วิกฤตการณ์ไฟใต้เดินทางมาครบ 16 ปีเต็มในวันนี้ (4 ม.ค.63) ซึ่งถือเป็นหมุดหมายของประวัติศาสตร์ไฟใต้รอบปัจจุบัน
เพราะวันที่ 4 มกราคม 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬาร จำนวน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ "ค่ายปิเหล็ง" อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส นับจากนั้นก็มีการก่อเหตุรุนแรงรายวันรูปแบบต่างๆ ในลักษณะอาชญากรรมความไม่สงบ ทั้งยิง ทั้งเผา ทั้งระเบิด ทั้งก่อกวน ผสมโรงกับความรุนแรงอื่นๆ ที่เกิดอยู่แล้วในพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์และปัญหาการเมืองท้องถิ่นเป็นพื้นฐานความรุนแรงอยู่ก่อนแล้ว
#ป่วนใต้ทะลุ 1 หมื่นเหตุการณ์!
16 ปีไฟใต้ เกิดเหตุความไม่สงบมาแล้วทั้งสิ้น 10,119 เหตุการณ์ (ถือว่าทะลุ 10,000 เหตุการณ์ จากปีที่แล้วอยู่ที่ 9,985 เหตุการณ์) มีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิต 4,083 ราย บาดเจ็บ 10,818 ราย ที่น่าตกใจคือกว่าครึ่งของทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์
ตัวเลขทั้งหมดนี้เก็บรวบรวมโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยได้แยกแยะและคัดกรองเหตุรุนแรงที่มีมูลเหตุจูงใจอย่างอื่น หรือที่เรียกว่า "อาชญากรรมทั่วไป" ออกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นขัดแย้งผลประโยชน์ การเมืองท้องถิ่น ขัดแย้งส่วนตัว หรือแม้กระทั่งชู้สาว ฉะนั้นตัวเลขนี้จึงเป็น "เหตุการณ์ความไม่สงบ" ที่ลงมือโดยกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงล้วนๆ
#"บึ้ม-ยิง-เผา"เกิดชุก ฆ่าทารุณร่วมร้อย!
หากแยกแยะรูปแบบของเหตุการณ์ความรุนแรง จะพบตัวเลขที่น่าสนใจ ได้แก่
โจมตีที่ตั้ง - 44 เหตุการณ์
ซุ่มโจมตี - 194 เหตุการณ์
ยิง - 4,368 เหตุการณ์
ระเบิด - 3,580 เหตุการณ์
วางเพลิง - 1,516 เหตุการณ์ (เผาโรงเรียน 315 เหตุการณ์ เผาส่วนราชการ 125 เหตุการณ์)
ฆ่าด้วยวิธีทารุณ - 92 เหตุการณ์ (ฆ่าตัดคอ 38 เหตุการณ์ ฆ่าแล้วเผา 38 เหตุการณ์ ฆ่าตัดคอแล้วเผา 3 เหตุการณ์)
ประสงค์ต่ออาวุธ - 177 เหตุการณ์
ชุมนุมประท้วง - 65 เหตุการณ์
ทำร้าย - 49 เหตุการณ์
อื่นๆ - 34 เหตุการณ์
รวมทั้งหมด 10,119 เหตุการณ์ จากเหตุรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้น 15,832 เหตุการณ์ (รวมอาชญากรรมทั่วไป)
#ก่อกวน-ถอดน็อตรางรถไฟ-ยิงปะทะ เพียบ!
สถิติเหตุรุนแรงทั้งหมดนี้ ไม่นับรวมเหตุก่อกวนอีก 3,593 เหตุการณ์ ได้แก่
- ยิงรบกวน 369 เหตุการณ์
- ขว้างระเบิดเพลิง - 81 เหตุการณ์
- เผายางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ - 460 เหตุการณ์
- โปรยตะปูเรือใบ 230 - เหตุการณ์
- ตัดต้นไม้ - 143 เหตุการณ์
- ถอดน็อตรางรถไฟหรือเสาไฟฟ้า - 45 เหตุการณ์
- วางวัตถุต้องสงสัย - 433 เหตุการณ์
- อื่นๆ - 1,832 เหตุการณ์
นอกจากนั้นยังมีเหตุปะทะอีก 321 ครั้ง
#ยอดตายพุ่ง 4 พัน - เด็กกำพร้าร่วมหมื่น!
