ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความชำแหละ "เสนาพาณิชย์" หรือ "ธุรกิจในค่ายทหาร" ซึ่งโดยนัยหมายถึงผลประโยชน์ทับซ้อนขนาดมหึมาในกองทัพ
ถือเป็นประเด็นร้อนแรงที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจจากกระแสปฏิรูปกองทัพหลังเกิดโศกนาฏกรรมโคราช
แม้ ผบ.ทบ.จะประกาศจัดการเรื่องนี้ด้วยตนเอง โดยใช้วลีที่ว่า "สวัสดิการเชิงพาณิชย์" แต่บทความชิ้นนี้ของอาจารย์สุรชาติจะชวนให้ตั้งคำถามว่า แท้ที่จริงแล้วธุรกิจในกองทัพซึ่งมีถึง 14 สาขา สุดท้ายแล้วผู้ที่ได้ประโยชน์คือกำลังพลหลายแสนนายในกองทัพ หรือนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาเพียงไม่กี่คนกันแน่?
------------------------------------
ผลพวงจากปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากการก่อเหตุโดยบุคลากรของกองทัพที่โคราช นำไปสู่การเปิดประเด็นสำคัญในเรื่องของธุรกิจภายในกองทัพ อันเป็นประเด็นที่ทำให้สังคมให้ความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน และในขณะเดียวกัน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกเอง ก็ได้ออกมาลดแรงกดดันของกระแสสังคมว่า กองทัพจะ "จัดการ" กับปัญหาเหล่านี้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการทำธุรกิจของนายทหารบางส่วนในกองทัพที่ทำให้ภาพลักษณ์ของสถาบันทหารตกต่ำลงอย่างมาก
เสนาพาณิชย์นิยม
หากพิจารณาจากตัวปัญหาแล้ว คงต้องยอมรับต้นทางของเรื่องทั้งหมดมาจากความเป็น "เสนาพาณิชย์" ที่เกิดขึ้นในกองทัพ หรืออาจจะเรียกด้วยภาษาในทางทฤษฎีว่า "เสนาพาณิชย์นิยม" (military commercialism) ซึ่งหมายถึงการที่ทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการประกอบการทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในระดับชาติ หรือระดับภายในของกองทัพที่ก่อให้เกิด "กระบวนการสะสมความมั่งคั่งส่วนบุคคล" กับนายทหารบางนาย
และสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ไม่เป็นผลประโยชน์โดยตรงกับสถาบันทหารแต่อย่างใด และที่สำคัญสถาบันกองทัพไม่ได้รับประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว เพราะเป็นการดำเนินการส่วนบุคคล (ที่แม้จะมีสถาบันรองรับอยู่ก็ตาม) อีกทั้งประเด็นเช่นนี้ในบางกรณียังเชื่อมโยงกับการแทรกแซงและอำนาจของทหารในการเมืองอีกด้วย
ในบริบทเดิมนั้น เรื่องของ "เสนาพาณิชย์" มักจะถูกตีกรอบการศึกษาอยู่กับเรื่องของการมีบทบาทของทหารในรัฐวิสาหกิจของประเทศ ซึ่งบทบาทเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งในกรณีของทหารไทยในปัจจุบันด้วย หรือในอีกส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องของการที่ทหารมีบทบาทในบริบททาง "เศรษฐศาสตร์การเมือง" ของประเทศ เช่น การใช้อำนาจเข้าไปมีอิทธิพลในกระบวนการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศ ในรูปแบบของการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ จนอาจนำไปสู่การเกิดเรื่อง "ฉาวโฉ่ด้านอาวุธ" (arms scandals) เช่นที่เกิดในบางประเทศ เป็นต้น
ธุรกิจค่ายทหาร
แต่เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่โคราช บทความนี้จะขอจำกัดประเด็นสำคัญอยู่กับการแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นภายในองค์กรกองทัพ ซึ่งหากสำรวจแล้ว เราจะพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจในกองทัพบก 14 เรื่องหลัก ได้แก่
1) กองการออมทรัพย์ กรมสวัสดิการทหารบก :
