พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากพบปะกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น เพื่อร่วมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ม.ค.63 ที่ผ่านมา
การพบปะกับตัวแทนบีอาร์เอ็น ซึ่งทางการไทยเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบ 16 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง "หมุดหมาย" สำคัญของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน
แต่จะว่าไปครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลไทยได้มีโอกาสเปิดโต๊ะพูดคุยกับผู้แทนบีอาร์เอ็นอย่างเป็นทางการ ทว่าวงพูดคุยเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 55 แต่ก็ต้องยุติไปในระยะเวลาไม่นาน
คำถามสำคัญก็คือ การพูดคุยฯหนนี้ มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่ข้อตกลงสันติภาพ สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นจริงได้แค่ไหน และเงื่อนไขอะไรบ้างที่รัฐบาลไทยยอมรับได้...
O บรรยากาศการพบปะกับผู้แทนกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นอย่างไรบ้าง?
ทั้งสองฝ่ายมีเจตจำนงร่วมกันเพื่อต้องการแก้ปัญหาให้เกิดสันติสุข โดยใช้สันติวิธี จึงได้ออกแบบกระบวนการพูดคุย จนนำมาสู่การยอมรับร่วมกัน และใช้กระบวนการนี้เดินหน้าต่อไป
ผลการพูดคุยครั้งแรกก็เป็นการรับทราบแนวทางการทำงานร่วมกัน รวมถึงได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเดินหน้ากระบวนการพูดคุยในครั้งต่อไป บรรยากาศในการพูดคุยนัดแรกเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มีท่าทีที่ดีต่อกันทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งคณะพูดคุยทราบดีว่าการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืน ต้องเดินหน้าพูดคุยกับผู้ที่เห็นต่าง โดยการรับฟังความเห็นและร่วมกันทำงานของทุกภาคส่วน
คณะพูดคุยฯจะใช้ความพยายามผลักดันให้เกิดกระบวนการสันติสุข นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ยืนยันว่าการพูดคุยครั้งนี้จะใช้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิดและกระบวนการที่จะเป็นข้อตกลงร่วมกัน แต่การพูดคุยต้องมีอุปสรรคระหว่างทางอย่างที่เคยผ่านมา แต่เราก็อยากให้กระบวนการพูดคุยครั้งนี้มีความต่อเนื่อง ซึ่งสื่อเองก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญเพื่อให้กระบวนการนี้ไม่สะดุดหยุดลง
O หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ของบีอาร์เอ็นเป็นตัวจริงหรือไม่?
ในการประชุมพบปะ มีการแนะนำตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ว่าเป็นแกนนำของกลุ่มบีอาร์เอ็น และทางประเทศมาเลเซีย (ผู้อำนวยความสะดวก) ก็ยืนยัน ทำให้เรามั่นใจว่าเป็นตัวจริง
O เป้าหมายหลังจากนี้?
เราอยากให้ผู้เห็นต่างทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุย ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มบีอาร์เอ็นเท่านั้น และในวันข้างหน้ามีความเป็นไปได้ที่จะมีกลุ่มอื่นเข้ามามีส่วนร่วม แต่ก็ต้องรอความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย
O การพูดคุยเมื่อวันที่ 20 ม.ค. มีกลุ่มมารา ปาตานี (เคยพูดคุยกับรัฐบาลไทยตั้งแต่ปี 58) เข้าร่วมด้วยหรือไม่?
ในครั้งแรกนี้ยังไม่มีกลุ่มมารา ปาตานี แต่ก็เชื่อว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นน่าจะมีการไปพูดคุยกับกลุ่มอื่นในพื้นที่ด้วย เพื่อให้เข้ามาร่วมพูดคุย ซึ่งก็เป็นเรื่องภายในของเขา
O การพูดคุยฯครั้งนี้ถือเป็นการนับหนึ่งใหม่หรือไม่?
