ผลพวงจากโศกนาฏกรรมโคราช ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพ และจัดระเบียบผลประโยชน์ต่างๆ ในรั้วสีเขียว
ข้อมูลข่าวสารที่ทะลักทลายตามมา ก็คือการแฉทุจริตในค่ายทหาร และการเอารัดเอาเปรียบกำลังพลชั้นผู้น้อย โดยผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ
เรื่องเปิดโปงยอดฮิตคือ อมเบี้ยเลี้ยงลูกน้อง หลายเรื่องมีแนวโน้มเป็นจริง ต้องตั้งกรรมการสอบกันวุ่นวาย แต่บางข่าวก็เป็นเฟกนิวส์ บางข่าวเป็นเรื่องเก่านำมาเล่าใหม่
"ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบรายได้ของพลทหารทั้งที่ประจำการในหน่วยปกติ และหน่วยที่ปฏิบัติราชการสนาม ท่ามกลางฝุ่นตลบแห่งกระแสโจมตี
"พลทหาร" ซึ่งเป็นกำลังระดับรากหญ้าของกองทัพ จะได้รับค่าตอบแทนรวมๆ แล้ว 9,904 บาทต่อเดือน แยกเป็นเงินเดือน 1,630 บาท, เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว หรือ เงิน พชค. อีกคนละ 5,394 และเบี้ยเลี้ยงวันละ 96 บาท หรือเดือนละ 2,880 บาท
รายได้พลทหาร 9,904 บาทต่อเดือนนี้ เท่ากันหมดตลอดอายุการเป็นพลทหาร 2 ปี คือแม้จะผ่านการฝึกเบื้องต้น 10 สัปดาห์ ได้ขยับเป็น "พลทหารปี 1 ชั้น 16" และเมื่ออยู่ครบปีก็ขยับเป็น "พลทหารปี 2 ชั้น 18" ซึ่งจะมีการปรับเงินเดือนขึ้นอีกก็ตาม แต่เมื่อเงินเดือนถูกปรับขึ้น ก็จะไปลดเงิน พชค.ลง ทำให้ค่าตอบแทนของพลทหารทุกชั้นทุกนายเท่ากันที่ 9,904 บาท แต่ตัวเลขนี้เป็นเงินเดือนพลทหารเฉพาะที่ปฏิบัติงานในหน่วยปกติเท่านั้น
ถ้าเป็นหน่วยออกสนาม หรือปฏิบัติราชการสนาม เช่น ประจำการตามแนวชายแดน หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีเบี้ยเลี้ยงสนามวันละ 104 บาทต่อคน หรือเดือนละ 3,120 บาท ค่าเลี้ยงดูวันละ 6 บาทต่อคน หรือเดือนละ 180 บาท (เป็นส่วนเพิ่มของเบี้ยเลี้ยง) และยังได้เบี้ยเสี่ยงภัยอีกเดือนละ 2,500 บาทด้วย
ทีนี้มาดูรายการที่ถูกหักบ้าง ถ้าเป็นหน่วยปกติจะมี "หักฝาก ทบ.ตามขั้นเงินดือน" ตั้งแต่ 20-105 บาทต่อเดือน และหักประกอบเลี้ยงวันละ 64 บาท รวมหักต่อเดือนราวๆ 1,920 บาท คงเหลือรายรับต่อเดือน 7,984 บาท
ขณะที่หน่วยปฏิบัติราชการสนาม จะมีการหักฝาก ทบ.เช่นกัน 20-105 บาทต่อเดือน และยังมีหักประกอบเลี้ยง ซึ่งแต่ละหน่วยไม่เท่ากัน มีระหว่าง 50 บาทถึง 64 บาทต่อคนต่อวัน
พลทหารจากหน่วยปฏิบัติราชการสนาม เมื่อรวมเงินเดือน เงินพชค. เบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย รวมถึง "เงินเพิ่ม" อีกจำนวนหนึ่ง หักค่าประกอบเลี้ยงและอื่นๆ แล้ว จะมีรายรับอยู่ที่ 13,775-13,860 บาทต่อเดือน
สำหรับเงินหักฝาก ทบ. เมื่อปลดประจำการก็จะได้คืนทุกบาททุกสตางค์ บางคนก็ส่งให้พ่อแม่
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า เงินหักฝาก ทบ. ทางกองทัพจ่ายคืนทั้งหมดเมื่อปลดประจำการ พลทหารหลายคนรู้จักเก็บเงิน วันที่ปลดมีเงินเป็นแสนๆ ก็มี แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว บางคนส่งให้พ่อแม่ ส่งน้องเรียน
