หลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวแสดงพลังเรียกร้องให้กรมศิลปากรทบทวนการประกาศถอนเขตโบราณสถาน "เขายะลา" ที่มีภาพเขียนสีโบราณอายุนับพันปี ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมิอาจประเมินค่าได้ ขณะที่ "ศรีสุวรรณ" ออกโรงยื่น ป.ป.ช. พร้อมนำชาวยะลายื่นฟ้องศาลปกครอง
วันพฤหัสบดีที่ 5 มี.ค.63 เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ได้เดินทางไปรวมตัวกันในกิจกรรม "แฟลชม็อบ" ด้านหน้ากระทรวงวัฒนธรรมตามที่นัดหมายกันไว้ทางโซเชียลมีเดีย เพื่อประท้วงกรณีที่กรมศิลปากรประกาศเพิกถอนพื้นที่เขตโบราณสถาน "ภาพเขียนสีเขายะลา" บางส่วน เพื่อเปิดทางให้สามารถทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้
ความเป็นมาของเรื่องนี้ มีประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ก.พ.63 โดยกรมศิลปากรได้ประกาศแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่คาบเกี่ยว ต.ลิดล กับ ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา จากเดิมมีขนาด 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ลดเหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา
กรมศิลปากรให้เหตุผลว่า เนื่องจากพื้นที่ จ.ยะลา และจังหวัดใกล้เคียงกำลังประสบสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมสำหรับการก่อสร้าง เนื่องจากแหล่งหินอุตสาหกรรมในพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตที่มีปัญหาด้านความมั่นคง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องใช้แหล่งหินอุตสาหกรรมในเขตโบราณสถานเขายะลา เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนหินอุตสาหกรรม และบรรเทาปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่
เป็นที่น่าสังเกตว่า ประกาศฉบับนี้ลงนามเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2562 โดย นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการทำหน้าที่ราชการก่อนเกษียณอายุ
เว็บไซต์กรีนนิวส์ อ้างข้อมูลจาก วลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่ได้แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า ประกาศกรมศิลปากรฉบับนี้เป็นการเปิดทางให้มีการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่เขายะลา ซึ่งมีแหล่งโบราณสถานภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าและความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จนอาจส่งผลกระทบสร้างความเสียหายให้กับแหล่งโบราณสถานที่มีความสำคัญยิ่งแห่งนี้
วลัยลักษณ์ ยังได้โพสต์ภาพถ่ายภาพเขียนสีเขายะลา ซึ่งถ่ายโดยกรมศิลปากรเอง และบรรยายว่าสภาพแวดล้อมแต่เดิมนั้นมีความสวยงาม และมีความสำคัญมากในฐานะพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านเมืองเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งไม่แพ้บริเวณใกล้เคียง เช่น ทางเคดาห์ (รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย) หรือยะรัง (อำเภอหนึ่งใน จ.ยะลา) เพราะเป็นเส้นทางกึ่งกลางคาบสมุทรที่มีเมืองนี้ปรากฏอยู่กลางแผ่นดินภายใน
การอ้างเหตุความไม่สงบเพื่อขยายพื้นที่ระเบิดหินนี้ โดยกรมศิลปากรเป็นผู้อนุมัติประกาศยกเขตโบราณสถานให้ ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นผู้สำรวจโดยสำนักสงขลา และขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2544 ทำให้เป็นเรื่องที่ยากจะอธิบายด้วยเหตุผลที่ยอมรับได้ จึงขอเรียกร้องให้กรมศิลปากรทบทวนการปรับลดพื้นที่เขตโบราณสถานเขายะลาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะสภาพแวดล้อมภูเขาหินปูนและแหล่งโบราณสถานจะเสียหายไปมากกว่านี้
