กลุ่มมารา ปาตานี ออกโรงเคลื่อนไหวหลังเงียบหายไปนาน ผู้แทนกลุ่มส่งข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อผ่านแอปพลิเคชันไลน์ของสื่อมวลชนชายแดนใต้ ทั้งปกครองตนเอง ยอมรับศาสนาอิสลาม ภาษามลายู เป็นศาสนาและภาษาทางการของพื้นที่นี้ ขู่ถ้าปฏิเสธ จะต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างเต็มกำลัง
ข้อความในแอปพลิเคชันไลน์ของบุคคลที่เคยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของกลุ่มมารา ปาตานี องค์กรร่มของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่เคยร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยในรัฐบาล คสช. ได้ส่งข้อความถึงสื่อมวลชนชายแดนใต้ที่เคยติดต่อกัน เนื้อหาเป็นข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่มีต่อคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย
ข้อความที่ส่งถึงสื่อมวลชน ขยายความว่า ข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลักนี้ เป็นข้อเรียกร้องที่มีต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯที่จะมีขึ้นในอนาคต เมื่อสถานการณ์โควิด-19 หมดไป โดยทางมารา ปาตานี พร้อมที่จะเดินหน้าการใช้กำลังต่อสู้อย่างสุดกำลังถ้าได้รับการปฏิเสธจากรัฐไทย และจะไม่เปิดเวทีการพูดคุยเพื่อสันติภาพอีกต่อไป
ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ อยุ่ภายใต้การจัดการปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบ "ออโตโนมี" ซึ่งหมายถึง "การปกครองตนเอง" ประกอบด้วย
1. เรียกร้องให้มีผู้ว่าราชการมีอำนาจเท่าเทียมกับประมุขของรัฐ เป็นผู้มีอำนาจครอบคลุมจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปของออโตโนมี
2. เรียกร้องให้มีการยอมรับศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่เป็นทางการของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และต้องมีระบุในรัฐธรรมนูญของไทย
3. เรียกร้องให้ภาษามลายูเป็นภาษาอันดับสองเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ และให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการอิสลามเป็นสถาบันเฉพาะที่บริหารจัดการดูแล มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามให้กับอิสลามิกชน
ทั้งสามข้อเรียกร้องเป็นเงื่อนไขให้กับรัฐไทยในการที่จะเดินหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯรอบใหม่ มิฉะนั้นบรรดานักรบจะเดินหน้าในการใช้อาวุธต่อไป และจะไม่เปิดพื้นที่การเจรจาสันติภาพต่อจากนี้อีก
สำหรับกลุ่ม "มารา ปาตานี" เป็น "องค์กรร่ม" ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่ร่วมพูดคุยกับรัฐบาลไทยมาตั้งแต่ปี 58 แต่หยุดชะงักไปช่วงต้นปี 62 โดยทางมารา ปาตานี แสดงความไม่พอใจที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทยในขณะนั้น เดินทางไปมาเลเซียแต่ไม่ยอมพบปะพูดคุยกับพวกตน (พล.อ.อุดมชัย ให้เหตุผลในเวลาต่อมาว่า ต้องการให้มีการพูดคุยกับคณะทำงานเทคนิคก่อน)
ต่อมาวันที่ 15 พ.ค.62 นายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายมารา ปาตานี ได้ทำหนังสือลาออกจากการทำหน้าที่ จากนั้นก็ไม่มีการพูดคุยใดๆ กับคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทยอีก (อ่านประกอบ : "สุกรี ฮารี" ไขก๊อกหัวหน้าคณะพูดคุยฯฝั่ง "มาราฯ" จับตารื้อสองฝ่าย)
ช่วงปลายปี 62 พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯคนใหม่แทน พล.อ.อุดมชัย โดยมีการแถลงข่าวเปิดตัวคณะพูดคุยฯชุดใหม่ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.62 จากนั้นก็เริ่มมีข่าวว่าคณะพูดคุยฯชุดใหม่ เตรียมเปิดโต๊ะพูดคุยกับ "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเป็นขบวนการหลักที่มีบทบาทสูงสุดในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 16 ปีผ่านมา (่อ่านประกอบ : คณะพูดคุยฯนัดพบ "บีอาร์เอ็น" คาดกลุ่มฮัสซัน ตอยิบ)
