ควันหลงจากเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 2 ศพที่ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีป้อมชรบ.ที่ลำพะยา จังหวัดยะลา ก็คือการซ่อมบ้านที่เป็นจุดปะทะ
เหตุการณ์ปิดล้อม ตรวจค้น และยิงต่อสู้กันเกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำของวันพฤหัสบดีที่ 21 พ.ย.62 โดยมีบ้านเลขที่ 124/1 หมู่ 1 ตำบลคอลอตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นดั่งสมรภูมิ
ผลที่ตามมานอกจากทำให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงคนสำคัญเสียชีวิต 2 ราย คือ นายมะยะโก๊ะ ลาเต๊ะ และ นายซอบรี หลำโสะ แล้ว สิ่งที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังคือความพังเสียหายของบ้านจากรอยกระสุนและความรุนแรง
รุ่งขึ้นหลังการปะทะ มีการเคลียร์พื้นที่ และหลังจากนั้นเพียง 1 วัน ทหารช่างหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ได้นำกำลังร่วมกับกำลังพลในพื้นที่ และฝ่ายปกตรอง ช่วยกันรื้อซากปรักหักพัง พร้อมซ่อมแซมให้กลับสู่สภาพเดิมทันที มีการรี้อกระเบื้องหลังคาเพื่อเปลี่ยนกระเบื้องใหม่ให้ และเร่งให้แล้วเสร็จก่อนจะดำเนินการซ่อมแซมส่วนอื่นของบ้าน เพื่อให้ทันก่อนมรสุมเข้า
งานซ่อมหนนี้เสร็จสมบูรณ์รวดเร็วจริง เพราะมีการจัดกิจกรรมส่งมอบบ้านให้กับเจ้าของบ้าน เมื่อวันพุธที่ 27 พ.ย. หลังลงมือซ่อมจริงจังเพียง 5 วันเท่านั้น
นางสะตียาเราะห์ แวซู เจ้าของบ้านวัย 62 ปี ยิ้มเปี่ยมสุขตลอดเวลา เพราะนอกจากบ้านจะซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ยังรวบรวมเงินกันซื้อข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านให้ใหม่ทั้งหมด ทั้งทีวี ตู้เสื้อผ้า ตู้กับข้าว ที่นอนหมอนมุ้ง และพัดลม เพื่อทดแทนของเก่าที่เสียหายหักพัง
ในกิจกรรมส่งมอบบ้าน ยังมีตัวแทนแม่ทัพ ฝ่ายกองกำลัง นายอำเภอ ผู้กำกับการ สภ.หนองจิก ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี และชาวบ้านมาร่วมกันเป็นสักขีพยาน โดย นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานกรรมการอิสลามฯ ยังได้นำชาวบ้านในพื้นที่ร่วมละหมาดฮายัดขอพรให้ดินแดนแห่งนี้เกิดความสงบสุขด้วย
"อยากบอกว่าเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้พวกเขา 2 คนต้องเสียชีวิต (นายมะยะโก๊ะ และนายซอบรี) เชื่อว่าคือความประสงค์ของอัลลอฮ์ อยากให้ทุกคนอดทน และช่วยกันสองส่องสิ่งผิดปกติภายในชุมชนเพื่อความสงบสุขของทุกฝ่าย" นายแวดือราแม กล่าว
และว่า วันนี้มาให้กำลังใจทุกคนในฐานะผู้แทนของคนปัตตานี อยากบอกว่าเสียใจ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน เหตุการณ์ที่ผ่านมามันเกิดขึ้นแล้ว เชื่อว่าทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก
ขณะที่ นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหนองจิก บอกว่า การเยียวยาครั้งนี้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม ถ้ามองตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายจริงๆ อาจจะไม่เข้าข่าย เพราะมีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเข้าไปหลบซ่อนในบ้าน เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่จะต้องบังคับการใช้กฎหมาย เนื่องจากเจรจาเกลี้ยกล่อมเป็นเวลานาน แต่ไม่ยินยอม จึงต้องมีการบังคับการใช้กฎหมายตามขั้นตอน