ส่วนปัญหาร้องเรียนเรื่องถูกอมเบี้ยเลี้ยง หรือถูกหักหัวคิวจากผู้บังคับบัญชานั้น พ.อ.ปราโมทย์ บอกว่า ตนปฏิบัติราชการสนามที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลา 10 ปี มีเรื่องร้องเรียน 3 ครั้ง แต่เมื่อตรวจสอบ ปรากฏว่าเป็นเรื่องไม่จริงทั้งสิ้น ส่วนมากเป็นการโพสต์ในโซเชียลมีเดียแล้วแชร์กันต่อๆ บางคนก็ทำเพราะอารมณ์ บางคนก็โพสต์เพราะเข้าใจผิด ขณะที่การจ่ายเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงกำลังพล ทางกรมบัญชีกลางร่วมกับกองทัพได้จ่ายเงินตรงเข้าบัญชีเงินเดือนของทหารทุกนายแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย.61 โดยพลทหารสามารถกดเงินไปใช้จ่ายได้โดยใช้เอทีเอ็ม จึงไม่น่าจะมีการหักหัวคิวได้อีก
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า แม้จะมีการโอนเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงพลทหารเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของกำลังพลโดยตรงแล้ว แต่ก็ยังมีข้อมูลยืนยันจากบางหน่วยว่า "จ่ากองร้อย" ยังเป็นคนเก็บบัตรเอทีเอ็มของพลทหารทุกคนเอาไว้ จึงยังมีการหักเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงอยู่เหมือนเดิม
แต่ประเด็นนี้เมื่อสอบถามไปยังทหารที่ทำหน้าที่ "จ่ากองร้อย" กลับได้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า สาเหตุที่ต้องเก็บบัตรเอทีเอ็มเอาไว้ ก็เพื่อป้องกันทหารหลบหนี เพราะถ้ากำลังพลมีเงิน มีบัตรเอทีเอ็มติดตัว บางส่วนก็จะหนีเที่ยว บางส่วนก็จะหนีหายไปเลย ทำให้เกิดปัญหาไร้ระเบียบ และมีกำลังพลหนีทหาร กลายเป็นข้อเท็จจริง 2 ด้านที่ต้องตรวจสอบเป็นรายกรณี
เช่นเดียวกับข่าวหักเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงพลทหาร มีการแฉข้อมูลว่า การหักเงินมีทั้งจำใจและถูกบังคับ โดยใช้ช่องทางที่ทหารเกณฑ์ได้ผลัดพัก กลับบ้าน (ทำงาน 20 วัน หรือ 30 วัน สลับหยุด 10 วัน) หรือขอลานอกเหนือจากวันหยุด บางหน่วยจะยึดเบี้ยเลี้ยงพลทหารที่ลาหยุดเอาไว้ และยังมีช่องทางการ "จำหน่าย" คือไม่ต้องฝึกหนักเหมือนคนอื่น หรือมีแต่ชื่อเป็นทหาร แต่ตัวไม่ได้มาเป็นทหารจริง กลุ่มนี้ทั้งเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงต้องยกให้ทหารในหน่วยที่รู้เห็นเป็นใจ
เงินพวกนี้มีทั้งหายเข้ากระเป๋าผู้บังคับบัญชาทั้งระดับเล็กและระดับใหญ่ แต่บางหน่วยก็นำไปใช้ตั้งเป็นกองทุนดูแลทหารในยามเจ็บป่วย หรือพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกองทัพไม่มีงบอุดหนุนในส่วนนี้ ยกเว้นกรณีเข้าโรงพยาบาล นอกจากนั้นยังมีการนำเงินกองทุนมาใช้เป็นทุนรอนในการเดินทางกลับบ้านสำหรับกำลังพลที่มีภูมิลำเนาอยู่ไกลๆ เข่น ต้องเดินทางจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับเชียงใหม่ อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน
ฉะนั้นเรื่องร้องเรียนประเภทนี้จึงมี 2 ด้านเสมอ ต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบจึงจะสรุปได้ว่าเป็นการอมเงินเพื่อเข้ากระเป๋าใครบางคนจริงหรือไม่