กระทั่งวันที่ 20 ม.ค.63 พล.อ.วัลลภ นำทีมไปร่วมโต๊ะพูดคุยกับ "ผู้แทนบีอาร์เอ็น" ที่ประเทศมาเลเซีย ถือเป็นการนับหนึ่งของกระบวนการสันติภาพอีกครั้งกับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐที่ทางการไทยเชื่อว่าเป็นตัวจริงเสียงจริง ในนาม "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ซึ่งนำโดย อุสตาซฮีฟนี หรือ อุสตาซหีพนี มะเร็ะ หรือ นายอานัส อับดุลเราะห์มาน อดีตครูสอนศาสนาของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา นับจากนั้นการพูดคุยฯก็มีความคืบหน้ามาเป็นระยะ กระทั่งหยุดชะงักไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 (อ่านประกอบ : "พล.อ.วัลลภ" นำทีมเปิดโต๊ะพุดคุยตัวแทนบีอาร์เอ็นที่มาเลย์, เปิดตัว "อุสตาซหีพนี" หัวหน้าคณะพูดคุยฯฝ่ายบีอาร์เอ็น)
เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานจากคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทยว่า ได้มีการติดต่อกับผู้แทนบีอาร์เอ็น และผู้อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมห์ด นูร์ (Tan Sri Abdul Rahim bin Mohd. Noor) อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซียอยู่เป็นระยะ แต่การเปิดโต๊ะพูดคุยฯจะยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียยังคงมีมาตรการคุมเข้มโรคระบาด
เป็นที่น่าสังเกตว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ในยุคของ พล.อ.วัลลภ ไม่ได้พูดถึงกลุ่มมารา ปาตานี แต่ให้ความสำคัญไปที่ "ผู้แทนบีอาร์เอ็น" ซึ่งมีทั้งสิ้น 7 คน และทั้ง 7 คนนี้ ไม่มีใครเคยอยู่ใต้ร่ม "มารา ปาตานี" มาก่อนเลย (อ่านประกอบ : เปิดเส้นทางโต๊ะพูดคุยสันติสุขรอบใหม่ ใครเป็นใครในคณะ BRN)
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ วิเคราะห์ว่า กลุ่มมารา ปาตานี อาจจะแสดงบทบาทเพื่อเรียกร้องให้คณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทยหันมาให้ความสนใจ หลังจากมีแนวโน้มจะ "ตกขบวน" การพูดคุยฯ ซึ่งทางฝ่ายความมั่นคงจะติดตามสถานการณ์ต่อไป
ด้านความเคลื่อนไหวของ พล.อ.วัลลภ ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำคณะพูดคุยฯ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พล.ท.สวัสดิ์ ชนะจิตราสกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เดินทางลงพื้นที่เพื่อพบปะหารือร่วมกับ นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ที่หอประชุมบรมราชกุมารี สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส อ.เมืองนราธิวาส
พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ซึ่งจะเห็นได้จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายและแผนความมั่นคง รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลล้วนใช้การพูดคุยซึ่งเป็นแนวทางสันติวิธีในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง เพื่อให้ประเทศชาติมีความสงบสุขและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ (23 ก.ค.) ตั้งใจมาเยี่ยมเยียนประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพูดคุยฯ ซึ่งความเห็นที่สอดคล้องกันมากที่สุด คืออยากให้พื้นที่มีความสงบสุข การใช้ความรุนแรงไม่เกิดประโยชน์ ทำให้เกิดผลกระทบและเกิดความเสียหาย ถ้าเราใช้สันติวิธีด้วยการพูดคุย มุ่งมั่นให้เกิดความสงบสุข ก็จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ทั้งในเรื่องความเป็นอยู่และการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงพัฒนาประเทศชาติต่อไป
พล.อ.วัลลภ กล่าวด้วยว่า จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปกลั่นกรอง วิเคราะห์ แล้วนำไปพูดคุยหาทางออกกับฝ่ายต่างๆ ร่วมกัน
"เราได้มีการพูดคุยที่ประเทศมาเลเซียไปแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงเดือน ม.ค.และเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตามแผนจะมีการพูดคุยกัน 2 เดือนต่อครั้ง แต่หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้พูดคุยหยุดชะงักลงไป แต่ยังมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม และประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อนำข้อคิดเห็นไปเตรียมการในการพูดคุยครั้งต่อไปหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย" พล.อ.วัลลภ กล่าวในที่สุด
-------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กลุ่มมารา ปาตานี (ภาพจากเฟซบุ๊กของกลุ่ม)
2 ข้อเรียกร้องที่ส่งผ่านแอปฯไลน์มายังผู้สื่อข่าว
3 พล.อ.วัลล (คนกลาง) พบผู้นำศาสนานราธิวาส