้ ว่าดีขึ้นจริงตามที่หลายฝ่ายเชื่อ...หรือไม่?!?
----------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพประกอบเป็นภาพปกหนังสือ "HIDUP MATI BANGSA MELAYU PATANI" แปลเป็นไทยว่า "ชะตากรรมชาติมลายูปัตตานี" ซึ่งเผยแพร่ในสมัย ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน เป็นประธานเบอร์ซาตู เมื่อปี 2540 ซึ่งภายในเอกสารมีธรรมนูญเบอร์ซาตู รวมทั้งภาพธงและตราสัญลักษณ์ของเบอร์ซาตู
ขอบคุณ : ภาพจากเฟซบุ๊ก Media Info Patani (MIP)
อ่านประกอบ :
วันกาเดร์ : ปัญหาใต้แก้ไม่ได้เพราะยังหาตัวการไม่เจอ ชี้ไทยคุยผิดกลุ่ม