ในสถานการณ์ที่หลายฝ่ายเริ่มมองไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างพลิกฝ่ามือหลังผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายของโควิด-19 สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือ "ยุทธศาสตร์ชาติ" ที่ต้องปรับเปลี่ยนกันขนานใหญ่เพื่อรองรับภัยคุกคามที่คาดไม่ถึงเช่นนี้
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความสะท้อนมุมมองของสถานการณ์โรคระบาด โดยมองผ่านการมีอยู่ของ "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" ที่ยกร่างและจัดทำกันในรัฐบาล คสช.
เสียงวิจารณ์ตลอดมาเกี่ยวกับจุดอ่อนและความบกพร่องของยุทธศาสตร์ชาติชุดนี้ อาจเบาเกินไปด้วยซ้ำเมื่อถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งในวันที่เผชิญสถานการณ์โควิด-19 ถึงขั้นที่อาจารย์ใช้คำว่า "ความไร้ค่าทางยุทธศาสตร์" เลยทีเดียว แล้วสังคมไทยควรคิดอ่านอย่างไรกันต่อ....
--------------------------------------------
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดคำถามทางการเมืองที่สำคัญว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ถูกร่างและประกาศใช้โดยรัฐบาลทหารนั้น ควรจะยกเลิก หรือดำเนินการผลักดันต่อไป?
ในด้านหนึ่งคำถามนี้เป็นประเด็นการเมืองในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคงต้องเริ่มด้วยข้อเท็จจริงประการสำคัญว่า ยุทธศาสตร์ฉบับนี้กำเนิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมืองของผู้นำทหาร และเป็นผลผลิตทางความคิดของระบอบเผด็จการที่ต้องการแปลงยุทธศาสตร์ 20 ปี ให้กลายเป็น "ปัจจัยพิเศษ" ที่สามารถรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 อันอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ยุทธศาสตร์นี้จึงมีสถานะเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่รัฐบาลทหารได้ออกแบบไว้สำหรับอนาคต (ที่ผู้นำทหารเองก็ไม่มั่นใจ!)
ข้อเตือนใจ
นักเรียนในวิชายุทธศาสตร์ถูกสอนให้ตระหนักอยู่เสมอว่า ยุทธศาสตร์คือการกำหนดจุดหมายปลายทาง พร้อมกับการออกแบบทิศทางที่รัฐบาลจะพาประเทศเดินไปข้างหน้าสู่จุดหมายนั้น ด้วยทรัพยากรต่างๆ ที่รัฐมีอยู่ และการกำหนดเช่นนี้คือการสร้างวิสัยทัศน์ที่จะต้องมองไปในอนาคต เพราะปัจจัย 3 ประการ คือ จุดหมายปลายทาง ทิศทางที่จะไป และทรัพยากรที่จะใช้นั้น ล้วนเป็นการประมาณการด้วยเงื่อนไขในอนาคตทั้งสิ้น
ดังนั้นแม้อนาคตจะเป็นผลสืบเนื่องของสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ปัจจัยปัจจุบันทั้งหมดจะเป็นตัวกำหนดอนาคต หรือดังที่ทราบกันดีว่าในเวทีโลกนั้น สามารถมีปัจจัยแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังที่นักเรียนในสาขานี้จะถูกสอนให้ตระหนักเสมอจากบริบทของ "ประวัติศาสตร์ยุทธศาสตร์" (strategic history) ว่าปัจจัยของสิ่งที่คาดไม่ถึง (unexpected inputs) สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และปัจจัยเช่นนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ขีดความสามารถในการคาดการณ์ต่ออนาคตกลายเป็นสิ่งที่ผิดพลาดได้อย่างง่ายดาย
หากเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ยุทธศาสตร์ของเหตุการณ์ต่างๆ ของโลกแล้ว ล้วนมีข้อเตือนใจเสมอว่าผลสืบเนื่องจากการเกิดของ "ปัจจัยที่คาดไม่ถึง" นั้น อาจกลายเป็น "จุดเปลี่ยน" ของประวัติศาสตร์โลกได้ เช่น ถ้าเรามีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1930 และเห็นเศรษฐกิจตกต่ำ แต่เราก็อาจจะไม่คาดคิดว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกในปี 1929-30 (global recession) สุดท้ายแล้วปัญหานี้จะกลายเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของสาเหตุที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
