อนุสนธิจากโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ม.ค.63 ระหว่างคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย กับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทำให้หลายฝ่ายมองเห็นแสงสว่างของสันติภาพรำไร หลังจากมีเมฆหมอกแห่งความรุนแรงปกคลุมดินแดนปลายด้ามขวานมาเนิ่นนาน
ยิ่งมีการตอกย้ำจากหัวหน้าคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ว่ากลุ่มคนที่มาร่วมโต๊ะพูดคุยเป็นตัวแทนจากบีอาร์เอ็น "ตัวจริง"
และเป็นบีอาร์เอ็นที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา
ยิ่งตรวจสอบประวัติหัวหน้าคณะพูดคุยฯฝั่งบีอาร์เอ็น นายอนัส อับดุลเราะห์มาน หรือ "อุสตาซหีพนี มะเร๊ะ" ก็พบว่าเคยเป็นครูสอนศาสนา เคยมีหมายจับคดีความมั่นคง และเคยมีรางวัลนำจับสูงถึง 2 ล้านบาท ก็ยิ่งแจ่มชัดว่าเขาคือ "ของจริง"
แม้แต่อดีตข้าราชการระดับสูงที่เคยรับราชการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งวันนี้ผันตัวไปเล่นการเมืองและอยู่ซีกตรงข้ามรัฐบาลปัจจุบัน ก็ยังยืนยันว่าเป็น "ตัวจริง" ทำให้กองเชียร์พากันหมดข้อสงสัย และเฝ้าจับตารอความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยฯ ที่จะเริ่มพบปะกันจริงจังต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.เป็นต้นไป
ทว่ากระแสวิจารณ์ในพื้นที่ โดยเฉพาะจาก "องค์กรเสียงดัง" ซึ่งหมายถึงภาคประชาสังคม หรือนักเคลื่อนไหวที่มีพื้นที่ในสื่อทั้งกระแสหลักและกระแสรอง กลับมองตรงกันข้าม ซ้ำยังตั้งคำถามเชิงไม่ไว้วางใจ เกรงว่าบีอาร์เอ็นจะ "กินรวบ" โต๊ะพูดคุยไว้เพียงกลุ่มเดียว และอาจลดระดับข้อเรียกร้องลง ไม่มุ่ง "เอกราช" อีกต่อไป จนทำให้เกิดการเรียกร้องให้บีอาร์เอ็นออกมาเคลียร์ข้อสงสัยให้ชัด รับฟังเสียงจากทุกภาคส่วน รวมทั้งแชร์พื้นที่โต๊ะพูดคุยให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ด้วย
จากกระแสสวนทางที่ออกมา ทำให้บางฝ่ายเพ่งมองย้อนกลับไป และตั้งคำถามว่า...หรือคณะตัวแทนบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะ "อุสตาซหีพนี" จะไม่ใช่ตัวจริง หรืออาจเป็นตัวจริงในระดับที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างสูงสุดจากภาคส่วนต่างๆ ที่ต่อสู้กับรัฐไทยทั้งในทางอาวุธ และทางความคิด
"ทีมข่าวอิศรา" นัดพบปะพูดกับกับอดีตแกนนำบีอาร์เอ็นรายหนึ่งที่เคยเคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา แม้ปัจจุบันได้หันหลังให้ขบวนการแล้ว แต่ยังรับรู้รับทราบความเป็นไปภายในองค์กรอยู่ตลอด เพื่อไขข้อข้องใจว่า ตกลงแล้ว "อุสตาซหีพนี" คือใครกันแน่ และอยู่ตรงไหนของขบวนการ เพราะข้อมูลที่ออกมาก่อนหน้านี้แทบทั้งหมด มาจากฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลไทย (อ่านประกอบ : เปิดตัว "อุสตาซหีพนี" หัวหน้าคณะพูดคุยฯฝ่ายบีอาร์เอ็น)
อดีตแกนนำบีอาร์เอ็นรายนี้ บอกว่า กลุ่มที่เปิดตัวออกมาพูดคุยกับรัฐบาลไทยล่าสุด ยืนยันว่าใช่ของจริง แต่จะเป็นของจริงระดับไหน ขอให้ทุกฝ่ายกรองข้อมูลให้รอบด้าน
