"ถึงไม่ออกแถลงการณ์ พวกเขา (BRN) ก็สมควรหยุดทุกการกระทำ แล้วมาช่วยชาวบ้านที่อด ช่วยแรงงานต้มยำมาเลย์ให้รอดพ้นจากมิจชาชีพที่หลอกหากินช่วงที่แรงงานต้มยำกำลังเดือดร้อน"
เป็นเสียงจากชาวบ้านรายหนึ่งในจังหวัดยะลาที่ระบายออกมาเหมือนอัดอั้น พร้อมตั้งคำถาม
"พวกเขาควรทำอะไรมากกว่าออกแถลงการณ์ ทำไมไม่ไปแจกข้าวสารให้คนในพื้นทีที่กำลังอด ไม่ไปช่วยแรงงานต้มยำ ไม่ทำอะไรสักอย่าง แค่ประกาศหยุดยิงแบบลอยๆ เหมือนพวกฉวยโอกาส"
ชาวบ้านคนนี้พูดอย่างตรงไปตรงมา แม้จะเป็นเสียงเพียงบางเสียงจากผู้คนนับแสนนับล้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็เป็นเสียงแท้ๆ ที่ปราศจากการปรุงแต่ง และไม่ใช่ "ไอโอ" หรือปฏิบัติการข่าวสารของบรรดากลุ่มคนที่พูดแทนทหาร ซึ่งเป็นคู่ต่อสู้ของ BRN
ชาวบ้านในพื้นที่จำนวนไม่น้อยจับกลุ่มกันพูดคุยกันถึงแถลงการณ์ล่าสุดของ BRN ที่ประกาศว่าจะหยุดปฏิบัติการทุกรูปแบบ ตราบเท่าที่ไม่ถูกโจมตีจากเจ้าหน้าที่รัฐไทยก่อน ทั้งนี้เพื่อเปิดช่องทางให้แก่ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และมากติดอันดับต้นๆ ของประเทศ
เท่าที่สดับตรับฟังจากหลายๆ เสียง ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ของ BRN แต่ก็จะตั้งคำถามเหมือนอย่างชาวบ้านจากจังหวัดยะลาว่า เรื่องหยุดปฏิบัติการในช่วงโรคระบาดเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอยู่แล้วใช่หรือไม่ การออกประกาศจึงน่าคิดว่าหวังผลอะไร และขบวนการที่มีสมาชิกอยู่จำนวนไม่น้อยนี้ ควรทำอะไรได้มากกว่าแค่แถลงการณ์ "หยุดยิงชั่วคราว" หรือเปล่า
"ทุกวันนี้ทุกคนเดือดร้อนกับโรคภัยโควิด-19 ร้านค้า ตลาดก็ปิดไปเยอะ ราคายางก็ถูก พี่น้องที่ไปทำงานมาเลเซียก็ไม่มีงาน ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและครอบครัว ในสถานการณ์ที่ถือว่าวิกฤติแบบนี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามาสร้างปัญหาเพิ่ม แน่นอนเขาจะต้องถูกคนทั้งโลกประณามและทำให้เสียมวลชน ฉะนั้้นจึงไม่แปลกถ้า BRN ประกาศหยุดปฏิบัติการ เพราะเป็นเรื่องที่สมควรกระทำอยู่แล้ว และไม่มีใครยอมรับได้หากยังเลือกที่จะปฏิบัติการอยู่" ชาวบ้านอีกคนหนึ่งให้ความเห็น
แต่เมื่อถามถึงบทบาทของภาครัฐ ชาวบ้านก็บ่นบ้างเหมือนกันว่ายังให้ความช่วยเหลือน้อยเกินไป
"สิ่งที่รัฐทำถือเป็นภาคบังคับอยู่แล้ว เพราะชาวบ้านเดือดร้อน ชาวบ้านอด แต่ก็มองว่า ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) กับ กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า ทำอะไรให้ชาวบ้านบ้าง พูดตรงๆ ชาวบ้านจะพึ่งใครได้ นอกจากตัวเอง"
เป็นความรู้สึกของชาวบ้านที่เอ่ยอย่างตรงไปตรงมากับสิ่งที่พวกเขาเผชิญ...