หรืออย่างน้อยก่อนหน้าปี 1989 ในยุคสงครามเย็น ใครบ้างจะคิดว่าเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกจะรวมชาติได้ และกำแพงเบอร์ลินจะถูกทำลายลงในเดือนพฤศจิกายน 1989 เท่าๆ กับที่จะมีใครคาดได้บ้างไหมว่าสงครามเย็นจะจบลงในปลายปี 1989 และระบอบคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติบอลเชวิคในรัสเซีย ในปี 1917 จะเดินมาถึงจุดจบในปี 1990
ประวัติศาสตร์ยุทธศาสตร์สอนหลักการที่สำคัญให้นักยุทธศาสตร์ทุกคนว่า โลกเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และหลายครั้งความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่าง "รวดเร็วและรุนแรง" จนแผนยุทธศาสตร์ที่กระทำขึ้นอาจกลายเป็น "สิ่งล้าสมัย" ไปทันทีเมื่อสภาวะแวดล้อมใหม่เกิด
ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ต่างหากที่ในที่สุดแล้วกลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ และยิ่งถ้ายุทธศาสตร์ไม่ถูกออกแบบให้รองรับต่อความเปลี่ยนแปลงแล้ว ยุทธศาสตร์ฉบับนั้นก็แทบจะกลายเป็น "เศษกระดาษ" ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดปัจจัยที่คาดไม่ถึงเข้ามาเป็นผลกระทบที่มีนัยสำคัญ ก็จะยิ่งส่งผลให้ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นนั้นหมดสภาพไปโดยสิ้นเชิง เช่น เมื่อยุทธศาสตร์ถูกทำขึ้นในยุคสงครามเย็น แต่เมื่อสงครามดังกล่าวมาถึงจุดสิ้นสุดในปลายปี 1989 แล้ว ก็ตอบได้ทันทีว่า ยุทธศาสตร์เช่นนั้นได้สิ้นสภาพไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขสำคัญในเวทีโลกนั่นเอง
ยุทธศาสตร์ยุคหลังโควิด
ในปัจจุบันก็ไม่แตกต่างกัน ผลจากการระบาดของเชื้อโรคครั้งนี้ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศต้องเตรียมตัวทำยุทธศาสตร์ใหม่ทั้งหมด เพราะเงื่อนไขของโลก/ประเทศในยุคก่อนและยุคหลังโควิดมีความแตกต่างกันอย่างมาก และทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างมากด้วย ถ้าเช่นนั้นแล้ว การประเมินสถานการณ์ในอดีตของยุคก่อนโควิดจะใช้กับยุคหลังโควิดได้จริงเพียงใด เพราะสถานการณ์แวดล้อมได้เปลี่ยนไปอย่างอย่างสิ้นเชิง
ฉะนั้นคำถามสำคัญที่รัฐบาลจะต้องตอบให้ได้ก็คือ เป้าหมาย เส้นทางที่จะไปสู่เป้าหมาย และทรัพยากรที่จะใช้ในการไปถึงเป้าหมายนั้น จะยังคงมีอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ อย่างน้อยเราสามารถตอบในกรณีของรัฐได้ว่า ทุกรัฐจะประสบปัญหาความขาดแคลนทรัพยากรไม่แตกต่างกัน และรัฐบาลไทยเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ถูกออกแบบให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่รัฐบาลทหารหลังเลือกตั้ง จึงไม่สามารถตอบโจทย์ทางยุทธศาสตร์ของไทยในปัจจุบันได้เลย และทั้งเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงจากโรคระบาด ซึ่งมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะและขีดความสามารถของประเทศไทย ก็ยิ่งทำให้ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารฉบับนี้กลายเป็น "ความไร้ค่าทางยุทธศาสตร์" ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อนาคตทางยุทธศาสตร์
ในทิศทางการบริหารรัฐสมัยใหม่ ทุกประเทศต้องการการมี "ยุทธศาสตร์ชาติ" แต่ยุทธศาสตร์นี้ต้องไม่ถูกสร้างให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้าม (ดังจะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์ 20 ปีมีบทลงโทษทางกฎหมาย) หากจะต้องสร้างให้เกิดยุทธศาสตร์ที่เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการเดินทางของประเทศไปสู่เป้าหมายในอนาคต
ประเด็นสำคัญที่จะต้องตระหนักก็คือ การคง "ยุทธศาสตร์เก่า" ในโลกที่ต้องการ "ยุทธศาสตร์ใหม่" จึงไม่ต่างกับการเสนอขาย "สินค้ารุสสต๊อก" ที่ตกยุคให้แก่สังคมไทย ... สินค้าตกยุคไม่มีราคา และไม่มีค่าที่ควรแก่การเก็บรักษา ดังนั้นไม่มีประโยชน์อะไรที่สังคมไทยในยุคหลังโควิดจะต้องใช้ "สินค้ารุสสต๊อก" ชิ้นนี้ในการสร้างประเทศในอนาคต
ได้เวลา "ยกเลิกยุทธศาสตร์เก่า" ของรัฐบาลทหาร และถึงเวลาต้องสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ของประเทศไทยได้แล้ว!