กองทัพภาคที่ 4 เตรียมเสนอรัฐบาลยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4 อำเภอรวด นำร่องที่ อ.ไม้แก่น ตามด้วย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี อ.กาบัง จ.ยะลา และ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เนื่องจากไม่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบมาเป็นระยะเวลานาน
พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองทัพภาคที่ 4 เปิดเผย "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ได้เตรียมเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ในพื้นที่ 4 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบมาเป็นระยะเวลานาน และไม่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ รวมทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำลังในพื้นที่มีความพร้อม
4 อำเภอที่อยู่ในแผนเตรียมเสนอยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบด้วย อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี, อ.กาบัง จ.ยะลา และ อ.แว้ง จ.นราธิวาส โดยใน 4 อำเภอนี้ อ.ไม่แก่น มีโอกาสยกเลิกเร็วที่สุด
สำหรับ อ.ไม้แก่น เป็น 1 ใน 12 อำเภอของ จ.ปัตตานี แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 ตำบล คือ ต.ไทรทอง ต.ไม้แกน ต.ตะโละไกรทอง และ ต.ดอนทราย
อ.ไม้แก่น อยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 65 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 34,500 ไร่เศษ ประชากรส่วนใหญ่ราว 75% นับถือศาสนาอิสลาม อีก 25% นับถือศาสนาพุทธ ในพื้นที่มีวัด 4 แห่ง มีมัสยิด 17 แห่ง ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำประมง รับจ้าง ค้าขาย และรับราชการ
"เราเสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ในพื้นที่ อ.ไม้แก่น หลังจากได้ประเมินมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในด้านของสถานการณ์ ความรุนแรงและความสูญเสียลดลง ความพึงพอใจของประชาชน ของเจ้าหน้าที่ ความพร้อมของกำลังในพื้นที่ดีมาก เราประเมินทุกๆ 3 เดือนอยู่แล้วก่อนที่จะขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.แต่ละครั้ง" พล.ต.ปราโมทย์ อธิบาย
โฆษกกองทัพภาคที่ 4 ยอมรับด้วยว่า จากการประเมินตัวชี้วัดรอบนี้ ไม่ได้มีแค่ อ.ไม้แก่น ที่เข้าเกณฑ์ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯได้ แต่ยังมีอำเภออื่นๆ อีก
"อ.ไม้แก่น มีความพร้อมสูงสุดเป็นอันดับ 1 มีผลการประเมิน 82% อันดับที่ 2 อ.กาบัง อันดับ 3 อ.แว้ง และอันดับ 4 อ.กะพ้อ เราจะดูสถิติของแต่ละพื้นที่ อย่างไม้แก่น ไม่เกิดเหตุความไม่สงบมานานแล้ว ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงก็ไม่มี ความพร้อมของพื้นที่ก็ได้ระดับหนึ่ง ทัศนคติของคนในพื้นที่ ของเจ้าหน้าที่ก็ดี จึงมีการเสนอในที่ประชุมที่ทาง สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ลงมาประชุม ให้ อ.ไม้แก่น ยกเลิก พ.ร.ก. ซึ่งโอกาสเป็นไปได้สูงมาก แต่ก็ยังมีขั้นตอนอีก คือจะต้องเสนอ คปต. (คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) และ ครม. (คณะรัฐมนตรี) แต่ก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะยกเลิกที่ไม้แก่น" พล.ต.ปราโมทย์ กล่าว
โฆษกกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยปฏิบัติราชการสนามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานาน กล่าวด้วยว่า จริงๆ แล้วมีความพยายามลดพื้นที่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่ตลอด ตรงไหนที่มั่นใจก็ลดไป จะเห็นว่าที่ผ่านมาได้ยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว 5 อำเภอ คือ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา อ.สุไหงโกลก อ.สุคิริน และ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส หาก ครม.อนุมัติที่ อ.ไม้แก่น อีก ก็จะนับเป็นอำเภอที่ 6 จาก 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (อ่านประกอบ : ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯครบ 14 ปี! สถิติไฟใต้ดูดีแต่ยังไม่สงบ)