หันไปดูตัวเลขความสูญเสียกันบ้าง ตลอด 16 ปีไฟใต้มีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบไปแล้ว 4,083 ราย บาดเจ็บ 10,818 ราย แยกเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้ดังนี้
- ตำรวจ เสียชีวิต 397 นาย บาดเจ็บ 1,635 นาย
- ทหาร เสียชีวิต 587 นาย บาดเจ็บ 2,786 นาย
- ครู เสียชีวิต 109 ราย บาดเจ็บ 130 ราย
- เจ้าหน้าที่รถไฟ เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 42 ราย
- ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 245 ราย บาดเจ็บ 171 ราย
- ผู้นำศาสนา เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บ 27 ราย
- ประชาชน เสียชีวิต 2,655 ราย บาดเจ็บ 6,020 ราย
- คนร้าย (หมายถึงผู้ก่อความไม่สงบ) เสียชีวิต 62 ราย บาดเจ็บ 7 ราย
ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นกว่าช่วง 15 ปีไฟใต้ 72 ราย โดยเมื่อ 4 ม.ค.ปีที่แล้ว ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 4,011 ราย ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้น 167 ราย จากยอดปีที่แล้วที่ผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่ 10,651 ราย
ข้อมูลที่น่าตกใจอีกด้านหนึ่งก็คือ ผลกระทบจากความรุนแรงที่ทำให้มี "เด็กกำพร้า" มากมายในพื้นที่ โดยหากนับเฉพาะเด็กที่สูญเสียพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่จากสถานการณ์ความไม่สงบ และในวันเกิดเหตุอายุไม่เกิน 25 ปี พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 7,297 คน แยกเป็น จังหวัดปัตตานี 2,657 คน ยะลา 1,914 คน นราธิวาส 2,513 คน และสงขลา 213 คน
#ปัตตานีหนักสุด ทั้งเหตุรุนแรง-ความสูญเสีย!
หากพิจารณาแยกพื้นที่เป็นรายจังหวัด จะพบว่า จังหวัดปัตตานีมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นมากที่สุด 3,714 เหตุการณ์ รองลงมาคือนราธิวาส 3,484 เหตุการณ์ และยะลา 2,610 เหตุการณ์
ส่วน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคงเช่นกัน มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 311 เหตุการณ์
เป็นที่น่าสังเกตว่า จังหวัดปัตตานีแบ่งพื้นที่การปกครองเป็น 12 อำเภอ น้อยกว่านราธิวาสที่มี 13 อำเภอ แต่เหตุรุนแรงกลับเกิดขึ้นเยอะกว่า
ทิศทางนี้เป็นเช่นเดียวกับสถิติความสูญเสีย โดยจังหวัดปัตตานี มียอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบสูงที่สุด คือ 1,702 ราย บาดเจ็บ 3,247 ราย
นราธิวาส เสียชีวิต 1,203 ราย บาดเจ็บ 3,815 ราย ยะลา เสียชีวิต 1,055 ราย บาดเจ็บ 3,161 ราย และ 4 อำเภอของสงขลา มีผู้เสียชีวิต 123 ราย บาดเจ็บ 595 ราย
#ละลายงบ 3 แสนล้าน - กังขา"แผนบูรณาการ"
ตลอด 16 ปีไฟใต้ 17 ปีงบประมาณ ใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท โดยตัวเลขงบประมาณปีล่าสุด คือปี 2563 ที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เฉพาะงบแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งไว้ที่ 10,865.5 ล้านบาท รวมตัวเลขทั้งสิ้น 313,792.4 ล้านบาท
ไล่ดูงบดับไฟใต้แต่ละปีงบประมาณ สรุปได้ดังนี้
ปี 2547 - 13,450 ล้านบาท
ปี 2548 - 13,674 ล้านบาท
ปี 2549 - 14,207 ล้านบาท
ปี 2550 - 17,526 ล้านบาท
ปี 2551 - 22,988 ล้านบาท
ปี 2552 - 27,547 ล้านบาท
ปี 2553 - 16,507 ล้านบาท
ปี 2554 - 19,102 ล้านบาท
ปี 2555 - 16,277 ล้านบาท
ปี 2556 - 21,124 ล้านบาท
ปี 2557 - 25,921 ล้านบาท
ปี 2558 - 25,744.3 ล้านบาท
ปี 2559 - 30,886.6 ล้านบาท
ปี 2560 - 12,692 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ปี 2561 - 13,255.7 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ปี 2562 - 12,025.3 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
ปี 2563 - 10,865.5 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)
รวมทั้งสิ้น 313,792.4 ล้านบาท
เป็นที่น่าสังเกตว่า งบดับไฟใต้ในยุคที่ คสช. หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้ามาเป็นรัฐบาล และจัดทำงบเอง มีทิศทางลดน้อยลงอย่างมาก คือลดลงกว่ายอดเฉลี่ยปีก่อนๆ ที่เคยตั้งไว้ถึงกว่า 50% ทำให้เกิดคำถามว่ามีการ "ซุกงบ" หรือไม่ ด้วยเหตุผลที่ว่าทำให้ตัวเลขดูดี และกองทัพไม่ตกเป็นเป้าวิจารณ์มากนัก เนื่องจากกองทัพคือหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ผ่านองค์กร กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
ในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 คือปีล่าสุด ในวาระแรก เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคน โดยเฉพาะ ส.ส.จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ลุกขึ้นอภิปรายในประเด็นนี้ โดยกล่าวหาว่ายังมีงบประมาณนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกถึงกว่า 30,000 ล้านบาทที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ และไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ฉะนั้นตัวเลขงบประมาณที่ใช้จริงในภารกิจดับไฟใต้ต่อปี น่าจะสูงถึงราวๆ 30,000 - 40,000 ล้านบาท
แต่ประเด็นนี้ฝ่ายความมั่นคงอธิบายว่า การจัดทำงบประมาณดับไฟใต้เป็น "แผนงานบูรณาการ" นั้น ดำเนินการมานานหลายปีแล้ว แต่สาเหตุที่ยุคก่อน คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครองมีการตั้งงบเอาไว้สูง ก็เพราะส่วนราชการต่างๆ มักเสนอโครงการที่ต้องการรับการสนับสนุนงบประมาณเข้ามาในแผนบูรณาการดับไฟใต้ เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาอนุมัติ เนื่องจากเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ทุกฝ่ายอยากให้การแก้ไขปัญหาลุล่วงไปโดยเร็ว จึงไม่มีการตรวจสอบเข้มงวดมากนัก ทั้งๆ ที่งบบางรายการไม่ได้เกี่ยวข้องกับภารกิจดับไฟใต้โดยตรง เช่น การจัดซื้ออาวุธปืนของหน่วยราชการบางหน่วยที่ใช้ทั้งในภารกิจปกติ และอ้างว่าใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย อย่างนี้เป็นต้น
ต่อมาเมื่อคสช.เข้ามาจัดทำงบประมาณ และมองเห็นปัญหา จึงมีการคัดกรองงบประมาณโครงการที่จะเข้าสู่แผนบูรณาการดับไฟใต้ โดยจะต้องมีการกลั่นกรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย และมีตัวชี้วัดชัดเจน ตลอดจนมีการติดตามตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และองค์กรอิสระอื่นๆ ทำให้มีการกรองโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจำนวนมาก กระทั่งเหลืองบที่เสนอและมีตัวชี้วัดจริงๆ ราวๆ 10,000 - 13,000 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนงบปกติของส่วนราชการต่างๆ ที่ต้องมีโครงการพัฒนาตามแผนงานปกติเหมือนพื้นที่อื่นๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบโดยตรง ก็ต้องแยกไปตั้งงบของหน่วยงานตัวเอง เช่นเดียวกับตัวเลขงบประมาณนอกแผนบูรณาการที่ ส.ส.ฝ่ายค้านอ้างถึง ซึ่งก็เป็นงบที่ตั้งไว้ของแต่ละหน่วยงานอยู่แล้วเป็นประจำทุกปี เช่น งบสร้างอาคาร งบสร้างทาง เป็นต้น เหล่านี้ไม่นับรวมอยู่ในแผนบูรณาการ
ไม่ว่าคำชี้แจงจากรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงจะฟังขึ้นหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ปัญหาไฟใต้ในยุคนี้ถูกตรวจสอบในสภามากขึ้น โดยเฉพาะจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่มีจำนวนที่นั่งเกินครึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้นโอกาสที่รัฐบาลจะต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นย่อมมีสูง โดยเฉพาะเมื่อภารกิจดับไฟใต้อยู่ในกำมือของกองทัพ...
และเป็นกองทัพที่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.โดยตำแหน่ง และมีผู้บังคับบัญชาเป็นอดีตผู้นำกองทัพ ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
งบดับไฟใต้ปี60 ลดฮวบเหลือ1.2หมื่นล้าน จัดหมวดหมู่ใหม่หรือจงใจซุก?
งบไฟใต้-ความมั่นคงพุ่งยุค คสช.
3 ปีงบเฉียดแสนล้าน! ไฟใต้ลวกมือ คสช.
เปิดงบปี 61 กลาโหมอู้ฟู่! ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ 1.3 หมื่นล้าน
เปิดงบปี 61 บูรณาการดับไฟใต้ 1.3 หมื่นล้าน! "อักษรา" ปัดคุยพวกใช้ความรุนแรงต่อรอง
12 ปีไฟใต้ละลายงบจ่อ3แสนล้าน สถิติรุนแรง-หมู่บ้านสีแดงลด ปืนถูกปล้นเพิ่ม!
13ปีไฟใต้..สถิติรุนแรงลด งบจ่อ3แสนล้าน ตั้ง"องค์กรพิเศษ"เพิ่ม
14 ปีไฟใต้ละลายงบ 3 แสนล้าน กองทัพเชื่อมั่นปีหน้าปิดเกม!
15 ปีไฟใต้...งบละลาย 3 แสนล้าน ตาย 4 พัน เจ็บกว่าหมื่น!
ผ่างบปี 62 ดับไฟใต้ 1.2 หมื่นล้าน ยอดรวมตั้งแต่ปี 47 ทะลุ 3 แสนล้าน!
แง้มงบปี 63 กลาโหมท็อบโฟร์ - ดับไฟใต้หมื่นล้าน 'มั่นคง-พัฒนา' ครึ่งๆ
ผ่าไส้ในงบดับไฟใต้หมื่นล้าน ชูแผนงานพัฒนา 'ตำบลมั่งคั่ง ยั่งยืน'
กำลังพลตรึง 1 ต่อ 10 ยังไม่สงบ? ไฟใต้จ่อ 15 ปีสูญงบ 3 แสนล้าน
เด็กกำพร้าชายแดนใต้...กับการดูแลด้วยใจของมูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าปัญญาเลิศ