"หากเป็นไปตามภาพที่รัฐบาลโฆษณา เปรียบเหมือนโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า เพราะในจำนวน 7 คนที่เปิดตัวพูดคุยกับรัฐบาลไทย ทั้งอุสตาซหีพนี และ นายเจ๊ะมูดอ เจ๊ะเต๊ะ ในอดีตเคยมีบทบาทในขบวนการ คือทำหน้าที่นำพาบุคคลที่เจ้าหน้าที่รัฐกำลังติดตามตัว หรือบุคคลที่หลบหนีเจ้าหน้าที่อยู่ เพื่อส่งไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยเท่านั้น โดยอุสตาซหีพนี และนายเจ๊ะมูดอ เคยร่วมงานกันในเรื่องนี้ ในขบวนการเรียกกันว่า 'ม้าพาวิ่ง' อย่างอุสตาซหีพนีก็เคยพาผมหนีจากพื้นที่หนึ่งใน อ.รามัน เราจะไปไหนเขาก็จะพาไปส่ง เพราะเขตพื้นที่รามันเป็นเขตที่เขารับผิดชอบ จากนั้นคนอื่นจะมารับต่อ แล้วพาไปส่งพื้นที่ต่อไป" อดีตแกนนำบีอาร์เอ็น เล่าย้อนความหลัง
เขายังบอกอีกว่า อุสตาซหีพนีเป็นรุ่นน้องตนหลายปีมาก ส่วนเจ๊ะมูดอ ก็ทำหน้าที่เป็นฝ่ายประสานงานระหว่างพื้นที่
"สองคนนี้เขาของจริง เคยอยู่ในบีอาร์เอ็นจริง แต่หลังจากที่เขาถอยไปมาเลเซียแล้ว คนอื่นก็มาทำหน้าที่แทน ยืนยันว่าอุสตาซหีพนีไม่ใช่เบอร์ 2 ของบีอาร์เอ็น เพราะขนาด อุสตาซเลาะ หรือ ดูนเลาะ แวมะนอ (ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเป็นผู้นำสูงสุดของบีอาร์เอ็นฉ) ก็ยังไม่ใช่เบอร์ 1 ดังนั้นตัวอุสตาซหีพนี จึงยังอีกยาวไกลที่จะเข้าถึงจุดศูนย์กลาง หรือจุดสูงสุดของบีอาร์เอ็นจริงๆ"
อดีตแกนนำบีอาร์เอ็น ตั้งข้อสังเกตว่า อุสตาซหีพนีไม่ใช่คนหน้าใหม่สำหรับรัฐบาลไทย แต่เคยร่วมพูดคุยกับคนของรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง คำถามก็คือ อุสตาซหีพนี ยังเป็นตัวแทนที่มีสถานะ "พูดแทนบีอาร์เอ็น" ได้อยู่หรือไม่
"รัฐเข้าหาเขามาตลอด วงพูดคุยที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มของอุสตาซหีพนีที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ไม่ใช่ครั้งที่ 2 หรือ 3 แน่นอน แต่น่าจะคุยกันมานานแล้ว และการที่รัฐไทยต้องสานต่อเรื่องโต๊ะพูดคุยฯให้เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องนำตัวละครใหม่ๆ ออกมาแสดง ฉะนั้นการที่รัฐบอกว่ากลุ่มของอุสตาซหีพนีเป็นของจริง และเป็นเบอร์ 2 นั้น ถือว่าเกินจริงไปมาก เป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ และถ้ากลุ่มของอุสตาซหีพนีอ้างว่าพวกเขาคือตัวจริงของบีอาร์เอ็น เขาจะต้องพบกับความอับอาย เพราะความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย"
"อยากให้เข้าใจให้ตรงกันว่า คนของบีอาร์เอ็นที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว สิ่งที่เขาพูดหลังจากนั้นจะไม่ใช่มาจากความรู้สึกของบีอาร์เอ็นอีกแล้ว เพราะหลายครั้งคนเหล่านี้ต้องพูดตามใบสั่ง บางครั้งมาจากรัฐ และบางครั้งก็มาจากบีอาร์เอ็นบางปีก เพื่อให้ภาพออกมาตามความประสงค์ของรัฐบาลไทย และเป็นการดิสเครดิตบีอาร์เอ็นที่เคลื่อนไหวต่อสู้ในพื้นที่ไปในตัว"
เขาบอกด้วยว่า ตอนนี้บีอาร์เอ็นในพื้นที่กำลังรอดูท่าทีของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงไทยว่าจะเอาอย่างไรต่อไปกับเรื่องนี้ เพราะเป้าหมายสุดท้ายของบีอาร์เอ็นคือ "เมอร์เดกอ" (หรือเมอร์เดก้า หมายถึงเอกราช) ยังไม่เปลี่ยนแปลง จากเดิมเราต้องการแค่ 7 ข้อที่หะยีสุหลงเรียกร้อง แต่พอรัฐไม่ให้ กลุ่มติดอาวุธก็ถืออาวุธ แล้วจึงเพิ่มข้อเรียกร้องอีกข้อ คือเมอร์เดกอ
อนุสนธิจากโต๊ะพูดคุยฯ 20 ม.ค.63 อาจจะไม่ส่งผลต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีนัยสำคัญมากพอ หากข้อมูลของแกนนำบีอาร์เอ็นรายนี้เป็นความจริง!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศบนโต๊ะพูดคุย กับหน้าตาของอุสตาซหีพนี มะเร็ะ อดีตและปัจจุบัน
อ่านประกอบ :
"พล.อ.วัลลภ" นำทีมเปิดโต๊ะพุดคุยตัวแทนบีอาร์เอ็นที่มาเลย์