บรรยากาศในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ วันศุกร์ที่ 15 พ.ค.63 ปรากฏว่าที่บริเวณหน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. มีผู้คนไปเฝ้ารอกันเนื่องแน่น
เนื่องจากเป็นวันแรกของเกษตรกรที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาลผ่าน www.เยียวยาเกษตรกร.co.th ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นัดจ่ายเงินเป็นวันแรก โดยจะเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 15,000 บาท
ผู้ที่เดินทางไป ธ.ก.ส. มีทั้งเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลไว้แล้ว ก็เดินทางไปเพื่อถอนเงิน หรือปรับสมุดธนาคารเพื่อเช็คยอดเงิน นอกจากนั้นยังมีคนที่เอกสารหลักฐานยังไม่ครบ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีบัญชีเงินฝากของ ธ.ก.ส. ก็ไปเปิดบัญชี ทำให้มีลูกค้าหนาแน่นเป็นพิเศษ ท่ามกลางการอำนวยความสะดวกของเจ้าหน้าที่ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ อส. (อาสารักษาดินแดน) อย่างเข็มงวด
รอยฮา วาหลง ผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขายะลา กล่าวว่า วันแรกของการโอนเงินเยียวยาให้เกษตรกร สำหรับจังหวัดยะลาโอนให้จำนวน 9,900 ราย รวมเป็นเงินประมาณ 49 ล้านบาท ในส่วนของ ธ.ก.ส.สาขายะลาที่ีดูแลพื้นที่อำเภอเมืองยะลา กับ อ.กรงปินัง มีเกษตรกรที่ได้รับการโอนเงินเยียวยาจำนวน 3,000 กว่าราย เป็นเงิน 15 ล้านบาท
ส่วนการจ่ายรอบที่ 2 จะจ่ายวันที่ 18 พ.ค. รอบ 3 วันที่ 19 พ.ค. โดยในรอบ 3 มีจำนวนเกษตรกรได้รับเยียวยามากที่สุดกว่า 14,000 ราย ยอดเงินสูงถึง 73 ล้านบาท
"ทาง ธ.ก.ส.ได้เตรียมความพร้อมในการบริหารเงินเพื่อให้บริการลูกค้าอย่างเต็มที่ โดยได้เติมเงินในตู้เอทีเอ็มทุกตู้ของ ธ.ก.ส.ในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อความสะดวกของพี่น้องประชาชนในการเบิกเงิน" ผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขายะลา กล่าว
สาปีนะ มูดอ ชาวบ้านจาก อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า ได้รับเงินช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว รู้สึกดีใจมาก เพราะที่ผ่านมาเดือดร้อน โดยเฉพาะตั้งแต่มีโควิด-19
"แคะหมากได้วันละ 15 บาทแค่นั้นเอง เพราะไม่มีงานอื่น ต้องไปซื้อมาม่ามากินกับข้าว ส่วนสวนยางให้ลูกชายกรีด (คล้ายๆ แบ่งให้รุ่นลูกได้ดูแลและมีรายได้) เราคนแก่ ไม่มีภาระอะไร มีเงิน 15 บาทก็พอกินข้าวได้ ดีใจอย่างบอกไม่ถูกที่เงินเข้าวันนี้ ให้ลูกไปเบิกเงินมา เห็นว่าคนเยอะมากที่ธนาคาร เพื่อนบ้านเช็คในระบบแล้วว่ามีเงินเข้า"
แม้จะเป็นชาวบ้าน แต่สาปีนะก็คิดอ่านแบ่งสรรปันส่วนเงินเยียวยาที่ได้รับ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
"เงิน 5,000 บาทที่ได้วันนี้ จะเป็นออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกจะนำไปซื้อข้าวสาร 1 กระสอบ และปลา อยากกินเนื้อทอดด้วย ก็จะเอาไปซื้อเนื้อ 1 กิโลฯ คิดว่าน่าจะใช้เงินส่วนนี้ประมาณ 1,500 บาท ส่วนที่ 2 จะเก็บเงินไว้กินตอนรายอ (หลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน) วันที่ 23 หรือ 24 พ.ค.นี้ ประมาณ 1,000 บาท และส่วนที่ 3 จะนำไปจ่ายหนี้ ขอบคุณรัฐบาลที่เห็นใจเกษตรกร ช่วยเหลือพวกเรา" ชาวบ้านจาก อ.ยะหา กล่าว
ขณะที่ อับดุลรอซะ ดอเลาะ วัย 48 ชาวบ้านใน อ.กาบัง จ.ยะลา กล่าวด้วยความดีใจเช่นกันว่า ตนมีอาชีพกรีดยางและซ่อมมอเตอร์ไซค์ ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบมาก เพราะคนเดินทางไม่ได้ จึงไม่ค่อยใช้รถ และไม่มีคนมาซ่อมมอเตอร์ไซค์เลย ราคายางพาราก็ถูกมาก
"โชคดีมากที่เขาให้เงินเยียวยา ถ้าไม่ได้รับเงินคงลำบากแน่ เพราะตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจไม่ดีเลยจริงๆ จากเดิมที่ไม่ดีอยู่แล้วเพราะคนในพื้นที่มีอาชีพทำสวนยาง แต่ราคายางตกต่ำมาก ทำให้กระทบไปหมด วันรายอปีนี้หากไม่ได้รับเงินจำนวนนี้ คงไม่ได้ซื้อชุดรายอให้กับลูกๆ 5 คน ต้องใส่ชุดของปีที่แล้วแน่ๆ" อับดุลรอซะ กล่าว
อีกหนึ่งสถานที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ก็คือร้านสะดวกซื้อชื่อดัง เพราะสามารถถอนเงินและโอนเงินได้โดยไม่ต้องไปธนาคาร ขณะที่คนอีกจำนวนไม่น้อยยังสาละวนอยู่กับการแก้ไขข้อมูลเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท จากโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน ได้รับการรับรอง จะได้รับเงิน 3 เดือน รวมเป็น 15,000 บาทเหมือนกับเกษตรกร
เหตุนี้เองทำให้ศูนย์ดำรงธรรมทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ สาขาธนาคารของรัฐ โดยเฉพาะ ธ.ก.ส. และร้านสะดวกซื้อ กลายเป็นแหล่งรวมของประชาชนผู้เดือดร้อนและต้องการรับเงินเยียวไปต่อชีวิตและสร้างโอกาสในการต่อสู้วิกฤติโรคระบาด จนกว่าไวรัสร้ายตัวนี้จะมีวัคซีนป้องกัน
-------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : พิษโควิดทำตกงาน-เงินหมด ต้อง"ถือศีลอด"ล่วงหน้า