ใกล้สิ้นปี 62 ก็เข้าใกล้วาระ 16 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ม.ค.47 และถือเป็นปฐมบทของไฟใต้รอบปัจจุบัน
สถานการณ์ไฟใต้ในสายตาของหลายคนที่ติดตามสถานการณ์ ต้องบอกว่าหยุดนิ่งมานานหลายปี แม้จะมีความพยายามเปิดโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขแบบเปิดเผยกับกลุ่มเห็นต่างจากรัฐมาแล้วถึง 3 รัฐบาล แต่ก็ยังไม่เข้าใกล้ความสำเร็จ
ที่น่าตกใจก็คือกระบวนการพูดคุยแทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ ส่วนขบวนการที่ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ แม้จะก่อเหตุได้ในความถี่ที่น้อยลง แต่รูปแบบของการสร้างสถานการณ์กลับยิ่งอุกอาจ โหดร้าย
ยกตัวอย่างในรอบปี 62 มีเหตุรุนแรงที่น่าตกใจหลายเหตุการณ์ ทั้งฆ่าหมู่พระในวัด ฆ่าหมู่คาป้อม ชรบ.ถึง 15 ศพ หรือแม้กระทั่งปล้นร้านทอง กวาดทองมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาทหนีลอยนวล ฯลฯ
ทั้งหมดทำให้เกิดคำถามว่า แล้วปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง มีจุดเปลี่ยนอะไรของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานถึง 16 ปีบ้าง
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และอดีตเลขาธิการ ศอ.บต.คนดัง เขียนบทความทำนายอนาคตไฟใต้ในปี 63 โดยให้น้ำหนักไปที่นโยบายของฝ่ายการเมืองเป็นหลัก
เพราะวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาไฟใต้ได้ถูกยกเข้าไปในเวทีรัฐสภามากขึ้น โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสภาเลือกตั้ง และมี ส.ส.จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 11 คน ในจำนวนนี้เป็น ส.ส.ฝ่ายค้านเกินครึ่ง คือ 6 คน สังกัดพรรคประชาชาติทั้งหมด
แต่การทำหน้าที่ในฐานะ "ฝ่ายนิติบัญญัติ" ในหลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ กลับไม่มีแยกว่าเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เพราะ ส.ส.ทุกคนนำเสนอปั้ญหาอย่างมีเอกภาพ
ไม่ว่าจะเป็นการหารือต่อที่ประชุมที่เป็นการสะท้อนปัญหาชาวบ้านจากพื้นที่เลือกตั้งของ ส.ส., การยื่นกระทู้ถาม, การยื่นญัตติ และการอภิปรายงบประมาณ ปรากฏว่ามีการสะท้อนปัญหาไฟใต้ในมิติต่างๆ จาก ส.ส.ทุกพรรค ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน คือ ทั้งประชาชาติ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย หรือแม้แต่ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลเอง
ปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยๆ ในช่วงการประชุมสภา คือปัญหาความรุนแรงที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ โดยเฉพาะที่สงสัยว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ, ปัญหาการลิดรอนเสรีภาพ อย่างเช่นปัญหาการลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ, ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมไปถึงปัญหาการจัดงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณที่ให้น้ำหนักกับภารกิจความมั่นคงมากเกินไป
บทบาทของ ส.ส.ชายแดนใต้ในสภา ซึ่งถือว่ามีมากที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ กล่าวกันว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการประสานงานและประสานข้อมูล คือ "มือประสานสิบทิศ" นามว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นี่เอง
ฉะนั้นข้อเขียนที่สะท้อนความคิดของ พ.ต.อ.ทวี จึงนับว่าน่าสนใจ และหลายคนต้องเงี่ยหูฟัง
พ.ต.อ.ทวี จั่วหัวบทความว่า "การแก้ปัญหา จชต.ของ พล.อ.ประยุทธ์ฯ ที่มองไม่เห็นอนาคตของสันติภาพและสันติสุข!!!"
ก่อนจะขยายความว่า แท้ที่จริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้แค่รับผิดชอบปัญหาไฟใต้ในช่วงที่เป็นนายกฯปีนี้เท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญกับปัญหามาตั้งแต่ปี 50 (12 ปีก่อน) ช่วงที่เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ต่อด้วยแม่ทัพ ผบ.ทบ. หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี จัดว่าเป็นนายทหารที่มีบทบาทในสถานการณ์ไฟใต้มากที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้
"นโยบายและการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหา จชต. (จังหวัดชายแดนภาคใต้) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 12 ปี นับแต่ดำรงตำแหน่งเป็นรอง ผบ.ทบ ที่รับผิดชอบแก้ปัญหา จชต. เมื่อปี 2550-2553 เป็น ผบ.ทบ.ในปี 2553-2557 เป็น หน.คสช และนายกรัฐมนตรี ปี 2557-2562 จนถึงปัจจุบันที่ พล.อ.ประยุทธ์ รับผิดชอบโดยตรงอย่างมีเอกภาพทางกฎหมายและการปฏิบัติในฐานะ ก.อ.รมน.และนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องมาตลอด ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ฯได้ใช้นโยบาย 'การทหารนำการเมืองและความยุติธรรม' จากการนำกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงมาใช้พร่ำเพรื่อยาวนานเกินความจำเป็น แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะปฏิเสธเมื่อถูกถาม แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถปฏิเสธได้" เป็นตอนหนึ่งของข้อเขียน พ.ต.อ.ทวี