กองทัพบกเหมือนกับหลายหน่วยงานที่มีการบังคับให้กำลังพลทั้งหมด (ทุกชั้นยศ) เข้าร่วมในโครงการออมทรัพย์ (อ. ทบ.) เงินที่ถูกหักจากเงินเดือนเพื่อการฝากของกำลังพลทุกเดือนอาจจะถูกอ้างได้ว่านำมาใช้เพื่อเป็นสวัสดิการให้กำลังพลกู้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และรายได้หลักเหล่านี้น่าจะถูกนำฝากไว้กับธนาคารทหารไทย (ในฐานะธนาคารของกองทัพ)
น่าสนใจอย่างมากว่ารายได้ที่เกิดจากเงินฝากเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสวัสดิการของทหารในกองทัพมากน้อยเพียงใด หรือมีการจัดแบ่งผลประโยชน์ให้แก่นายทหารระดับใดบ้าง และกำลังพลในกองทัพได้ผลตอบแทนจากการนี้เพียงใด และกรณีความรุนแรงที่โคราชมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเงินกู้ของ อ. ทบ. ด้วย เนื่องจากเป็นการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านของกำลังพล
2) สถานีโทรทัศน์ของกองทัพบก :
กองทัพบกมีโทรทัศน์ที่อยู่ในความดูแล 2 ช่อง คือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และช่อง 7 ซึ่งสำหรับช่อง 5 นั้น กองทัพบกได้ดำเนินการเอง ในขณะที่ช่อง 7 ได้ให้สัมปทานแก่เอกชนให้เข้ามาดำเนินการ
รายได้จากสถานีโทรทัศน์ทั้ง 2 ช่องน่าจะมีจำนวนมหาศาล ทั้งจากค่าสัมปทาน และค่าโฆษณา ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่ารายได้ที่เกิดขึ้นนั้นถูกจัดสรรให้แก่นายทหารระดับใดบ้าง อีกทั้งรายได้ดังกล่าวมีส่วนในการกลับมาเพื่อใช้ในการพัฒนากองทัพมากน้อยเพียงใด หรือถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสวัสดิการของทหารในกองทัพบกเพียงใด
นอกจากนี้บุคลากรบางส่วนของช่อง 5 ที่เป็นสถานีที่กองทัพบกดำเนินการเอง อยู่ในสถานะ "สวมหมวกสองใบ" คือรับเงินเดือนจากกองทัพบกและรับเงินเดือนของช่อง 5 พร้อมกันไปนั้น ควรจะปรับปรุงอย่างไรหรือไม่ เพราะเป็นการรับเงินเดือน 2 ทาง ทั้งที่เจ้าหน้าที่บางส่วนมีอัตราประจำอยู่กับกองทัพบก
3) สถานีวิทยุของกองทัพบก :
กองทัพบกมีสถานีวิทยุอยู่ในทุกกองทัพภาค และอยู่ภายใต้การควบคุมของแม่ทัพภาค ซึ่งไม่ต่างจากกรณีของสถานีโทรทัศน์ที่มีรายได้มหาศาลจากการประมูลคลื่น และการขายโฆษณา รายได้เหล่านี้ถูกจัดสรรให้นายทหารระดับใดบ้าง หรือรายได้ดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อการพัฒนากองทัพเพียงใด และเช่นเดียวกันบุคลากรที่ทำสถานีวิทยุนั้นสวม "หมวกสองใบ" เช่นเดียวกับในกรณีของสถานีโทรทัศน์หรือไม่
4) สนามม้าของกองทัพบก :
กองทัพบกมีสนามม้าอยู่ใน 2 กองทัพภาค คือ สนามม้าโคราช (กองทัพภาคที่ 2) และสนามม้าเชียงใหม่ (กองทัพภาคที่ 3) คำถามที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างกันคือ รายได้มหาศาลจากการแข่งม้าที่เกิดขึ้นนี้ถูกจัดสรรอย่างไร
5) สนามกอล์ฟของกองทัพบก :
ค่ายหลักของกองทัพบกแทบทุกค่ายมีสนามกอล์ฟอยู่ภายใน ด้านหนึ่งของการมีเช่นนี้เพื่อใช้เป็นประโยชน์แก่การออกกำลังกายและสันทนาการของบรรดานายทหารทั้งหลาย แต่ในอีกด้านหนึ่งเป็นการหารายได้ด้วยการเปิดรับสมาชิกจากพลเรือน ซึ่งค่าสมาชิกในแต่ละค่ายอาจจะมีความแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามรายได้จากสนามกอล์ฟมีมูลค่ามหาศาลเช่นกัน อันนำไปสู่คำถามเดียวกันว่า การจัดสรรผลประโยชน์จากรายได้ชุดนี้มีการแบ่งปันอย่างไร รวมถึงการใช้บุคลากรของกองทัพมาทำหน้าที่บริหารจัดการและให้บริการด้วย
6) สนามมวยของกองทัพบก :