"แต่เราต้องให้ความเป็นธรรม เพราะในบ้านหลังหนึ่ง อาจมีคนไม่รู้เรื่อง มีเด็ก แม่ของเขาอาจไม่รู้ก็ได้ ซึ่งภาพเหล่านี้ ถ้าเราปล่อยทิ้ง อาจเป็นบาดแผล อาจมีการพูดต่อได้ว่ารัฐมาทำลายแล้วก็ไม่รับผิดชอบ มันจะยิ่งเป็นปัญหา เราจึงต้องให้โอกาส อย่างกรณีนี้เราเยียวยาสภาพจิตใจ และเยียวยาทรัพย์สินให้ ส่วน นายดอมัย ลาเตะ เจ้าของนกเขา ที่อยู่ข้างบ้านปะทะ ได้รับผลกระทบจากเหตุปะทะ ทาง ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ก็จะมีการเยียวยาตามหลักเกณฑ์อีกด้วย" นายอำเภอหนองจิก กล่าว
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากมีผู้เสียชีวิต 2 รายตามที่เป็นข่าวแล้ว เจ้าหน้าที่ยังได้เชิญตัวลูกเจ้าของบ้าน คือ นายอับดุลเลาะ โต๊ะรายอ อายุ 27 ปี เข้าสู่กระบวนการซักถาม เพื่อทราบรายละเอียดทั้งหมด แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะถูกดำเนินคดีด้วยหรือไม่
แต่ พ.อ.หาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 บอกว่า เบื้องต้นนายอับดุลเลาะให้การยอมรับสารภาพ ฉะนั้นศาลอาจลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ทางออกคือรอลงอาญา
ส่วนการซ่อมแซมบ้าน พ.อ.หาญพล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
"หลังเกิดเหตุ แม่ทัพภาคที่ 4 ให้งบประมาณมาให้ดูแลช่วยเหลือเยียวยา การซ่อมเป็นการซ่อมคืนสภาพ อันไหนที่เกิดจากการบังคับใช้กฏหมายให้ซ่อมหรือซื้อค้นทั้งหมด อย่างตู้เสื้อผ้า นายซอบรี หลำโสะ หนึ่งในผู้ต้องหาที่เสียชีวิต ได้ใช้ตู้เป็นที่กำบัง และทีวีก็ถูกกระสุน"
"คืนนั้น (21 พ.ย.) เขาจะมาก่อเหตุ เขาไม่ได้มาแค่ 2 คนที่เสียชีวิตในบ้านนี้ เขามากัน 6 คน แต่กระจายหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจากการสอบถาม ทราบว่าคืนนั้น 2 คนนี้กำลังจะออกจากบ้าน รอคนมารับแล้ว ซึ่งถ้าเขาออกไป เขาก็หนีได้ ยืนยันว่าเราใช้กระบวนการทางเทคนิค ชาวบ้านไม่เกี่ยวข้องในการแจ้งข้อมูล เมื่อตรวจสอบชัดว่าเป็นบ้านหลังนี้เจ้าหน้าที่จึงรีบเข้ามา ก็ได้กระจายกำลังล้อมเป้าหมาย เขาก็ยิงด้วยอาวุธปืนจนทำให้เกิดการปะทะ เราจึงกันผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากที่เกิดเหตุ มีการเจรจาจากผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนา 2 ชั่วโมง ไม่สำเร็จ จนเป็นที่มาต้องบังคับใช้กฎหมาย" พ.อ.หาญพล กล่าว
ด้านสุ้มเสียงจากเจ้าของบ้าน แสดงถึงความโล่งใจที่ผ่านเหตุการณ์แห่งความเป็นความตายมาได้
"ตอนนี้รู้สึกสบายใจขึ้น ไม่ติดใจอะไรแล้ว ทหารซื้อของและซ่อมบ้านให้จนดีกว่าเดิม จากเดิมบ้านเก่ากว่านี้ แต่แม่ทัพมาทาสีให้จนสวยงาม ที่ยังกังวลคือลูกชาย ไม่รู้เจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างไรบ้าง ยังไม่รู้เลยว่าเขาจะเอาอย่างไร ก็เป็นห่วงเขา เพราะเขาไม่รู้เรื่องจริงๆ" นางสะตียาเราะห์ กล่าว