สำหรับบทบาทของ BRN เห็นได้ชัดว่าได้เพิ่มการสื่อสารมากขึ้น ทั้งในแง่ของ "ช่องทาง" และ "ความถี่" นับตั้งแต่เปิดตัวร่วมคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขกับรัฐบาลไทย โดยมี นายอานัส อับดุลเราะห์มาน หรือ อุสตาซหีพนี มะเร็ะ เป็นหัวหน้า เมื่อ 20 ม.ค.63
นับเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 BRN ก็สื่อสารในรูปคำแถลงมาแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 26 มี.ค.63 เป็นคำแถลงผ่าน YouTube โดย นายอับดุลการิม คอลิบ โฆษก หรือฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ BRN (อ่านประกอบ : เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า! BRN ผวาโควิดเป็นภัยพิบัติ) กับล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่มีใจความสำคัญคือคำประกาศหยุดปฏิบัติการ ซึ่งสืบเนื่องมาจากโควิด-19 เช่นกัน
การสื่อสารของ BRN ยึดรูปแบบที่เป็นทางการ ใช้ภาษาสวยงาม และมีภูมิรู้ มีเหตุมีผล อ่านดูเผินๆ จะคล้อยตามได้ไม่ยาก อย่างเช่นแถลงการณ์เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ทุกฝ่ายจับตามอง...
ประกาศ BRN ในการรับมือสถานการณ์โควิด-19
3 เมษายน 2020 / 9 ชะอ์บาน 1441
ขอให้สันติสุขจงมีแด่ท่าน
แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ตระหนักว่า โควิด-19 หรือเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นภัยคุกคามอันยิ่งใหญ่สำหรับประชาคมโลกทั้งปวง รวมถึงปาตานีด้วย ณ ปัจจุบันนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตนับวันก็ยิ่งมากขึ้น และคาดการณ์ว่าจำนวนเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอีก ถ้าหากว่าประชาชนโดยเฉพาะประชาชนปาตานีไม่เอาจริงเอาจังกับมาตรการการป้องกันการแพร่ขยายเชื้อโรค ตามแถลงการณ์จากกรมประชาสัมพันธ์ BRN ผ่านช่องทาง Youtube เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2020 พวกเราข้อเน้นย้ำอีกครั้งว่า การปกป้องชาติ (bangsa) เป็นข้อบังคับสำหรับพวกเราทุกคน
ในขณะที่ประชาชนปาตานีกำลังเผชิญหน้ากับความเดือดร้อนและภาวะฉุกเฉินดังเช่นปัจจุบันนี้ สถานการณ์ก็ยิ่งแย่ลงด้วยการยกระดับของปฏิบัติการทางทหารที่ไม่มีมนุษยธรรมและไร้น้ำใจ รวมไปถึงการตรวจค้น การปิดล้อมบ้านของผู้ต้องสงสัย และการจับคุมผู้ต้องสงสัยชาวมลายู ปฏิบัติการลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้สถานการณ์ที่ลำบากอยู่แล้วยิ่งแย่ลง และประชาชนปาตานีก็จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความหวาดกลัว
เพื่อสร้างบรรยากาศที่มีความสงบและความสะดวกมากขึ้นสำหรับประชาชนปาตานี เกี่ยวกับความพยายามทุกประเภทโดยบรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยงานที่ทำงานเพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาดโควิด-19 BRN จะยุติปฏิบิติการทุกรูปแบบเพื่อเปิดช่องทางให้แก่ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยตระหนักว่า ณ เวลานี้ ศัตรูหลักของมนุษยชาติคือโควิด-19 การประกาศคำนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2020 ตรงกับวันที่ 9 ชะอ์บาน ฮิจเราะห์ศักราช 1441 ตราบใดที่ BRN ไม่ได้รับการโจมตีจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย
