โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 แจ้งเหตุปะทะที่หนองจิก ปัตตานี เจ้าหน้าที่เจ็บ 1 ฝ่ายติดอาวุธต้องสงสัยดับ 3 คาดเป็นทีมปล้นร้านทองนาทวีเมื่อปลายปี 62 สั่งนายอำเภอทุกอำเภอคุมเข้มพื้นที่ป้องกันการสร้างสถานการณ์ตอบโต้ จับตาท่าทีบีอาร์เอ็นหลังประกาศหยุดปฏิบัติการหากไม่ถูกโจมตีก่อน
พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 30 เม.ย.63 เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายที่สนธิกำลังเป็น "หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วม" (นปพ.ร่วม) ได้เข้าพิสูจน์ทราบเพื่อบังคับใช้กฏหมายในพื้นที่บ้านปะการือสง ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และได้เกิดการยิงปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยติดอาวุธ
ผลจากการปะทะ เบื้องต้นเจ้าหน้าได้รับบาดเจ็บ 1 นาย นำส่งโรงพยาบาลหนองจิก อาการปลอดภัยแล้ว ทราบชื่อคือ ส.ต.ท.กวิน ไชยนุราช โดยจากการตรวจสอบที่เกิดเหตุปะทะและบริเวณโดยรอบหลังเสียงปืนสงบลง พบผู้ต้องสงสัยติดอาวุธเสียชีวิต 3 ราย ยังไม่ทราบชื่อ พร้อมตรวจยึดอาวุธปืนได้ 3 กระบอก เบื้องต้นทราบว่าเป็นปืนเอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก และปืนลูกซองอีก 1 กระบอก
พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นผลจากการแจ้งข่าวของพี่น้องประชาชนว่าพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลต้องสงสัย จึงจัดกำลังเข้าพิสูจน์ทราบ แต่ถูกกลุ่มคนร้ายที่หลบซ่อนในบ้านหลังหนึ่ง เปิดฉากยิงใส่ก่อน จึงเกิดการยิงปะทะและมีความสูญเสียดังกล่าว
โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 กล่าวด้วยว่า ในห้วงเดือนรอมฏอนซึ่งเป็นเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเดือนแห่งการทำความดี เจ้าหน้าที่ยังพบพบเบาะความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่เตรียมก่อเหตุรุนแรงบอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มมาตรการในการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น
มีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า จากการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลเบื้องต้นของผู้เสียชีวิตจากการปะทะ คาดว่าเป็นกลุ่มผู้ต้องหาที่ก่อคดีปล้นร้านทอง "บริษัทสุธาดากรุ๊ป จำกัด" ในตัวอำเภอนาทวี จ.สงขลา เมื่อวันที่ 24 ส.ค.62 กวาดทองรูปพรรณไปล็อตใหญ่ มูลค่า 85 ล้านบาท ก่อนหลบหนีหายไปแบบลอยนวล ขณะที่ฝ่ายตำรวจได้ออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวนหนึ่ง แต่ยังจับกุมใครไม่ได้ (อ่านประกอบ : เจาะแผนประทุษกรรม ปล้นมโหฬาร "ร้านทองนาทวี")
ขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งไปยังนายอำเภอทุกอำเภอให้เฝ้าระวังป้องกันการตอบโต้ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยขอให้นายอำเภอดำเนินการดังนี้
1. แจ้งจุดตรวจ/จุดสกัด ตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะที่สัญจรในพื้นที่ และเตรียมระบบการป้องกันตนเอง
2. แจ้งชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ให้ตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดบริเวณหน้าฐานปฏิบัติการ และจัดระบบการ รปภ.ขณะกำลังพลละศีลอด
3. แจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุด ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ตรวจสอบสิ่งผิดปกติในพื้นที่ หรือตรวจสอบที่หลบซ่อนของผู้ก่อเหตุ เช่น พื้นที่ท้ายหมู่บ้าน
4. แจ้งปลัดอำเภอให้หมั่นกำชับกำลังพล และตรวจเยี่ยมการปฏิบัติ พร้อมรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นน้อยมาก โดยเฉพาะหลังจากวันที่ 3 เม.ย.63 ซึ่งกลุ่มที่ประกาศตนว่าเป็น "บีอาร์เอ็น" หรือขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี ได้ออกแถลงการณ์ยุติปฏิบัติการทุกรูปแบบ โดยอ้างเหตุผลเพื่อเปิดช่องทางให้แก่ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ตราบเท่าที่บีอาร์เอ็นไม่ได้รับการโจมตีจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย (อ่านประกอบ : จริงหรือ BRN หยุดปฏิบัติการ? จับสัญญาณสื่อสารเพื่อผลทางการเมือง)
แต่เมื่อมีการยิงปะทะและวิสามัญฆาตกรรมกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัยเสียชีวิตถึง 3 รายเช่นนี้ ก็ต้องรอดูท่าทีของฝ่ายที่ประกาศตนว่าเป็นบีอาร์เอ็น ว่าจะขยับดำเนินการอย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาด้วยว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 3 รายเป็นใครกันแน่ เกี่ยวข้องเป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่
ทางด้านท่าทีของฝ่ายความมั่นคงภายใต้การนำของแม่ทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่เคยยอมรับการประกาศหยุดปฏิบัติการของกลุ่มที่ประกาศตนเป็นบีอาร์เอ็น พร้อมยืนยันว่าฝ่ายรัฐไม่เคยโจมตีใครก่อน แต่ปฏิบัติการต่างๆ ที่เกิดขึ้นของเจ้าหน้าที่ เป็นการบังคับใช้กฎหมาย