กองทัพบกมีสนามมวยอยู่ 2 แห่งคือ สนามมวยลุมพินีที่กรุงเทพ (ปัจจุบันย้ายจากย่านสวนลุมพินี ติดกับโรงเรียนเตรียมทหารเดิม ไปอยู่ที่ถนนรามอินทรา ใกล้กับสนามกอล์ฟ ทบ. และอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสวัสดิการทหารบก) และสนามมวยเชียงใหม่ (อยู่ในค่ายกาวิละ อยู่ในความรับผิดชอบของ มทบ. 33)
น่าสนใจว่ารายได้จากสนามมวยทั้งสองแห่งเป็นเช่นไร และมีการจัดสรรอย่างไร โดยเฉพาะสนามมวยลุมพินีนั้น เป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบกีฬาชกมวย และทั้งเป็นสนามมวยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทยด้วย
7) ที่ราชพัสดุในความดูแลของกองทัพบก :
ปัจจุบันพบว่าที่ราชพัสดุที่กองทัพบกเข้ามาเป็นผู้ดูแลนั้นมีเป็นจำนวนมาก จึงมีการนำที่ดินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ ได้แก่ "โครงการบ้านธนารักษ์" ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพบกกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ในการจัดสร้างบ้านพักราคาถูกให้แก่กำลังพล และมีระยะเวลาของการอยู่อาศัย 30 ปี และอีกกรณีเป็นการซื้อที่ดินของพลเรือนเพื่อจัดสร้างบ้าน
โครงการเหล่านี้ต้องได้รับการอนุมัติจากมณฑลทหารบกต่างๆ ตามความต้องการของหน่วยทหาร โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นบ้านราคาถูก และกำลังพลสามารถกู้เงินจาก อ. ทบ.ในข้างต้น ซึ่งโครงการในส่วนหลังนี้กลายเป็นโอกาสของการหาประโยชน์ทางธุรกิจของผู้บังคับบัญชาบางนาย เพราะนายทหารชั้นประทวนต้องการหลักประกันด้านความมั่นคงในชีวิตหลังเกษียณที่จะได้มีบ้านอยู่อาศัย จึงอาจต้องยอมรับเงื่อนไขการกู้เพื่อซื้อบ้านในลักษณะเช่นนี้
นอกจากนี้ในอีกมุมหนึ่ง จะยังเห็นได้ว่าปัญหาที่ราชพัสดุในความดูแลของทหารนั้น เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงและหาแนวทางในการแก้ปัญหามาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว เช่น การประชุมในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 เรื่อง "การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุ และการใช้ประโยชน์ที่ดินของกองทัพบก" เป็นต้น
8) สวัสดิการจัดหาอาวุธปืนของกองทัพบก :
หลายหน่วยงานในระบบราชการไทยมีรายได้ด้วยการจัดทำโครงการจัดหาอาวุธปืนในลักษณะของการเป็น "ปืนสวัสดิการ" ซึ่งกองทัพบกก็มีโครงการนี้เช่นกัน โครงการนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามถึงผลประโยชน์และรายได้ที่เกิดขึ้น (ผบ ทบ. ปัจจุบันมีดำริที่จะยกเลิก)
9) สโมสรฟุตบอลของกองทัพบก :
แม้ในด้านหนึ่งของการจัดทำสโมสรฟุตบอลจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการกีฬา แต่ในอีกด้านเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงถึงความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับกีฬา (หรือที่เรียกว่า "กระบวนการธุรกิจการกีฬา" - sport commercialization) อันเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดในหลายองค์กร (ทราบว่า ผบ ทบ. ปัจจุบันมีดำริที่จะยกเลิก)
10) ธุรกิจอาหารในค่ายทหาร :
การจัดหาอาหารให้กับกำลังพลในหน่วย (หรือโรงอาหารทหาร) เป็นอีกประเด็นที่มักจะมีการกล่าวถึงเสมอในชีวิตของทหารในค่าย ทำอย่างไรในอนาคตที่กองทัพบกจะต้องจัดทำระบบของการประกอบเลี้ยงให้กำลังพลในค่ายได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ
11) กองการฌาปนกิจ กรมสวัสดิการ ทหารบก :
