สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้สำนักจุฬาราชมนตรีต้องออกประกาศงดละหมาดวันศุกร์ รวมถึงให้ยกเลิกกิจกรรมทางศาสนาที่เป็นการรวมคนจำนวนมาก และการแต่งงานตามแบบของอิสลาม
มาตรการที่จุฬาราชมนตรีออกประกาศ สรุปสาระสำคัญคือ งดการละหมาดวันศุกร์ และการละหมาดญะมาอะห์ที่มัสยิด ให้ไปละหมาดที่บ้านแทน, ให้งดการจัดกิจกรรมและการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เช่น การจัดงานการกุศลขององค์กรมัสยิด มูลนิธิ สมาคม ชมรม งานบรรยายศาสนธรรมประจำวัน ประจำสัปดาห์ ประจำเดือน และการออกดะอ์วะห์ เป็นต้น พร้อมให้งดหรือเลื่อนการจัดฉลองมงคลสมรสไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย หรือให้ทำพิธีนิกะฮ์ (สมรส) เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่เกิน 10 คน
แรงงานต้มยำแห่กลับบ้าน
สำหรับบรรยากาศบริเวณด่านพรมแดนในพื้นที่ชายแดนใต้ หลังจากมาเลเซียสั่งปิดประเทศตั้งแต่เมื่อเที่ยงคืนของวันอังคารที่ 17 ม.ค.63 นั้น ปรากฏว่าช่วงเช้าของวันพุธที่ 18 มี.ค. ด่านชายแดนใต้ทุกด่าน โดยเฉพาะด่านหลักอย่างด่านสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ค่อนข้างเงียบเหงา เพราะแรงงาน "ร้านต้มยำ" แห่กลับภูมิลำเนาในสามจังหวัดใต้ตั้งแต่ 1 วันก่อนหน้า คือก่อนที่มาเลเซียจะปิดพรมแดน เพราะเกรงข้ามกลับมาไม่ได้
รัฐบาลมาเลเซียสั่งปิดประเทศและปิดด่านพรมแดนทุกด่านตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 31 มี.ค. ทำให้คนไทย โดยเฉพาะแรงงานร้านต้มยำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยที่ด่านสุไหงโก-ลก ซึ่งติดกับชายแดนมาเลเซียที่ด่านรันตาปันยัง รัฐกลันตัน มีแรงงานร้านต้มยำข้ามแดนจำนวนมากตั้งแต่วันอังคารที่ 17 มี.ค. ท่ามกลางการตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ประจำด่าน ซึ่งได้สนธิกำลังกันทั้ง ตม. ตำรวจท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีการใช้เครื่องเทอร์โมสแกน และกล้องอินฟาเรด ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ผ่านแดนทุกคน
สำหรับจำนวนคนไทยที่ผ่านด่านหลักทั้ง 3 ด่านของนราธิวาส รวมทั้งหมด 21,799 คน แยกเป็น ด่านสุไหงโก-ลก 16,159 คน ด่านตากใบ 2,995 คน และด่านบูเก๊ะตา 2,645 คน
ส่วนบรรยากาศที่ด่านพรมแดนเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ที่อยู่ติดกับด่านเปิงกาลังฮูลู รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย มีแรงงานร้านต้มยำกุ้งทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยมีเจ้าหน้าที่ ตม., ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เบตง, สาธารณสุขอำเภอเบตง และเจ้าหน้าที่ทหารพรานหญิง ร่วมกันเพิ่มมาตรการคัดกรอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด
น.ส.คอลีเย๊าะ ลาเต๊ะ ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย บอกว่า รู้สึกเสียใจ เนื่องจากต้องปิดร้านตามประกาศเตือนของรัฐบาลมาเลเซีย ทำให้ได้รับผลกระทบ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาขายของไม่ค่อยได้ เพราะคนกลัวติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่แรงงานในร้านก็ไม่มีงานทำ ถือว่าส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่ก็คาดว่าต้นเดือน เม.ย.นี้คงได้กลับไปเปิดร้านตามปกติ