ข้อมูลจากเว็บไซต์กรีนนิวส์ ยังระบุด้วยว่า "เขายะลา" เป็นภูเขาหินปูน ทอดตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของจังหวัดยะลา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 80-270 เมตร ยาวประมาณ 2.7 กิโลเมตร กว้างที่สุดทางตอนใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร ปัจจุบันพื้นที่เขายะลาทางด้านทิศเหนือและตะวันออกบางส่วนถูกระเบิดทำลายจากการทำเหมืองหินปูน (อ่านข่าวต้นฉบับเว็บไซต์กรีนนิวส์ : ประกาศถอนเขตโบราณสถานเขายะลาทำพิษ แฟลชม๊อบต้านเหมืองหินโผล่หน้าก.วัฒนธรรม)
สำหรับประเด็นการลงนามในประกาศของอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในวันสุดท้ายของการรับราชการนั้น นายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านในเรื่องนี้ด้วย
แถลงการณ์ระบุว่า การใช้อำนาจของอธิบดีกรมศิลปากรมีข้อพิรุธและย้อนแย้งในตัวเองอยู่หลายประการ ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนมิอาจปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจไปโดยอำเภอใจได้ ทั้งนี้เพราะ
1. พื้นที่ภูเขายะลาเป็นแหล่งโบราณคดี ซึ่งมีภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สวยงาม และบ่งบอกถึงอารยะธรรมโบราณ ซึ่งมีอายุราว 1,200-1,500 ปีมาแล้วในสมัยศรีวิชัย ซึ่งก่อนหน้านี้มีปรากฎอยู่ถึง 2 แหล่งรอบพื้นที่เขายะลา ถือได้ว่าเป็นมรดกสำคัญของคาบสมุทรภาคใต้และคาบสมุทรสยาม-มาเลย์อย่างยิ่ง และสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์ของเมืองยะลา หรือ "เมืองยาลอ" มาแต่โบราณ แต่บางภาพได้พังทลาย และเสียหายจากการระเบิดหินในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองหินไปบ้างแล้ว
2. การแก้ไขหรือหั่นเขตที่ดินโบราณสถานโดยเปิดโอกาสให้กับโรงโม่หินในการขอประทานบัตรระเบิดหินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจำนวนกว่า 190 ไร่ มีปริมาณหินสำรองกว่า 33.54 ล้านเมตริกตัน มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท โดยอ้างว่าพื้นที่ จ.ยะลาและใกล้เคียงประสบปัญหาเกี่ยวกับแหล่งหินอุตสาหกรรม เพราะแหล่งหินหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงจำเป็นต้องมาใช้แหล่งหินจากภูเขายะลาแทนนั้น เป็นเหตุผลที่ไร้น้ำหนัก เนื่องจากปัจจุบันในจังหวัดยะลามีการขอประทานบัตรทำโรงโม่หินอยู่ถึง 9 โรงใน ต.ลิดล อ.เมืองยะลา และ ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา มีปริมาณหินสำรองมากถึง 634.45 ล้านเมตริกตัน มูลค่ากว่า 1.14 แสนล้านบาท มิได้ขาดแคลนตามอ้างแต่อย่างใด
3. การลงนามแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน เหตุใดจึงลงนามในวันสุดท้ายที่อธิบดีเกษียณอายุราชการ และเหตุใดจึงนำมาประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 26 ก.พ.63 ซึ่งมีระยะเวลานานถึง 5 เดือน ชี้ให้เห็นว่าจงใจที่จะปิดหูปิดตาประชาชนโดยไม่มีธรรมาภิบาลแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสียก่อนตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกฎหมายอื่นกำหนด จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงไม่อาจปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยย่ามใจได้ และจะเป็นแบบอย่างที่ไม่พึงประสงค์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของการตั้งกรมศิลปากรได้ ฉะนั้นทางสมาคมฯจะนำความไปยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวน สอบสวน เอาผิดอดีตอธิบดีกรมศิลปากรคนที่ลงนาม
โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันศุกร์ที่ 6 มี.ค.63 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นนทบุรี และหลังจากนี้จะร่วมกับชาวยะลาดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป
-----------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพเขียนสีเขายะลา จากอินเทอร์เน็ต