BRN ขอยืนยันอีกครั้งถึงความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการรับมือโรคโควิด-19 และในฐานะเป็นผู้ปกป้องชาวปาตานี BRN ร้องขอให้ประชาชนชาวปาตานีทั้งหลายดูแลตัวเองอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และดุอาเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าผู้ทรงสร้าง
ขอให้ทุกท่านปฏิบัติศาสนกิจถือศีลอด และขอให้อัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่จะทรงให้ความเข้มแข็งและความอดทนในเมื่อเรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งนี้
ขอขอบคุณ วัสลาม
กองเลขานุการกลาง
แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี
จริงๆ แล้วแถลงการณ์ลงวันที่ 3 เม.ย.63 ไม่ใช่ครั้งแรกที่ BRN พูดเรื่องหยุดยิงชั่วคราว แต่ย้อนกลับไปเพียง 7 วัน BRN เพิ่งปฏิเสธข้อเรียกร้องของผู้ที่ทำงานภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โพสต์ข้อความเรียกร้องให้ BRN หยุดปฏิบัติการทางทหารในสภาวะที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด
นี่คือข้อความบางช่วงบางตอนจาก BRN Army หรือกองกำลัง BRN ที่ตอบข้อเรียกร้องเรื่องหยุดยิง ซึ่งถือว่าเป็นท่าทีที่แตกต่างกับแถลงการณ์วันที่ 3 เม.ย.ไม่น้อยทีเดียว...
BRN Army เป็นกองกำลังที่เคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนดินแดนปาตานี ซึ่งหมายถึงนักรบ จึงขอนำเรียนต่อประชาชนปาตานี ดังนี้
1. บุคลากรทางการแพทย์มิใช่ศัตรูหรือเป้าหมายในการต่อสู้ และเป็นที่ชัดเจนว่าแพทย์, พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านเป็นบุคคลที่ต้องงดเว้นการสังหารในทุกสมรภูมิ ยกเว้นในกรณีที่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ที่ช่วยเหลือในงานข่าวกรองหรืออาวุธให้ศัตรูคู่ขัดแย้ง
2. การจัดการในการป้องกันโรค มิใช่หน้าที่ของนักรบหรือทหาร ยกเว้นตามที่ถูกร้องขอในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เช่น เกิดโรคระบาดรุนแรง, เกิดคลื่นสึนามิหรือแผ่นดินใหว จึงไม่สมควรที่กองกำลังความมั่นคงเสนอหน้าไปปฏิบัติภารกิจดังกล่าว เช่น ทหารถูกโจมตีด้วยระเบิดขณะกลับจากล้างมัสยิด และเจ้าหน้าความมั่นคงที่นำประกาศของสำนักจุฬาฯไปปิดตามมัสยิด ซึ่งหน้าที่ตรงนั้นเป็นของสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม และคณะกรรมการมัสยิด เป็นต้น
3. พยายามอย่าให้เป้าหมาย (ทหาร, ตำรวจ, อส.ทพ., อส. ยกเว้นกองกำลังประชาชนที่รับผิดชอบภายในชุมชน) เข้าใกล้พลเรือน ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้
4. การที่รัฐสยามไทยได้นำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมาบังคับใช้ ก็เป็นเหตุผลในการโหนกระแสไวรัสในการทำลายศัตรูทางการเมืองมากกว่า เหตุเพราะหากจะแสดงถึงความจริงใจ พ.ร.บ.โรคระบาด (จริงๆ แล้วคือ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 - กองบรรณาธิการ) ก็เพียงพอในการบังคับใช้
5.BRN Army จะไม่ลงมือจนกว่าจะถึงขีดสุดของการยั่วยุจากศัตรู นั่นคือการปิดล้อมควบคุมประชาชนและกองกำลัง BRN Army