ประเด็นเรื่องการณาปนกิจเป็นปัญหาในแทบทุกหน่วยราชการไทย เพราะข้าราชการทุกคนในหน่วยงานต่างๆ ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วม จะต้องส่งเงินในเรื่องนี้ และเป็นความหวังสำหรับครอบครัวในวันสุดท้ายของชีวิตว่า เราจะได้รับการดูแลในเรื่องของการณาปนกิจโดยไม่กลายเป็นภาระของครอบครัวที่ต้องดำเนินชีวิตต่อไป การบริหารจัดการในเรื่องนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มักจะมีข้อครหา หรือข้อร้องเรียนเกิดขึ้นในหน่วยราชการ การจะทำให้กองทัพมีความโปร่งใส (ซึ่งหน่วยราชการพลเรือนก็ไม่แตกต่างกัน) อาจจะทำเรื่องฌาปนกิจ และรวมถึงฌาปนสถานให้มีความชัดเจนในเรื่องของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นด้วย
12) สโมสรกองทัพบก :
นายทหารทุกคนอาจจะต้องส่งค่าบำรุงสโมสรในฐานะสมาชิก และสโมสรนี้ได้ให้สัมปทานแก่เอกชนในการดำเนินการ ซึ่งไม่ชัดเจนว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีเท่าใด และถูกจัดสรรอย่างไร แต่สโมสรนี้ตั้งอยู่ในที่ดินของกองทัพโดยตรง ไม่ต่างกับกรณีของสนามมวย สนามม้า และสนามกอล์ฟ
13) การดำเนินการสร้างถนนของทหาร :
แต่เดิมในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ มีโครงการสร้างถนนเพื่อความมั่นคง แต่เมื่อสงครามสงบ โครงการเช่นนี้ถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นโครงการที่หน่วยทหารช่างเข้ามารับงานจากรัฐบาลในการก่อสร้างและ/หรือซ่อมแซมถนน ซึ่งอาจจะไม่มีการประมูล อันทำให้เกิดข้อครหาจากภาคเอกชนว่า กองทัพบกเข้ามารับงานแข่งกับภาคธุรกิจเอกชน และทั้งยังมีคำถามในเรื่องรายได้ไม่ต่างจากโครงการอื่นในข้างต้น
14) ประเด็นอื่นๆ :
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การนำดินที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารสถานที่ของหน่วยทหารไปขายเป็นรายได้ หรือการจัดสร้างถนนในหน่วยทหารที่อาจจะต้องการการตรวจสอบอย่างเป็นจริงในมาตรฐานทางวิศวกรรม เพื่อทำให้ถนนเหล่านี้มีอายุยาวในการใช้งาน เป็นต้น
อนาคต
ตัวอย่างของ 14 เรื่องที่มีลักษณะเป็น "เสนาพาณิชย์" เช่นนี้ เป็นความท้าทายต่อผู้บัญชาการทหารบกอย่างยิ่ง และบางทีการจัดการทั้ง 14 เรื่องนี้อาจจะยากกว่าการ "ปฏิรูปกองทัพ" ที่มักจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมืองเสียอีก เพราะเรื่องทั้งหมดนี้ดำรงอยู่บนรากฐานของ "วัฒนธรรมองค์กรแบบไทยๆ" ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน อันส่งผลให้การดำเนินลดทอนปัญหาเหล่านี้ อาจจะไม่ประสบความสําเร็จได้ง่ายนัก
แต่อย่างน้อยการทำให้ 14 เรื่องดังกล่าวมีความโปร่งใสจะเป็นหนทางหลักประการหนึ่งในการสร้าง "กองทัพไทยสมัยใหม่" ในปัจจุบัน ย่อมถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และขณะเดียวกันก็จะเป็นการแปร "วิกฤตโคราช" ให้เป็น "โอกาส" ของการสร้างและพัฒนากองทัพบกไทยที่กำลังพลระดับล่างและนายทหารชั้นผู้น้อยจะมีชีวิตที่ดีขึ้น อันเป็นปัจจัยที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาแบบโคราชซ้ำรอยอีกในกองทัพไทย
และทั้งยังจะเป็น "โอกาสทางทหาร" ในการสร้างกองทัพบกให้เป็นองค์กรทางทหารที่มีเกียรติภูมิ และได้รับการยอมรับจากประชาชนในอนาคตอีกด้วย!
----------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุผู้เขียน: บทความนี้แก้ไขเพิ่มเติมจากบทความเดิมที่เผยแพร่ในมติชนออนไลน์ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563
ขอบคุณ : ภาพประกอบบางส่วนจากอินเทอร์เน็ต