สำหรับสถานการณ์ในภาพรวมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.ปราโมทย์ บอกว่า สถิติเหตุรุนแรงลดลงจากปีก่อนถึง 58% ความสูญเสียลดลง 70% เมื่อเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากยุทธวิธีของแม่ทัพภาคที่ 4 การบังคับใช้กฎหมาย และความร่วมมือของพี่น้องประชาชน
อนึ่ง การประชุมที่มี สมช.ร่วมด้วย ตามที่ พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวถึงนั้น เป็นการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันพุธที่ 5 ส.ค.63 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสะบารัง โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมี นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช.เป็นประธาน
ผลการประชุมได้ข้อสรุปว่าจะขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอีก 3 เดือน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.63 สิ้นสุดวันที่ 19 ธ.ค.63 โดยจะเสนอ ครม.ให้อนุมัติ แต่ยกเว้น อ.แม่ลาน อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี, อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโกลก อ.สุคิริน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส นับเป็นการขยายเวลาครั้งที่ 61 ตั้งแต่ประกาศครั้งแรกครอบคลุมพื้นที่ 33 อำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) เมื่อเดือน ก.ค.ปี 2548
ในที่ประชุมมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อ.ไม้แก่น เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วจะนำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ "พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ" มาบังคับใช้แทน
สำหรับเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดใน อ.ไม้แก่น คือเหตุคาร์บอมบ์บริเวณหน้าอาคารโรงพักหลังเก่า ตั้งอยู่หมู่ 4 ต.ไทรทอง เมื่อเวลา 22.00 น.ของวันพฤหัสบดีที่ 31 ต.ค.62 แรงระเบิดทำให้อาคาร สภ.ไม้แก่น หลังเก่า ซึ่งเป็นอาคารไม้ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ โดยรถที่คนร้ายใช้ทำคาร์บอมบ์ เป็นรถกระบะสี่ประตูที่คนร้ายปล้นชิงมาจาก อบต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี (อ่านประกอบ : ควันหลงคาร์บอมบ์ไม้แก่น คนร้ายใช้ จยย.ปิดหัว-ท้ายคุมก่อเหตุ, ปล้นรถ อบต.น้ำดำทำคาร์บอมบ์ถล่มหน้าโรงพักเก่าไม้แก่น)
ย้อนกลับไปช่วงต้นของสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.ไม้แก่น เคยมีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ที่เป็นข่าวดังระดับประเทศ คือเหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถยนต์ของ นายชยพัทธ รักษายศ นายอำเภอไม้แก่น จนนายชยพัทธเสียชีวิตคารถ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.50 เหตุเกิดระหว่างที่นายชยพัทธออกตรวจพื้นที่หลังคนร้ายลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนบ้านตะโละไกรทอง และที่ทำการ อบต.ดอนทราย นับเป็นนายอำเภอคนแรกและคนเดียวที่ต้องสละชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้เกือบ 2 ทศวรรษ
นายพัน พรมเทศ ผู้ใหญ่บ้านสารวัน หมู่ 2 ต.ไทรทอง อ.ไม้แก่น กล่าวถึงกระแสข่าวการเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า ได้ยินข่าวมาบ้าง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะโอเค เพราะการมีทหาร ชาวบ้านอุ่นใจกว่า และชาวบ้านที่เป็นคนพุทธก็อยากให้ทหารอยู่ในพื้นที่ แต่ถ้าถามคนอิสลามก็จะบอกว่าดี อยากให้ยกเลิก
"การยกเลิกตรงนี้ ถ้าไม่ได้ทำให้กำลังในพื้นที่น้อยลง ก็คิดว่าชาวบ้านยังปลอดภัย เช่น ยกเลิกแล้ว ทหารส่วนหนึ่งที่ออกไป ก็มาเพิ่มความเข้มข้นที่เจ้าหน้าที่ อส. (อาสารักษาดินแดน) แทน อย่างนี้ชาวบ้านที่เป็นพุทธก็จะรู้สึกอุ่นใจอยู่ เพราะในพื้นที่ก็ไม่มีเหตุเกิดขึ้นมานานแล้ว ครั้งล่าสุดเกิดคาร์บอมบ์ข้างโรงพักเก่าเมื่อหลายเดือนก่อน แล้วก็ไม่เกิดอีกเลย"
ผู้ใหญ่บ้านสารวัน บอกทิ้งท้ายว่า จริงๆ ในพื้นที่นี้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้ทุกกลุ่มทุกศาสนา ยังไปมาหาสู่กัน พึ่งพาซึ่งกันและกัน ฉะนั้นการมีกำลังเจ้าหน้าที่อยู่ก็เป็นการเพิ่มความอุ่นใจ
การทยอยยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับความหวังสันติสุขที่เริ่มใกล้เข้ามา...