ใกล้ถึงเดือนรอมฎอนเต็มที พี่น้องมุสลิมพากันเป็นห่วงว่าจะมีตลาดให้ซื้อหาอาหารสด หรืออาหารปรุงสำเร็จ เพื่อใช้รับประทานช่วงเปิดบวช หรือละศีลอดในแต่ละวันหรือไม่
เพราะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลาดเกือบทั้งหมดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่เป็นตลาดสดตามชุมชน ถูกสั่งปิดทั้งหมด
ประชาชนแม้จะลำบากแต่ก็ยังพอทน ทว่าเมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอนที่เวลาชีวิตต้องกลับด้าน กลางวันไม่รับประทานอาหารและน้ำ แต่สามารถทานได้ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดิน ทำให้มีความจำเป็นต้องมีตลาดสำหรับจับจ่ายหาซื้ออาหาร
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการปัตตานี เร่งพิจารณาเรื่องนี้เพราะเล็งเห็นความสำคัญ ก่อนตัดสินใจอนุญาตให้เปิดตลาดสดเเละตลาดนัดเดือนรอมฎอนตามที่เคยมีอยู่เดิม แต่เพิ่มเงื่อนไข เช่น ต้องตั้งจุดคัดกรองหน้าตลาด ห้ามผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 70 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือคนที่มีโรคประจำตัวเข้าตลาด รวมถึงจัดระเบียบพ่อค้าเเม่ค้าให้ตั้งร้านห่างกัน 1 เมตร หากร้านไหนขายดี ต้องจัดระเบียบการต่อคิวซื้อ โดยต้องเว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1 เมตร
หากปฏิบัติไม่ได้ หรือมีร้านใดฝ่าฝืน จะสั่งปิดร้านนั้นทันที!
สำหรับมาตรการและเงื่อนไขในรายละเอียด แบ่งตลาดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ตลาดเก่า หมายึงตลาดที่เคยมีอยู่เดิม ขอให้มีสถานีเฝ้าระวังและสังเกตการณ์ 4 สถานี ได้แก่
- มีจุดพักรอเข้าตลาด
- มีจุดคัดกรองที่ได้มาตรฐาน
- จัดร้านทุกร้านห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร มีเส้นทางเข้า-ออกทางเดียว แบ่งโซนอาหาร และลูกค้าต้องเว้นระยะตาม social distancing
- จัดระบบการกลับ หรือการออก และกำหนดที่จอดรถให้ชัดเจน
2. ตลาดที่จะเปิดใหม่ในระดับท้องถิ่น ต้องผ่านเกณฑ์และขออนุมัติต่อนายอำเภอท้องที่หรือผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีก่อน โดยมีข้อเสนอแนะคือ
- แม่ค้าแบ่งโซนคุมกันเอง และมีระยะห่าง ใครไม่ปฏิบัติตามให้มี social sanction
- สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคน
- ละเว้นขายเสื้อผ้า ขายได้เฉพาะเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
แต่ในยุคที่การคมนาคมสะดวกสบาย ยังมีทางเลือกให้กับคนที่ไม่อยากออกจากบ้าน เพราะเสียงเจอกับเชื้อโรค ก็คือ "ตลาดติดล้อ" หรือ "รถโชเล่ย์ขายอาหาร" ที่ตระเวนไปเคาะถึงหน้าประตูบ้าน
ทุกๆ เช้า บรรดามอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง หรือ "โชเล่ย์" ในพื้นที่ปลายด้ามขวานพากันออกตระเวนขายอาหารสด ผัดสด และอาหารปรุงสำเร็จ รวมถึงขนมหวานและผลไม้ กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในภาวะโรคระบาด โดยเฉพาะกับคนที่ไม่มีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน หรือคนที่ต้องกักตัวเอง 14 วัน พูดง่ายๆ คือแม้จะอยู่กับบ้าน แต่ก็มีอาหารมาส่ง มาเสนอขาย ให้มีกินเพื่อดำรงชีพ
"แบแอ" ชาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ผันตัวเองจากชาวสวนยาง มาขี่โชเล่ย์ขายของได้ 7 เดือนกว่าแล้ว รถของ "แบแอ" เต็มไปด้วยกับข้าว ผัก ผลไม้ ไก่ ปลา กุ้ง และขนมสารพัน บ้างก็แขวนไว้ บ้างก็วางในตะกร้า เรียกว่าเต็มรถโชเล่ย์
แต่ละวันเขาต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปถึงตลาดเทศบาลเมืองปัตตานีให้ทัน 6 โมงเช้า เพราะจะมีของให้เลือกซื้อมาก จ่ายตลาดเสร็จก็นำของที่ได้มาจัดวางบนรถโชเล่ย์ จากนั้นประมาณ 9 โมงก็เริ่มออกรถไปขายตามชุมชน เน้นที่ ต.ท่าเรือ อ.โคกโพธิ์ ขี่ตระเวนขายทั้งวันจนขายหมดหรือถึงเวลากลับ วนเวียนเช่นนี้ แม้ในสถานการณ์โควิดระบาด
"รายได้ก็พอเลี้ยงครอบครัวในแต่ละวัน ขายได้ทุกวัน ถามว่ากลัวโควิดมั้ย ก็กลัว แต่ก็ต้องขาย เพราะมีลูกค้าซื้อประจำแน่นอน" แบแอ เล่า
เขายอมรับว่าในสถานการณ์โควิดระบาด เขาขายของได้มากขึ้น และใช้วิธีใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรค
"ตลาดติดล้อ" ไม่ได้มีแค่ตลาดเดียว แต่ยังมีอีกหลายคนที่เลือกเส้นทางนี้ อย่าง "แบยา" ที่ยึดทำเลชุมชนรอบเมืองปัตตานีเป็นสถานที่ขายของ
"ลูกค้าประจำมีทุกที่ที่เข้าไปขาย ยิ่งเพิ่มลูกค้าที่ทำงานอยู่บ้าน หรือออกไปข้างนอกบ้านไม่ได้เพราะสถานการณ์โควิด ก็ทำให้ขายได้มากขึ้น แม้กำไรจะไม่มากแต่ก็อยู่ได้ ถ้าเราขยันออกมาขาย ก็จะยิ่งมีรายได้ เพราะอาหารคือสิ่งจำเป็นของชีวิตที่ทุกคนยังต้องซื้อหา จะขายต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นแบบไหน วิธีป้องกันตัวเองจากโควิดก็คือใส่หน้ากากอนามัย"
ด้านเสียงจากฝั่งผู้ซื้ออย่าง ยามีละห์ ชาวบ้านย่านสุไหงปาแน ที่อุดหนุน "แบยา" เกือบทุกวัน บอกว่า ข้าวของที่โชเล่ย์เข้ามาขายมีเกือบครบทุกอย่าง เลือกซื้อหาได้ตามชอบ บางอย่างราคาถูก บางอย่างเท่ากับตลาด แต่ไม่ต้องขี่รถไปตลาดเอง ยิ่งในสภาวะบ้านเมืองแบบนี้ ยิ่งน่าอุดหนุน
แม้โควิด-19 จะระบาดไปทั้งโลก และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นดั่งพื้้นที่สีแดงในสถานการณ์นี้ แต่วิถีของของคนทำมาค้าขายก็ยังต้องดำเนินต่อไป ตลาดสดรอมฎอนกำลังจะเปิด ขณะที่ "ตลาดติดล้อ" ก็ยังทำหน้าที่เป็นที่พึ่งเรื่องอาหารการกินให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะในยามที่การเดินทางเป็นเรื่องต้องห้ามของสังคม