หญิงชราเจ้าของบ้านยังเล่าด้วยว่า "คืนก่อนเกิดเหตุ 5 ทุ่ม 2 คนนั้นมาที่บ้าน มาอย่างไรก็ไม่รู้ มารู้อีกที อับดุเลาะมาบอกว่า พวกเขา 2 คนจะมาขออยู่ที่นี่ ก็เลยบอกอับดุลเลาะว่า พ่อเราเพิ่งเสีย เรายังอยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยสบายใจ จึงไม่ดีถ้าจะมีคนนอกมาอยู่ด้วย พออับดุลเลาะไปบอกเขา พวกเขา 2 คนบอกขออยู่แค่คืนเดียว และคืนเกิดเหตุ ก็มีคนมารอรับ เขากำลังจะออกไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่มาก่อน เขาก็ตายในบ้าน"
นางย้ำอีกครั้งว่า ลูกชายไม่รู้จักคนที่มาขอพักด้วยจริงๆ
"ลูกยังบอกให้แม่ลองย่องไปดูว่าเขาทั้งสองคนเป็นใคร เผื่อแม่จะเคยเห็น แต่แม่บอกลูกว่าแม่ไม่อยากยุ่งกับคนแปลกหน้า เพราะแม่ยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติตามกฎสงวนตัวหลังสามีเสียชีวิตตามที่ศาสนาบัญญัติ ถ้าไปพบเจอใครที่เป็นผู้ชายจะเป็นบาปได้ และแม่เองไม่ได้ไปยุ่งหาข้าวปลาอาหารให้ จึงไม่รู้ว่าเขาหาอะไรทานบ้าง น่าสงสารลูกชาย เพราะไม่ได้อยู่บ้านทั้งวัน กลัวคนแปลกหน้าที่มาขออาศัย ทำให้ลูกชายไปพักอยู่บริเวณสำนักงาน อบต.กับเพื่อนในหมู่บ้านแทน จนกระทั่งตกค่ำ จึงเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เข้ามาปิดล้อมบ้าน แล้วมีเสียงปืนชุดแรกดังขึ้น"
"ตอนนั้นแม่อยู่กับหลาน จึงรีบคว้าหลานให้หมอบชิดกับพื้นห้องนอน แม่ตกใจหวาดผวา ใจสั่นไปหมด โชคดีลูกชายอีกคคนที่กำลังซ่อมรถจักรยานยนต์หน้าบ้านรีบขึ้นไปคว้าแม่พร้อมหลานลงจากบ้าน ออกไปข้างนอกบ้านทัน เมื่อออกมาถึงถนนดำ (ถนนลาดยาง) ก็มีน้องทหารพรานหญิงวิ่งมารับตัวตามที่ปรากฏในภาพข่าว จึงอยากขอความเป็นธรรมกับแม่และลูกชายของแม่ด้วย แม่ไม่ได้รู้เห็นกับบุคคลที่ขอมาพักอาศัย เราก็ปฏิเสธแล้ว แต่เขาไม่ยอมไป แม่เองก็กลัวความปลอดภัยจึงได้แต่เก็บเงียบ" นางสะตียาเราะห์ กล่าว
ขณะที่ นายดอมัย ลาเตะ เจ้าของนกเขา ที่อยู่ข้างบ้านปะทะ และได้รับผลกระทบจากเหตุปะทะ เล่าว่า เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ แต่เราได้รับความเดือดร้อน นกราคา 2 แสนบาท 3 ตัว ราคา 1 แสนบาทอีก 5 ตัว ไม่ร้องเลยหลังจากเกิดเหตุ เพราะเสียงปืนดังมาก และมีการใช้แก๊สน้ำตา ทำให้นกตายทันที 3 ตัว และตอนนี้นกที่ตกใจก็ตายหลายตัว ก็ไม่รู้ว่ารัฐจะดูแลอย่างไร
เรื่องราวการซ่อมแซมบ้าน และส่งมอบบ้านหลังการซ่อมให้กับเจ้าของ รวมทั้งการรับปากเยียวยาความเสียหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีหลังม่านหมอกแห่งความรุนแรงและความสะพรึงกลัวผ่านพ้น
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังตกค้างเป็นร่องรอยให้ระลึกถึงก็คือ...การเลือกใช้ความรุนแรงก่อผลสะเทือนในวงกว้างอย่างแทัจริง ทั้งทรัพย์สิน และจิตใจ และชีวิตคน...
-------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
วิสามัญฯ 2 ศพที่หนองจิก สงสัยโยงโจมตีป้อมลำพะยา
"ซอบรี หลำโสะ" สิ้นชื่อ! จากเหตุปะทะหนองจิก
เปิดข้อมูลคดี "ซอบรี หลำโสะ" - ชาวบ้านยอมรับ "เขาอยู่ในขบวนการ แต่..."