ขณะที่อีกตอนหนึ่ง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ได้ฉายภาพให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาชายแดนใต้ที่ต้องแก้ไขด้วยการบริหาร การปกครอง ซึ่งก็คือแนวทางทางการเมือง
"สถานการณ์และปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องยอมรับความจริงว่าเกิดจากผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีความเห็นต่างจากรัฐจำนวนหนึ่งที่มีน้อยมากๆ เมื่อเทียบสัดส่วนกับประชาชนคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนด้วย ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากความขัดแย้งที่มีรากเหง้าของปัญหามาจากพื้นฐานบนความสลับซับซ้อน พื้นฐานการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการบริหารและการปกครองที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับความปลอดภัยและความเป็นธรรมบนหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ปัญหาของตนเอง"
"ในกรณีพื้นที่ จชต.ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ และอุดมการณ์ แต่ทุกคนต้องสามารถอยู่ร่วมกันในสังคม 'พหุวัฒนธรรม' ได้อย่างปกติสุขทุกชาติพันธุ์ สามารถมีพื้นที่เข้าถึงอำนาจทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงอย่างเสมอหน้ากัน โดยตระหนักถึงการเคารพให้เกียรติในหลักที่ว่า 'แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง' อย่างแท้จริง"
ส่วนนโยบาย "การทหารนำการเมือง" ที่ พ.ต.อ.ทวี มองว่ารัฐบาลชุดนี้ และชุดก่อนหน้าภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อยู่นั้น จะทำให้ชายแดนใต้เป็น "รัฐซ้อนรัฐ" คือฝ่ายทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีกฎหมายที่ให้อำนาจเต็มกับฝ่ายตัวเองบังคับใช้แบบถาวร ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้มีบรรยากาศแบบนี้
ประเด็นนี้ถือว่าอ่อนไหวอย่างยิ่ง และจะมองว่า "สวนทาง" หรือ "ซ้ำเติมปัญหา" ที่บางฝ่ายเคยมองว่า ยุทธวิธีการต่อสู้ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ก็พยายามสร้าง "รัฐซ้อนรัฐ" อยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งแง่มุมที่ว่านี้ พ.ต.อ.ทวี เพ่งมองด้วยความเข้าใจ
"นโยบายการทหารนำการเมืองที่รัฐใช้ต่อเนื่อง อาจทำให้ประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากผู้นำประเทศและผู้นำทหารมีโอกาสถูกเหมารวมเป็นภัยต่อความมั่นคงได้ ทั้งที่บุคคลทุกคนเป็นพลเมืองไทยที่ร่วมเป็นเจ้าของประเทศด้วยกัน นโยบายนี้จะมีสภาพเป็น 'รัฐซ้อนรัฐ' โดยอ้างคำว่าบูรณาการ แต่ทหารและหน่วยความมั่นคงจะเป็นผู้นำ และมีกฎหมายพิเศษใช้บังคับอยู่เหนือกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั่วไป"
"นอกจากนั้นรัฐยังใช้ทรัพยากรในการบริหารและงบประมาณแผ่นดินทุ่มเทไปเพื่อแก้ปัญหาที่อ้างความมั่นคงของรัฐ (ทหาร) มากกว่ากระจายความสุข กระจายอำนาจ กระจายสิทธิเสรีภาพและทรัพยากรที่เป็นต้นทุนทางสังคม รวมถึงสร้างประโยชน์ให้ประชาชนพลเมืองของประเทศ ฉะนั้นแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ประชาชนจึงต้องมีสิทธิเสรีภาพในการใช้สติปัญญารวมกันอย่างเป็นเอกภาพ และสร้าง 'ความมั่นคงของประชาชน' ให้เกิดขึ้นจริง"
การสร้าง "ความมั่นคงของประชาชน" ซึ่งก็คือ "ความมั่นคงของชาติอย่างแท้จริง" ไม่ได้แอบแฝงความมั่นคงและความอยู่รอดของรัฐบาล ถือเป็นข้อเสนอที่แหลมคม แต่ พ.ต.อ.ทวี ก็ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า "ความมั่นคงของประชาชน" จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อผู้ใช้อำนาจยังเป็นคนเดิม และกำหนดนโยบาย "การทหารนำการเมือง" แบบเดิมๆ
"หากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังใช้นโยบาย 'การทหารนำการเมือง' ต่อไปอีกโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็เชื่อว่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสถานการณ์ในพื้นที่ จชต.ก็คงจะมีสภาพไม่ต่างจากเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา จึงไม่มีความหวังที่จะเกิดสันติภาพและสันติสุขที่แท้จริงในพื้นที่ขึ้นได้"
ปิดท้ายที่ตัวอย่างเหตุการณ์การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งยังคงมีอยู่ และมีทั้งที่เกิดจาก "ผู้ก่อเหตุรุนแรง" และเกิดจากการกระทำของทหารและเจ้าหน้าที่รัฐอื่น เช่น
- เมื่อวันที่ 5 พ.ย. คนร้ายบุกยิงจุดตรวจชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน ที่ตำบลลำพะยา จังหวัดยะลา มีผู้เสียชีวิตจำนวน 15 ศพ เป็นประชาชน 14 ศพ และตำรวจ 1 ศพ หรือ
- เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ทหารใช้อาวุธปืนยิงประชาชนบนภูเขาอาปี เทือกเขาตะเว อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 3 ศพ
ทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นเรื่องสะเทือนขวัญ สร้างความเสียหายกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและภาพพจน์ของประเทศ สื่อมวลชนนำเสนอข่าวไปทั่วประเทศและทั่วโลก
-------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง (ภาพจากเฟซบุ๊ค)
2 ส.ส.ชายแดนใต้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ร่วมอภิปรายในสภา