ไม่ใช่การนับหนึ่งใหม่ เพราะการพูดคุยครั้งแรกก็พูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น มารา ปาตานี และกลับมาเป็นบีอาร์เอ็นอีกครั้ง ส่วนแนวทางการปฏิบัติ ก็จะเป็นไปตามสถานการณ์
การพูดคุยครั้งนี้ไม่ได้เปลี่ยนคณะพูดคุยฯเฉพาะฝ่ายไทย แต่ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นก็เปลี่ยนด้วย
O แนวทางการพูดคุยครั้งต่อไป?
ในครั้งแรกมีการกำหนดกรอบของกระบวนการที่จะนำไปสู่การพูดคุยต่อไปในอนาคต แต่ยังไม่ได้มีข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องเข้ามา เนื่องจากเป็นการพบกันครั้งแรก จึงเป็นเพียงการสร้างความคุ้นเคยเท่านั้น ขณะที่การส่งตัวแทนเข้ามาพูดคุยกับรัฐบาลไทยนั้น ไม่ใช่ฝั่งมาเลเซียเป็นผู้กำหนดอย่างเดียว แต่ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของประเทศไทยด้วย
O สาเหตุที่ต้องเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น?
เนื่องจากเราต้องการพูดคุยกับกลุ่มที่มีอิทธิพลในพื้นที่มากที่สุด ซึ่งการพูดคุยครั้งนี้ไม่ได้เป็นการสแกนผู้ที่เข้ามาร่วมพูดคุย เราเชื่อว่าคนที่เป็นแกนนำของกลุ่มบีอาร์เอ็นก่อนหน้านี้ก็ยังคงอยู่ในกลุ่ม แต่อาจจะแยกหน้าที่กันทำใหม่ ส่วนกลุ่มที่เข้ามาพูดคุยก็เป็นกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาท
ส่วนความเชื่อมโยงของการทำงานในพื้นที่ ได้มอบหมายให้กองทัพภาค 4 รวบรวมข้อมูลให้กับคณะพูดคุยฯนำไปวิเคราะห์ และต้องมีวามเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม เพื่อนำมาสู่การตกผลึกข้อมูล
O ทราบว่ามีการดึงผู้สังเกตการณ์จากภายนอก หรือ observer เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ด้วย เป็นข้อเสนอของบีอาร์เอ็นหรือไม่?
ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาในนามบุคคล ไม่ได้เข้ามาในนามขององค์กร บุคคลที่มาร่วมสังเกตการณ์ก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของกระบวนการสันติภาพ การเข้ามามีบทบาททำให้เกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจในการพูดคุย และทำให้กระบวนการเป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย ส่วน observer จะเป็นใครไม่ขอเปิดเผย
O ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ที่เคยยื่นเอาไว้ในการพูดคุยเพื่อสันติภาพฯ เมื่อปี 55-56 จะถูกนำกลับมาเข้ามาเสนอใหม่หรือไม่?
ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนการเสนอข้อตกลงระหว่างกัน เป็นเพียงการพบปะกันครั้งแรก และการสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเดินหน้าต่อไป ฉะนั้นเรื่องข้อเรียกร้องต้องติดตามกันต่อไป
สำหรับการพูดคุยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือน มี.ค. หลักการจะเป็นแบบเดิมหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการยอมรับของทั้งสองฝ่ายที่ต้องมีความเห็นร่วมกัน
O ที่ผ่านมา ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เสนอให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น "เขตปกครองพิเศษ" คณะพูดคุยฯมองอย่างไร?
ผมก็พร้อมเปิดใจรับทุกความคิดเห็น แต่รายละเอียดต้องพิจารณาและติดตามกันต่อไป
----------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
"พล.อ.วัลลภ" นำทีมเปิดโต๊ะพุดคุยตัวแทนบีอาร์เอ็นที่มาเลย์
คณะพูดคุยฯ ออกแถลงการณ์ร่วมถก "บีอาร์เอ็น"
เปิดเส้นทางโต๊ะพูดคุยสันติสุขรอบใหม่ ใครเป็นใครในคณะ BRN