รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมลํ้า เขียนบทความสะท้อนปัญหาชายแดนใต้ โดยเฉพาะ "ปัญหาความไม่เป็นธรรม" ที่เชื่อกันว่าเป็นชนวนหนึ่งของสถานการณ์ความไม่สงบ หลังได้เดินทางลงพื้นที่กับคณะอนุกรรมาธิการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา
"ในระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่คณะอนุกรรมาธิการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของวุฒิสภาได้ลงพื้นที่ ผมได้รับข้อร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนหลายข้อ แต่สิ่งที่รบกวนจิตใจผมมีอยู่ 3 เรื่องคือ
1. การที่ธุรกิจเอกชนที่ให้บริการรับส่งสินค้าซึ่งกำลังเฟื่องฟูมากนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 เป็นต้นมา ได้คิดค่าบริการเพิ่มเติมอีก 40-50 บาทต่อครั้งเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งทำให้ทั้งกลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคในพื้นที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าประชาชนคนไทยทั่วประเทศ พฤติกรรมดังกล่าวของธุรกิจต่างด้าวทั้ง 2 บริษัทอาจกล่าวอ้างว่าเป็นเพราะในพื้นที่มีปัญหาความไม่สงบ
อย่างไรก็ดี สำหรับความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว ผมกลับคิดว่าในพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่ง 2 ใน 3 จังหวัดติดอันดับความยากจนสูงสุดของประเทศ สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมมากกว่า
หลักคิดเรื่องเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม (social market economy)แตกต่างจากเศรษฐกิจการตลาดแบบเสรี (free market economy) (ท่านที่สนใจหลักคิดนี้โปรดดู "ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคมสำหรับพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้") ประการหนึ่งก็คือเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคมมุ่งส่งเสริมธุรกิจทุกประเภทให้สร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนส่วนใหญ่ ในขณะที่เศรษฐกิจการตลาดแบบเสรีนั้นเน้นที่ผลกำไรของธุรกิจเพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้ความสนใจกับผลกระทบด้านลบต่อสังคมเลย
ด้วยเหตุผลนี้ผมจึงเห็นว่าธุรกิจเอกชนที่ให้บริการส่งสินค้า อย่างน้อยที่สุดควรคิดค่าใช้จ่ายในการให้บริการสำหรับพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่ากับในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ วันนี้ คุณภาณุ อุทัยรัตน์ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ และอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ประสานกับ สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) เพื่อให้เชิญธุรกิจทั้งสองแห่งมาพูดคุยกันในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี หากธุรกิจเอกชนไม่ยอมให้ความร่วมมือ ผมได้ตระเตรียมแผนสำรองไว้แล้ว
2. ท่านนายกเทศมนตรีนครยะลาได้ร้องเรียนว่า โรงเรียน ตชด.ได้ถูกตัดงบประมาณค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนทั้งหมด หมายความว่าในงบประมาณปีหน้าเด็กนักเรียนเหล่านี้ทั้งหมดจะไม่ได้รับประทานอาหารกลางวันเลย สำหรับผมแล้วนี่เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กนักเรียนเหล่านี้ในเรื่องโอกาสของการศึกษา คุณภาณุ อุทัยรัตน์ ได้ประสานให้ท่านนายกเทศมนตรีนครยะลาทำจดหมายร้องเรียนมาที่ผม เพื่อที่ผมจะได้ประสานงานกับสำนักงบประมาณต่อไป
3. ผมได้รับการร้องเรียนจากนายกสมาคมประมงพาณิชย์จังหวัดปัตตานี (ลูกศิษย์เก่าผมที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ) ว่าประสบปัญหาในการประกอบอาชีพประมงอย่างรุนแรง เพราะนับตั้งแต่รัฐบาลได้ทำข้อตกลงกับ IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing หรือ การทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม) เมื่อหลายปีก่อน อุตสาหกรรมประมงของไทยที่เคยเป็นมหาอำนาจโลกซึ่งมีอยู่ราว 3-4 ประเทศก็เสื่อมโทรมลงจนถึงจุดที่ใกล้ล่มสลายแล้ว จังหวัดปัตตานีที่เคยมีกองเรือหาปลาจำนวนมหาศาล ในวันนี้กลับเงียบเหงาเหมือนเมืองร้าง ธุรกิจต่างๆ พลอยได้รับผลกระทบด้านลบตามไปด้วย ตามท้องถนนเห็นแต่ป้ายประกาศขายอาคารอยู่ทั่วไป กองเรือปัตตานีจำนวนประมาณ 180 ลำต้องไปจดทะเบียนกับประเทศมาเลเซีย เพราะระเบียบของทางราชการที่นั่นเอื้ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจมากกว่าของไทย
ปัญหาในขณะนี้ประการหนึ่งก็คือพวกเขาอยากเอาเรือประมงที่ทรุดโทรมกลับมาซ่อมที่เมืองไทย แต่ไม่สามารถทำได้ ผมรับปากว่าจะมาศึกษาปัญหานี้เพื่อหาทางออกที่เป็นทางสายกลาง กล่าวคือเป็นการทำประมงที่มีมาตรฐาน แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาควรได้รับโอกาสให้ทำธุรกิจได้อย่างเต็มความสามารถ ผมคิดว่าในขณะนี้ประมงพาณิชย์ของไทยทั้งประเทศไม่ได้รับประโยชน์และน่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก IUU และพวกเขาไม่มีความสุขมากๆ ผมอดคิดไม่ได้ว่าบางทีข้อตกลงที่ทำขึ้นมาอาจขัดกับหลักธรรมาภิบาล ในแง่ที่ธุรกิจเอกชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหาของพวกเขาต่อรัฐบาล ผมตั้งใจจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงกับอนุกรรมาธิการในสัปดาห์ครับ
--------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเฟซบุ๊ก รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์