เหตุคนร้ายลอบวางระเบิดรางรถไฟ ใกล้กับสถานีรถไฟโต๊ะเด็ง ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส จนทำให้รางรถไฟได้รับความเสียหายยาวประมาณ 1 เมตรนั้น ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง เพราะมีทั้งรถไฟสายยาวและสายท้องถิ่นหลายขบวนต้องเดินรถผ่านจุดนี้
นายอาลาวี อุมาร์ นายสถานีรถไฟสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการเดินรถในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยรถไฟขบวนรถด่วนและรถเร็วกรุงเทพฯ-สุไหงโกลก จะให้บริการสิ้นสุดปลายทางที่สถานีรถไฟตันหยงมัส จากนั้นจะมีรถรับผู้โดยสารไปส่งยังสถานีปลายทางสุไหงโกลก ขณะที่ผู้โดยสารที่มีความประสงค์จะเดินทางด้วยรถด่วนและรถเร็วขบวนสุไหงโกลก-กรุงเทพฯ จะมีรถให้บริการไปส่งที่สถานีรถไฟตันหยงมัส แต่หากต้องการยกเลิกการเดินทางและคืนตั๋วโดยสาร ก็จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน
"ได้อำนวยความสะดวกในการจัดรถตู้ไปส่งที่สถานีรถไฟตันหยังมัส หากผู้โดยสารท่านใดที่ต้องการยกเลิกการเดินทาง สามารถคืนตั๋วพร้อมรับเงินคืนเต็มจำนวนที่สถานีรถไฟใกล้บ้าน" นายอาลาวี กล่าว
และว่าส่วนขบวนท้องถิ่นทุกขบวน ยกเว้นขบวนสุไหงโกลก-สุราษฎร์ธานี จะให้บริการจากต้นทางสถานีรถไฟตันหยงมัส โดยไม่มีขบวนใดออกจากสถานีรถไฟสุไหงโกลก จนกว่าจะมีการซ่อมบำรุงทางและประกาศเปิดเดินรถตามปกติ
สำหรับเหตุระเบิดครั้งนี้ แม้จะไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ในภาพรวมถือว่าส่งผลกระทบให้กับประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่เดินทางโดยใช้รถไฟ เพราะไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง เช่น ในขบวนรถท้องถิ่นสุไหงโกลก-สุราษฎร์ธานี บนขบวนรถมีพ่อค้าแม่ค้าพร้อมสินค้ามากมายที่เตรียมนำไปส่งขายในพื้นที่ต่างๆ ขณะที่นักเรียนนักศึกษาที่นั่งรถไฟ เพราะเรียนในสถานศึกษาต่างพื้นที่ ก็ไปเรียนไม่ทัน เพราะขบวนรถไฟต้องถอยกลับที่ตั้ง จากเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น และยังไม่มีกำหนดว่าจะเปิดให้บริการเดินรถอีกครั้งเมื่อใด
พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ได้ประสานกับศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค 4 ร.ฟ.ท. ทราบว่า การซ่อมรางรถไฟที่ได้รับความเสียหายจะเร่งดำเนินการโดยด่วน เพื่อให้ประชาชนที่ใช้บริการรถไฟสามารถกลับมาใช้บริการได้โดยเร็วที่สุด
สำหรับผู้โดยสารที่รับผลกระทบ ศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค 4 ได้นำรถบัสมารับผู้โดยสารที่ตกค้างจากสถานีตันหยงมัส ไปส่งยังสถานีปลายทางของผู้โดยสารคนนั้นๆ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนและประชาชนที่เดินทางไปโรงเรียนและไปจ่ายตลาดในช่วงเช้า ตลอดจนช่วงเย็นหลังเลิกเรียน
ขณะที่ "บิ๊กเดฟ" พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจพิสูจน์และเก็บกู้วัตถุระเบิดที่อาจหลงเหลืออยู่ด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันการลวงและวางระเบิดซ้ำของผู้ก่อเหตุรุนแรง รวมทั้งให้รักษาความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเดินรถภาค 4 ในการซ่อมแซมรางรถไฟที่ได้รับความเสียหายจนกว่าจะแล้วเสร็จ