หมายเหตุ เรามิอาจรับประกันได้ว่าเหตุการณ์จะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากยังคงมีกองกำลังในพื้นที่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ BRN Army ปฏิบัติการอยู่เพื่อสร้างสถานการณ์ เช่น หน่วยทพ.จรยุทธ์, กองกำลังสันติบาล และผู้ที่เสียผลประโยชน์
จึงขอนำเรียนมา ณ ตรงนี้
BRN
จริงๆ แล้ว BRN ตอบเรื่องนี้ หลังจากออกมาแถลงผ่าน YouTube เพียงวันเดียว (26 มี.ค.) โดยการแถลงทาง YouTube มีเนื้อหาแสดงความกังวลว่า โควิด-19 อาจเป็นภัยพิบัติของโลก และเรียกร้องให้คนในพื้นที่ดูแลตัวเอง ดูแลความสะอาด ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้นำชุมชนและทางการแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อสกัดกั้นการระบาด
เมื่อ BRN ห่วงว่าโควิด-19 กำลังจะเป็นภัยพิบัติ จึงมีผู้ที่ทำงานในภาคประชาสังคมเรียกร้องให้หยุดยิง เพื่อเปิดทางให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานอย่างเต็มที่ แต่ BRN ก็ไม่ได้รับปาก
และจะว่าไปในแถลงการณ์วันที่ 3 เม.ย. BRN ก็ไม่ได้รับปากเต็มร้อยว่าจะหยุดปฏิบัติการ เพราะมีเงื่อนไขว่า "ตราบเท่าที่ไม่ถูกโจมตีจากเจ้าหน้าที่รัฐไทย" ซึ่งจะเรียกว่าไม่มีหลักประกันใดๆ เลยก็คงได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่ได้ตกลงด้วย และความรุนแรงอาจเกิดจากฝ่ายอื่น หรือมีการสร้างสถานการณ์ขึ้นเอง แล้วอ้างว่าเป็นปฏิบัติการจากเจ้าหน้าที่ก็ได้เช่นกัน
เพราะ BRN ก็ยอมรับเองในหมายเหตุที่ชี้แจงข้อเรียกร้องหยุดยิงว่า ในพื้นที่มีกองกำลังอีกหลายกลุ่มปฏิบัติการอยู่
เหตุนี้เองหลายฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิดกับข้อมูล และเข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี จึงไม่ได้ให้ราคามากนักกับแถลงการณ์ที่เป็นคำประกาศหยุดปฏิบัติการของ BRN
แต่ก็ยังมีกลุ่มที่ตั้งความหวังกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข สันติภาพ ที่มองว่าสถานการณ์นี้อาจนำไปสู่ความคืบหน้าของการสร้างปรองดอง
อย่าง นายรักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ว่า ในช่วงเวลาแบบนี้ รู้สึกยินดีที่ทุกฝ่ายที่ตกอยู่ในความขัดแย้งมาโดยตลอด หันกลับมาร่วมมือ อาจจะไม่ต้องถึงกับจับมือทำสัญญาอะไรกันอย่างเป็นทางการ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงการที่ทุกฝ่ายเห็นประชาชนเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันจะเป็นไปไม่ได้เลยหากฝ่ายรัฐเพิกเฉยต่อคำแถลงการณ์ของ BRN ในเรื่องของ "ตราบใดที่ BRN ไม่ได้รับการโจมตีจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย" (เงื่อนไขของการหยุดปฏิบัติการ)
"ที่ผมต้องบอกแบบนี้ เพราะในสถานการณ์ที่เราจะต้องจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจำเป็นต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม แต่หาก ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะใช้สถานการณ์แบบนี้ ใช้กำลังทางทหาร ประชาชนจะอยู่อย่างไร เรามาร่วมกันช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากโควิด-19 ก่อนดีกว่าหรือไม่ครับ" เป็นคำถามและความหวังของประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพฯ
จริงๆ แล้วการเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่เคยมีส่วนผลักดันที่ทำให้เกิดการยุติการสู้รบมาแล้วในหลายพื้นที่ขัดแย้ง เช่น จังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย หลังเกิดสึนามิ เมื่อปี 48 โดยความสูญเสียของประชากรนับแสน ทำให้เกิดข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จากนั้นจึงพัฒนาสู่การทำข้อตกลงสันติภาพในเวลาต่อมา
แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากฝ่ายความมั่นคงไทย มองว่า โจทย์โควิด-19 ยังเป็นคนละโจทย์กับสึนามิ สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ยังเป็นคนละแบบกับที่อาเจาะห์
"ผมว่าฝ่ายขบวนการต่อต้านรัฐกำลังฉวยโอกาสที่เกิดโรคระบาด ซึ่งฝ่ายรัฐต้องทุ่มเททรัพยากรลงไปช่วยเยอะมาก แต่ฝ่ายเขาได้ใช้โอกาสนี้กระชับอำนาจตนเอง ในเขตที่เป็นหมู่บ้านจัดตั้งของเขา" เป็นความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคง ซึ่งวันนี้ยังทำงานเกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนใต้อยู่อย่างต่อเนื่อง
"การออกมาพูดช่วงนี้เป็นการแสวงประโยชน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอาจใช้เป็นช่องทางแก้ต่างตอนที่มีการวางระเบิดหน้า ศอ.บต.จนภาพพจน์เสียหายอย่างหนักก็ได้ ตอนนี้ประชาชนในพื้นที่กำลังกังวลกับโควิด แต่คนพวกนี้กลับรีบฉวยโอกาสอ้างเรื่องสงบศึกก่อน แล้วโทษทหารว่ายังใช้ความรุนแรงอยู่ หากหลังจากนี้มีความรุนแรงเกิดขึ้น ทั้งที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่"
จากการตรวจสอบข้อมูลในระดับหมู่บ้าน ตำบล ฝ่ายความมั่นคงพบสัญญาณหลายอย่างที่น่าสนใจ
"พวกเขาไปแสดงบทบาทในหมู่บ้านจัดตั้งมากเป็นพิเศษ เช่นพยายามเข้าไปดูแลประชาชน และพยายามลดบทบาทของผู้นำศาสนาที่เป็นคนของรัฐ (หมายถึงที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายไทย) ตลอดจนหน่วยงานรัฐที่ลงไปแนะนำการป้องกันโรคระบาด รวมถึงเรื่องการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา" เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายนี้ บอก
เช่นเดียวกับวิธีการสื่อสารของ BRN ที่วางตัวเป็น "ผู้ปกครองปาตานี" อย่างชัดเจน หลังจากที่เคยปิดตัว ไม่ยอมสื่อสารใดๆ มานานนับสิบปี
"เขากลับแนวทาง จากองค์กรลับ เป็นกล้าเปิดตัว และพยายามใช้องค์กรระหว่างประเทศให้เป็นประโยชน์ เช่นไปทำข้อตกลงฝ่ายเดียวเรื่องการปกป้องเด็กจากผลกระทบของการขัดกันทางอาวุธ แต่ไม่พูดถึงปฏิบัติการที่ผ่านมาหลายปีที่มีเด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบมากมาย ทุกวันนี้การแสดงออกของเขาทำตัวเป็นเหมือนรัฐบาลปัตตานีเองเลย มีการอ้างชื่อกองทัพปาตานี กระทรวงสารสนเทศปาตานี และต่อไปคงอ้างกระทรวงสาธารณสุขปาตานี ก็ต้องรอดูว่าคนในพื้นที่จะว่าอย่างไรกับแสดงบทบาทในลักษณะนี้ โดยเฉพาะในแง่ของความชอบธรรมในการอ้างตัวเป็นผู้ปกครอง หรือผู้ปกป้องอย่างที่เขาออกแถลงการณ์"
เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคง สรุปว่า ท่าทีของขบวนการต่อต้านรัฐที่กระทำอยู่นี้ จึงไม่ใช่ท่าทีของการถอยหนึ่งก้าวเพื่อร่วมมือกันดูแลพี่น้องประชาชน แต่เป็นการแสวงประโยชน์ ชิงความได้เปรียบในช่วงที่มีโรคระบาด หรือช่วงที่ประชาชนเดือดร้อนมากกว่า ฉะนั้นโมเดลนี้จึงไม่สามารถสานต่อไปเหมือน "อาเจะห์โมเดล" ได้
และสันติภาพก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้ารอต่อไป...