การเมืองไทยช่วงนี้เข้าสู่โหมดการนัดชุมนุมต่อเนื่องกันแล้ว โดย "ทัพหน้า" เป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาตามรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีกิจกรรม "ชู 3 นิ้ว" ลามไปถึงรั้วโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา แถมบางส่วนยังรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่ชื่อว่า "องค์กรนักเรียนเลว" ปลุกม็อบบุกไล่รัฐมนตรีถึงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ
กลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของสังคมการเมืองไทย...
แม้จะเป็นเรื่องดีที่เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวทางการเมือง แต่ประเด็นที่น่าตกใจก็คือ การเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าก้าวร้าว รุนแรง และบางส่วนกระทบกับสถาบันหลักของชาติ รวมถึงสถาบันครอบครัว และองค์กรการศึกษา บางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ชังชาติ" จนเกิดคำถามว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราได้อย่างไร...
ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา (สธอ.) วิเคราะห์ว่า ปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนเยาวชนคนรุ่นใหม่ คือ "โซเชียลมีเดีย" ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้ข้อมูลไหลทะลักมาจากหลายช่องทาง และถูกส่งถึงคนรุ่นใหม่ ขณะที่สื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ ข่าวทีวี หรือหนังสือพิมพ์ เด็กรุ่นใหม่ไม่ดู ไม่อ่านเลย จึงสรุปได้ว่าคนรุ่นใหม่รับข้อมูลจากสื่อออนไลน์ทั้งหมด
"ปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสาร จากการใช้อีเมล์มาเป็นการรับรู้ข้อมูลแบบทันทีผ่านการเล่นโซเชียลมีเดีย ทั้งแอปพลิเคชันไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม ทำให้มีความหลากหลายในการส่งข้อมูลไปถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ขณะที่คนรุ่นใหม่เองก็ไม่ได้ดูโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์แบบในอดีต ทุกอย่างอยู่ในโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่รับข้อมูลจากสื่อออนไลน์ 100%"
"เมื่อช่องทางการรับข้อมูลมีความหลากหลาย เข้าถึงง่าย แถมยังรวดเร็วแบบวินาทีต่อวินาที ผิดกับในอดีตที่การรับข่าวสารผ่านโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์มีการกลั่นกรองมาหลายชั้น แต่ปัจจุบันไม่มีขั้นตอนแบบนั้นแล้ว จึงทำให้ข้อมูลข่าวสารกระจายไปอย่างรวดเร็ว และกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็จะเลือกรับข้อมูลในสิ่งที่เขาเชื่อ รวมถึงบุคคลที่เขายอมรับ ฉะนั้นหากมีคนที่คอยเติมข้อมูลด้านใดด้านหนึ่งโดยใช้กลวิธีที่สอดคล้องกับรสนิยมของเยาวชนยุคนี้ ก็ง่ายที่ผู้รับข้อมูลจะคล้อยตามหรือเชื่ออย่างปักใจทันที" ผศ.ดร.เชษฐา กล่าว
จากสภาพการณ์การไหลเวียนของข้อมูลขาวสารเช่นนี้ เมื่อถูกผูกโยงเข้ากับเรื่องการเมือง โดยเฉพาะการไม่มีเลือกตั้งมานานถึง 7 ปี ตั้งแต่ปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาจนถึงรัฐบาล คสช. ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมือง และติดตามข้อมูลข่าวสารการเมืองจากโซเชียลมีเดีย โดยมีคนที่มองเห็นช่องทางตรงนี้คอยป้อนข้อมูลทางการเมืองให้ อย่างเช่น อดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ใช้ยุทธศาสตร์สร้างกระแสความนิยมจากคนรุ่นใหม่ จึงมีการป้อนข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุด แม้พรรคจะถูกยุบไปแล้วก็ตาม
"คนที่รับข่าวสารผ่านช่องทางนี้ ก็คือกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษา และรับข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หากสังเกตจะพบว่าพฤติกรรมกลุ่มคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่เคยรับแต่ข่าวสารด้านบันเทิง กลับกลายเป็นเปิดใจรับฟังข้อมูลการเมือง"
"แต่สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ เมื่อการรับข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีการกลั่นกรอง ทำให้ชุดความคิดมุ่งให้น้ำหนักด้านเดียว ทำให้เกิดกระแสตามกันเหมือนกระแสนิยมแฟชั่น ย้ายจากเวทีบันเทิงมาเป็นเวทีการเมือง และนำมาสู่ปรากฏการณ์การรวมตัวตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่เกิดอยู่ในขณะนี้"
"ตลอดระยะเวลา 7 ปีก่อนเลือกตั้ง ช่องทางการเมืองไม่ได้เปิดกว้างมากนัก และการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็มาพร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เมื่อมีพรรคการเมืองที่แย่งชิงแคมเปญผ่านโลกออนไลน์ได้มากกว่า จึงสามารถครอบครองฐานเสียงของคนรุ่นใหม่ไปทันที พร้อมๆ กับการใส่ค่านิยมที่มาจากมรดกที่พรรคการเมืองนี้ได้ก่อขึ้นไว้ด้วย แต่เมื่อการรับข้อมูลเป็นการรับด้านเดียว ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากปักใจไปทางใดทางหนึ่ง และทำให้ขาดการกลั่นกรองข้อมูลบางส่วนไป" เลขาธิการกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ระบุ
ส่วนการชุมนุมของนักศึกษาที่ผ่านมา มีการแสดงออกเชิงลบเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูง จนหลายฝ่ายไม่สบายใจนั้น ประเด็นนี้ ผศ.ดร.เชษฐา มองว่า ต้องพิจารณาในทุกมิติ โดยเฉพาะการสมมาตรของข้อมูล ว่ามีความสมมาตรอย่างครบถ้วนหรือไม่ เพราะข้อมูลในยุคนี้ที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ มักจะมีปัญหาเรื่องการสมมาตรของข้อมูล โดยอ้างเรื่องเสรีภาพ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ข้อมูลอสมมาตร"
"จริงๆ แล้วเมื่อมีเสรีภาพ ก็จะต้องเป็นข้อมูลที่ครบถ้วนด้วย ฉะนั้นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงดีอีเอส (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) จะต้องให้ข้อมูลทั้งสองทาง ที่สำคัญต้องไม่เป็นการบังคับให้เชื่อในข้อมูล ยิ่งในยุคนี้ การบังคับให้เชื่อในข้อมูลถือเป็นเรื่องที่ยากมาก จึงควรมีการให้เสรีภาพทางข้อมูลทั้งสองด้าน เพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน ซึ่งก็มีการสร้างข้อมูลที่สมมาตรนั่นเอง" ผศ.ดร.เชษฐา สรุป
แต่โจทย์ข้อยากก็คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงมือแก้ไขปัญหาบ้างแล้วหรือยัง ในขณะที่อีกฝั่งของสมรภูมิโซเชียลฯเดินไปไกลสุดกู่แล้ว!
------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้ ผู้สัมภาษณ์คือ อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์ ผู้สื่อข่าวเครือเนชั่น และ ปกรณ์ พึ่งเนตร จากศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา เนื้อหาบางส่วนได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจด้วย