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เหตุระเบิดเกิดเมื่อเวลา 05.55 น. ของวันพุธที่ 27 พ.ย.62 จากการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้น เชื่อว่าเกิดจากฝีมือของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังสร้างสถานการณ์ในพื้นที่
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีข้อสั่งการให้สถานีตำรวจที่ชายแดนใต้เพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวังและการป้องกันเหตุความไม่สงบในพื้นที่โดยรอบของสถานีตำรวจและหน่วยราชการต่างๆ รวมไปถึงให้เพิ่มความเข้มงวดการตรวจตราสถานที่ต่างๆ เช่น แหล่งชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว หรือสถานที่สำคัญที่อาจเป็นเป้าหมาย เพื่อป้องกันการเกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้อีก ตลอดจนเพิ่มมาตรการเข้มทั้งจุดตรวจ จุดสกัด ในการตรวจค้นรถทุกชนิดและบุคคลเป้าหมายตามเส้นทางหลักและเส้นทางรอง จัดชุดลาดตระเวนในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจ และชุมชน โดยเน้นย้ำว่าหากเกิดเหตุขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเร่งสืบสวนสอบสวนขยายผลจับกุมผู้ก่อเหตุได้ทันท่วงที เพื่อสร้างความมั่นใจและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ประชาชน นักท่องเที่ยว และนักลงทุนในพื้นที่ และขอความร่วมมือประชาชนในการช่วยเป็นหูเป็นตา สังเกตบุคคล วัตถุต้องสงสัย หรือวัตถุที่ไม่มีเจ้าของอยู่ผิดที่ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที หรือโทรศัพท์แจ้งเหตุร้ายเหตุด่วน ที่หมายเลข 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับเหตุโจมตีรถไฟ หรือลอบวางระเบิดรางรถไฟ เกิดขึ้นมาแล้วกว่าร้อยครั้งตลอด 15 ปีไฟใต้ โดยความสูญเสียของเจ้าหน้าที่รถไฟ ถูกจัดเป็นหมวดหมู่หนึ่งของการทำสถิติความสูญเสียของกลุ่มอาชีพต่างๆ จากเหตุการณ์ความไม่สงบ สะท้อนว่ามีความสูญเสียเกิดขึ้นไม่น้อยเลย โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 61 มีเจ้าหน้าที่รถไฟเสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 42 ราย
เส้นทางรถไฟสายชายแดนใต้จากชุมทางหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ถึง อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร มีสถานี 27 สถานี มีจุดล่อแหลมหรือจุดเสี่ยงรวมทั้งสิ้น 12 จุด ส่วนใหญ่เป็นช่วงจากสถานียะลาถึงสถานีสุไหงโกลก (ผ่าน อำเภอรือเสาะ เจาะไอร้อง ระแงะ สุไหงปาดี) เพราะเป็นพื้นที่ป่าเขา มีเนินสูง ยากแก่การป้องกัน
จากการเก็บสถิติของ ร.ฟ.ท. พบว่า ช่วงเวลาที่เกิดเหตุรุนแรงกับรถไฟ หรืออาจเรียกว่าเป็นช่วงเสี่ยงเกิดเหตุมากที่สุดคือช่วงเช้าตรู่ เพราะมีรถให้บริการหลายขบวน เหตุการณ์ที่พบบ่อยที่สุดคือการลอบถอดหมุดรางรถไฟ ส่วนการก่อเหตุรูปแบบอื่นๆ ก็เช่น วางระเบิดราง ใช้อาวุธปืนยิงขบวนรถไฟ และยิงเจ้าหน้าที่บนรถไฟ รวมเหตุร้ายทุกรูปที่เกิดกับรถไฟตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันมากกว่า 100 ครั้ง!
ปัจจุบันมีรถไฟให้บริการระหว่างสถานีชุมทางหาดใหญ่ถึงสถานีสุไหงโกลกทั้งขาขึ้นและขาล่องรวมทั้งสิ้น 22 ขบวน เป็นขบวนรถท้องถิ่น 14 ขบวน
----------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : บึ้มรางรถไฟสุไหงปาดี - ม้าเหล็กอัมพาต!