แม่ทัพ 4 สั่งปิด 13 จุดผ่อนปรนชายแดนใต้
วันอังคารที่ 17 มี.ค. "บิ๊กเดฟ" พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมด่านพรมแดนต่างๆ ของ จ.นราธิวาส เพื่อกำชับให้เพิ่มความเข้มงวดในการสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 พร้อมออกมาตรการปิดจุดผ่อนปรน (หมายถึงช่องทางผ่านแดนที่ไม่ใช่ด่านศุลกากร เช่น ท่าเรือ ท่าข้ามต่างๆ) ซึ่งมีทั้งสิ้น 13 จุด ให้เหลือแค่ 3 จุดใน 3 อำเภอเท่านั้น ส่วนจุดอื่นห้ามเดินทางเข้า-ออก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
จุดผ่อนปรนที่ยังเหลืออยู่ 3 จุด ได้แก่ ท่าข้ามศรีพงัน บ้านศรีพงัน ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ, ท่าประปา อ.สุไหงโก-ลก และท่าข้ามกะดุนง บ้านกะดุนง ต.ฆอเลาะ อ.แว้ง ทั้งหมดอยู่ใน จ.นราธิวาส ส่วนท่าข้ามผิดกฎหมายอีก 94 ช่องทาง ห้ามประชาชนผ่านเข้า-ออกอย่างเด็ดขาด
สำรวจ"กลุ่ม 132 คนไทย" ปัตตานีติดเชื้อ 1
ส่วนความคืบหน้าในการติดตาม "กลุ่ม 132 คนไทย" ที่ไปร่วมกิจกรรมชุมนุมของผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลาม ที่มัสยิดในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ช่วงวันที่ 24 ก.พ. ถึงวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ไปร่วมงานกว่า 16,000 คน แล้วมีบางคนติดเชื้อโควิด-19 นั้น
ล่าสุดที่ จ.นราธิวาส นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สั่งให้ติดตามสำรวจหาตัวผู้ที่ไปร่วมชุมนุมทางศาสนาจากทุกอำเภอ ทราบว่ามีชาวนราธิวาสเดินทางไปร่วมงาน 29 คน พบตัวแล้ว 26 คน ได้นำตัวเข้ากระบวนการกักโรคสังเกตอาการ 10 คน และส่งตรวจหาเชื้อ 16 คน ในจำนวนนี้มีอาการป่วย 2 คน แต่ยังไม่ยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ส่วนอีก 3 คนยังอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของนราธิวาส มีผู้สัมผัสโรคที่เข้าข่ายสอบสวนโรคจำนวน 42 คน ตรวจไม่พบเชื้อจำนวน 14 คน ขณะที่อีก 28 คนยังรอผลยืนยันจากห้องปฏิบัติการ
ส่วนที่ จ.ปัตตานี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด บอกว่า การติดตามตัว "กลุ่ม 132 คนไทย" ในส่วนของปัตตานี ทราบตัวผู้ที่เดินทางไปแล้ว 25 ราย และได้ทำการตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ได้ผลเป็นที่ยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ 1 ราย จึงได้แจ้งให้นายอำเภอทุกอำเภอ และส่วนราชการต่างๆ ช่วยกันเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เน้น 3 ประเด็น คือ
1. ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ให้กักตัวเองเป็นเวลา 14 วันทุกคน
2. กลุ่มที่เข้าร่วมชุมนุมทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย ให้เข้ารับการตรวจคัดกรอง เบื้องต้นปัตตานีมีผู้มารายงานตัวและคัดกรองแล้ว 25 คน
3. กลุ่มที่มาจากสนามมวยลุมพีนี และพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ให้มีการไปคัดกรองและกักตัวเองเพื่อเฝ้าดูอาการ หากรู้สึกไม่สบายให้แจ้งเจ้าหน้าที่
----------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
132 คนไทยจากมาเลย์เสี่ยงโควิด ไม่ได้อยู่แค่สามจังหวัดชายแดนใต้
พบ"กลุ่ม 132 คนไทย"ป่วยที่ปัตตานี-ยะลา!
เช็คชื่อ 132 คนไทย สธ.ยันติดเชื้อแล้ว 2 - ทัพ 4 ยังไม่ปิดจุดผ่อนปรน