จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผนึกกำลังพันธมิตร ปูพรมตรวจภูมิคุ้มกันก่อนคลายล็อกให้ชาวปัตตานีนับหมื่นคนด้วยชุดตรวจว่องไว ยก "ปัตตานีโมเดล" ต้นแบบจัดการชุมชนควบคุมโควิด-19 หนุนรัฐทำ Big Data รับมือระยะยาว
ในการแถลงข่าวทางไกลระหว่างจังหวัดปัตตานีกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย นายไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และทีมวิจัยจากจุฬาฯ ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ได้มีการเปิดตัวโครงการความร่วมมือด้านนวัตกรรมร่วมสร้างภูมิคุ้มกันชีวิต Rapid Test เพื่อคืนความสุขให้คนในสังคม และสรุปผลการคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยแฝงโควิด-19
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ปัตตานีโมเดล" เป็นโครงการที่จุฬาฯและจังหวัดปัตตานีร่วมกันพัฒนาขึ้น โดยการเรียนรู้จากงานระบาดวิทยาชุมชนของปัตตานีในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยใช้นวัตกรรมชุดตรวจแบบว่องไว Baiya Rapid Covid 19 IgM IgG Test Kit
ชุดตรวจนี้เป็นผลงานของคณะเภสัชศาสตร์ และบริษัทสตาร์ทอัพจุฬาฯ ใบยา ไฟโตฟาร์ม นำร่องตรวจภูมิคุ้มกันให้ชาวปัตตานี เป้าหมายจำนวน 1 หมื่นรายก่อนเปิดเมือง เพื่อเก็บข้อมูลจัดทำระบบ Big Data ระดับชุมชน นำมาใช้วางแนวทางสร้างนวัตกรรมเชิงป้องกันให้คนไทยตรวจทั้งประเทศ เพื่อให้ทราบสภาวะการติดเชื้อโควิด-19 รองรับการระบาดระลอกต่อไปที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และเป็นข้อมูลในระยะยาวให้รัฐใช้วางแนวทางการบริหารจัดการ
เช่น กลุ่มใดควรได้รับวัคซีนก่อน กลุ่มใดควรได้รับวัดซีนเป็นกลุ่มต่อมา กลุ่มใดมีภูมิแล้ว กลุ่มใดควรตรวจก่อน เป็นตัน ถือเป็นการนำนวัตกรรมที่เราพัฒนาขึ้นเพื่อใช้สู้กับวิกฤติโควิด-19 มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับคนไทย ตามวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่จุฬาฯ พร้อมเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลกที่สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ด้าน ผู้ว่าฯไกรศร กล่าวว่า ปัตตานีวางระบบคัดกรองหาผู้ป่วยและระบบการกักกันที่เข้มข้น นับว่าครอบคลุมที่สุดจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความสี่ยงสูง มีการเดินทางเข้า-ออกจากต่างประเทศ ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย
"ที่ผ่านมาเรามีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยัน 92 ราย (ขณะแถลงข่าว แต่ล่าสุดเพิ่มเป็น 93 ราย) เสียชีวิต 1 ราย เราจึงออกนโยบายค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนแบบเข้มข้น เอ็กซเรย์เต็มพื้นที่เสี่ยง และมีความพยายามแสวงหาวิธีการทางแล็บที่ยืนยันผลที่เป็นไปได้ในการคัดกรองคนจำนวนมาก ภายใต้ความคุ้มค่า ประหยัด และปลอดภัย"
"จึงได้ประสานงานกับจุฬาฯ ขอใช้นวัตกรรมชุดตรวจว่องไวนี้นำมาใช้ตรวจร่วมกับ RT.PCR ในการคัดกรองผู้ป่วย (หมายถึงวิธีการตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ ใช้วิธีป้ายเยื่อบุในคอ หรือป้ายเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก เพื่อนำเชื้อไวรัสในเซลล์มาตรวจ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาภูมิคุ้มกันในชุมชนเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัย รวดเร็ว และมีหลักฐานทางชีวภาพ จากปัตตานีโมเดลจะทำให้ได้รูปแบบการดูแลชุมชนให้อยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างมั่นใจ และจะขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดของเราต่อไป" ผู้ว่าฯปัตตานี กล่าว
ศาสตราจารย์ นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า "ปัตตานีโมเดล" เป็นการพัฒนานวัตกรรมการจัดการความไม่แน่นอน (Uncertainty Management) อันเกิดจากโรคระบาดโควิด-19 แห่งแรกในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ผลการศึกษาที่ได้จากปัตตานีโมเดลทำให้ทราบว่า สามารถใช้ Rapid Test เสริมความมั่นใจในช่วงที่สังคมยังมีความไม่แน่นอน ควบคู่ไปกับ RT.PCR ได้ โดยเฉพาะกับการคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศที่มีความเสี่ยงสูง
นอกจากนี้ Rapid Test ยังช่วยลดระยะเวลากักตัวใน Local Quarantine จากเดิม 14 วันให้สามารถกลับไปกักตัวที่บ้านได้เร็วขึ้น ซึ่งช่วยลดภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ใน Local Quarantine ทั้งหมดนี้เพื่อเสริมความมั่นใจให้กระบวนการการทำงานของ State Quarantine และ Local Quarantine ที่เป็นด่านหน้าต้องรับกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย